ธาตุไอโอดีน (Iodine, I)

ไอโอดีนเป็นธาตุอโลหะกลุ่มฮาโลเจนที่หนักที่สุด มีจุดหลอมเหลวที่ 113.7°C และจุดเดือดที่ 184.3°C ชื่อของไอโอดีนมาจากคำว่า "iodes" ในภาษากรีก แปลว่า สีม่วง เนื่องจากมันเป็นของแข็งสีม่วงดำที่อุณหภูมิห้อง หากระเหยเป็นก๊าซก็จะมีสีม่วง ธาตุไอโอดีนบริสุทธิ์มักอยู่เป็นคู่ (I2) เมื่อจับต้องจะระคายผิวหนังมาก ไอโอไดด์ (I-) เป็นอิออนของไอโอดีนที่มักรวมกับธาตุโซเดียม โพแทสเซียม ฟลูออไรด์ เป็นสารละลายของเกลือในน้ำทะเล บนผิวดินพบธาตุไอโดดีนน้อยมาก

นักวิทยาศาสตร์พบว่า ปริมาณไอโอดีนในชั้นบรรยากาศช่วยให้ชั้นโอโซนของโลกความเสถียรมากขึ้น และช่วยคงสมดุลของไอโอดีนในมหาสมุทรและในดิน นอกจากนั้นความเข้มข้นของไอโอดีนในบรรยากาศยังมีผลต่อปฏิกิริยาที่เกิดจากออกซิเจนในวงกว้าง ในพืชไอโดดีนสามารถช่วยให้พืชทนต่อสภาพดินเค็มได้นานขึ้น น่าเสียดายที่บทบาทของไอโอดีนเหล่านี้ยังไม่ได้มีการศึกษาถึงผลต่อสุขภาพของมนุษย์มากนัก เท่าที่ทราบกันมานานคือ ไอโดดีนเป็นองค์ประกอบสำคัญของฮอร์โมนไทรอยด์ ร่างกายสร้างฮอร์โมนนี้จากกรดอะมิโนไทโรซีน (Tyrosine) และไอโอดีน โดยอาศัยเอนไซม์ที่มีซีลีเนียมเป็นองค์ประกอบ หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งร่างกายจะสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ไม่ได้

หน่วยวัดปริมาณไอโดดีน

ในอาหารเราวัดเป็นมิลลิกรัม (mg) หรือไมโครกรัม (mcg) ในเลือดและปัสสาวะเราวัดเป็นไมโครกรัม/ลิตร (mcg/L)

บทบาทของธาตุไอโอดีนในร่างกาย

บทบาทหลักของไอโอดีนก็คือหน้าที่ของฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย ซึ่งได้แก่

  1. ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต
  2. ช่วยในด้านการเรียนรู้และพัฒนาการ
  3. เร่งอัตราการเผาผลาญและอัตราการเต้นของหัวใจ
  4. เร่งการสลายไขมันและไกลโคเจน เพิ่มพลังงานและอุณหภูมิของร่างกาย
  5. เพิ่มการตอบสนองของระบบประสาทซิมพาเธทิก

ช่วงชีวิตที่กำลังมีการพัฒนาสมอง ตั้งแต่ตัวอ่อนอายุ 8 สัปดาห์จนถึงวัย 3 ขวบแรกต้องการฮอร์โมนไทรอยด์อย่างมาก หากมารดาไม่ได้รับไอโอดีนเพียงพอก็ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนไทรอยด์พอส่งให้ลูกน้อยในครรภ์ สมองของตัวอ่อนในครรภ์จะเสียหาย ลูกที่ออกมาจะเป็นโรคเอ๋อ แต่ถ้าขาดไอโอดีนรุนแรงอาจจะแท้งหรือลูกออกมาพิการได้

บทบาทอื่นของไอโอดีนจะเกี่ยวข้องในแง่สนับสนุนการทำงานโดยรวมของร่างกาย ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดการเกิด mammary dysplasia และ fibrocystic disease ของเต้านม

แหล่งอาหารที่มีธาตุไอโอดีนสูง

แหล่งของธาตุไอโอดีนคืออาหารทะเลและเกลือไอโอดีน (เกลืออนามัย) โดยเกลือไอโอดีน 1 กรัมจะมีไอโอดีนเฉลี่ย 47.5 ไมโครกรัม ในบางประเทศจะเติมไอโอดีนลงในแป้งทำอาหารและเครื่องดื่มด้วย กรมอนามัยแนะนำให้คนทั่วไปรับประทานไอโอดีนวันละ 150 ไมโครกรัม ในสตรีมีครรภ์รับประทานวันละ 220 ไมโครกรัม หญิงที่ให้นมบุตรควรรับประทานวันละ 290 ไมโครกรัม

ธาตุไอโอดีนที่จะดูดซึมผ่านทางเดินอาหารต้องถูกรีดิส์ให้เป็นไอโอไดด์ก่อน ไอโอไดด์ดูดซึมเข้าทางกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัมได้อย่างรวดเร็วและเกือบ 100% แต่กว่า 90% ก็ถูกขับทิ้งทางปัสสาวะหมดใน 1-2 วันเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องรับประทานไอโอดีนเข้าไปใหม่ทุกวัน

ในร่างกายเรามีธาตุไอโอดีนประมาณ 15-20 mg โดย 70-80% ของจำนวนนี้อยู่ในต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์ใช้ไอโอดีนสร้างฮอร์โมนวันละประมาณ 80 ไมโครกรัม เราสามารถตรวจสอบความเพียงพอของไอโอดีนในร่างกายเราได้จากความเข้มข้นของไอโอดีนในปัสสาวะ (spot urine iodine) ถ้า ≥ 100 mcg/L ถือว่ารับประทานเพียงพอ (ในหญิงตั้งครรภ์ต้อง ≥ 150 mcg/L)

ภาวะขาดธาตุไอโอดีน

การขาดธาตุไอโอดีนทำให้เป็นโรคคอพอก (Goiter) เกิดจากต่อมไทรอยด์ถูกกระตุ้นให้สร้างฮอร์โมนอยู่ตลอดเวลาโดยที่ต่อมสร้างได้ไม่พอเพราะขาดปัจจัยการผลิต อาการคือมีต่อมไทรอยด์โตอยู่ด้านหน้าของคอ แต่ยังไม่มีอาการถึงขั้นขาดฮอร์โมนไทรอยด์ยกเว้นได้ไอโอดีน < 10-20 mcg/วัน โรคนี้ต่างจากโรคต่อมไทรอยด์ไม่ทำงาน (Hypothyroidism, ในเด็กเรียก Cretinism) ตรงที่โรคต่อมไทรอยด์ไม่ทำงานจะไม่มีคอโต (เพราะต่อมไม่ทำงานเลย) แต่จะมีอาการของการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ คือจะขี้หนาว ชีพจรเต้นช้า ตัวบวมฉุ ง่วงเหงาหาวนอน ท้องผูก ไร้อารมณ์ ไร้ความคิดริเริ่ม ในเด็กจะปัญญาอ่อน หูหนวก แขนขาเกร็ง

อาการของโรคคอพอกและอาการของโรคต่อมไทรอยด์ไม่ทำงาน พบร่วมกันได้ในภาวะขาดซีลีเนียม เพราะขบวนการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ต้องใช้ซีลีโนเอนไซม์ การขาดซีลีเนียมก็ทำให้ต่อมทำงานไม่ได้เช่นกัน แต่ภาวะขาดซีลีเนียมจะมีการตายของกระดูกอ่อนรอบข้อด้วย ทำให้ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ข้อฝืด ข้อติด ข้อนิ้วมือบวม และสุดท้ายข้อจะเสื่อมก่อนวัย

ในสมัยก่อนพบโรคคอพอกตามพื้นที่ที่ห่างไกลจากทะเล แต่ปัจจุบันพบโรคนี้น้อยลงมาก เพราะมีการรณรงค์เติมไอโอดีนลงในเกลือที่ใช้ปรุงอาหาร

กลุ่มเสี่ยงของโรคคอพอก คือ

  • คนในพื้นที่ห่างไกลจากทะเลที่ไม่ค่อยได้รับประทานอาหารทะเลและไม่ได้ใช้เกลืออนามัย
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรที่ขาดอาหาร
  • ทารกที่ดื่มนมมารดาที่ขาดธาตุไอโอดีน
  • ผู้ป่วยที่ได้รับยาที่ยับยั้งการดูดซึมธาตุไอโอดีนจากทางเดินอาหารเป็นเวลานาน เช่น Lithium, Phenylbutazone
  • คนที่รับประทานธาตุไอโอดีนน้อยร่วมกับได้สาร goitrogens มากเกินไป goitrogens คือสารที่ยับยั้งการดูดซึมไอโอดีนเข้าต่อมไทรอยด์ ซึ่งได้แก่ สาร linamarin ในมันสำปะหลัง, สาร cyanide ในบุหรี่, สาร thiocyanate ในข้าวฟ่าง มันเทศ ถั่วลิสง กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ หัวหอม กระเทียม, สาร isoflavones genistein และ daidzein ในถั่วเหลือง, สารพิษจากอุตสาหกรรม เช่น Perchlorate Resorcinol และกรด Phthalic สารเหล่านี้แม้จะรับเข้าไปแต่ร่างกายมีธาตุไอโอดีนเพียงพอก็จะไม่ก่อให้เกิดโรคคอพอก
  • ผู้ที่เป็นโรคทางเดินอาหารที่ทำให้การดูดซึมอาหารเสียไป เช่น Celiac disease, Atrophic gastritis, Ulcerative colitis, Crohn's disease, ผู้ที่ได้รับการตัดกระเพาะหรือลำไส้ทิ้ง

โรคคอพอกในระยะยาวจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งของต่อมไทรอยด์

การวินิจฉัยอาศัยประวัติ อาการแสดง ระดับไอโอดีนในปัสสาวะ < 100 mcg/L และ Thyroid function test ที่มี TSH สูง ± T3 และ Free T4 ต่ำ อาจตรวจ Radioactive Iodine Uptake โดยใช้ I123 จะพบการ uptake ที่สูงขึ้นมากหากขาดไอโอดีน

การรักษาจะให้ไอโอดีนขนาด 150 mcg/วัน (ในทารกใช้ 50-90 mcg/วัน ในเด็กใช้ 90-120 mcg/วัน ในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตรใช้ 250 mcg/วัน) และฮอร์โมนไทรอยด์ (levothyroxine) ขนาด 25-150 mcg/วัน โดยติดตามค่า serum TSH ถ้าลงมาปกติเมื่อไหร่ก็ให้ลดขนาดหรือหยุดฮอร์โมนไทรอยด์ ส่วนปริมาณไอโอดีนในร่างกายให้ดูที่ระดับไอโอดีนในปัสสาวะ ควร > 100 mcg/L

* การให้ไอโอดีนหรือฮอร์โมนไทรอยด์ชดเชยไม่สามารถแก้ไขความผิดปกติทางระบบประสาทในเด็กได้

พิษของธาตุไอโอดีน

พิษของธาตุไอโอดีนพบน้อยมาก มักพบได้ในรายที่รับประทานไอโอดีน > 1100 mcg/วัน โดยจะมีอาการขมปาก น้ำลายมาก สิวขึ้น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ส่วนใหญ่ระดับ Thyroid function test จะยังปกติ ยกเว้นบางรายที่ต่อมเอาไอโอดีนไปสร้างฮอร์โมนหมด จะเกิดภาวะ hyperthyroidism เรียกว่า Jod-Basedow phenomenon และบางคนที่ต่อมถูกไอโอดีนที่มากเกินไปยับยั้งการสร้างฮอร์โมนจนเกิดคอพอกและภาวะ hypothyroidism เรียกว่า Wolff-Chaikoff effect ดังนั้น พิษของไอโอดีนจึงไม่สามารถบอกได้จาก Thyroid function test

การวินิจฉัยอาศัยการตรวจไอโอดีนในปัสสาวะ ถ้า > 300 mcg/L (ในคนท้อง > 500 mcg/L) ถือว่าได้รับไอโอดีนมากเกินไป และถ้ามีอาการข้างต้นแสดงว่าเริ่มเกิดพิษของไอโอดีนแล้ว

ยังไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับพิษของไอโอดีน ทำได้เพียงหยุดรับประทานไอโอดีนไปสักพัก รอให้ร่างกายเราขับไอโอดีนส่วนเกินทิ้งเองทางปัสสาวะ

บรรณานุกรม

  1. "Iodine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (13 เมษายน 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Iodine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (13 เมษายน 2563).
  5. "Iodine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (13 เมษายน 2563).
  6. "iodine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (13 เมษายน 2563).
  7. "10.1 Iodine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (13 เมษายน 2563).
  8. "10.11 Thyroid Hormone." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (13 เมษายน 2563).
  9. "- Elements - 35: IODINE." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา apjcn.nhri.org.tw. (13 เมษายน 2563).
  10. "Iodine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (13 เมษายน 2563).
  11. Larry E. Johnson. 2018. "Iodine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (13 เมษายน 2563).
  12. Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Iodine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (13 เมษายน 2563).