โมลิบดีนัม (Molybdenum, Mo)

โมลิบดีนัมเป็นธาตุโลหะที่มีมวลค่อนข้างใหญ่ มีจุดหลอมเหลวสูงถึง 2623 °C จึงมักใช้ทำโลหะผสมหรืออัลลอยเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าโมลิบดีนัมที่มีอยู่มากมายทั้งในดินและในมหาสมุทรในปัจจุบันลดลงกว่าในโลกยุคก่อนมาก โมลิบดีนัมเป็นธาตุที่จำเป็นสำหรับพืชและแบคทีเรียด้วย พืชใช้โมลิบดีนัมในขบวนการตรึงไนโตรเจน (nitrogen fixation) แบคทีเรียใช้โมลิบดีนัมช่วยเปลี่ยนก๊าซไนโตรเจนให้เป็นรูปที่คนและสัตว์ใช้งานได้ สันนิษฐานว่าการลดลงของโมลิบดีนัมในมหาสมุทรเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พืชน้ำ แบคทีเรีย และสัตว์น้ำลดจำนวนลงมาก

หน่วยวัดปริมาณโมลิบดีนัม

ในอาหารเราวัดเป็นไมโครกรัม (mcg) ในน้ำวัดเป็น ไมโครกรัม/ลิตร (mcg/L) ในเลือดเราวัดเป็นนาโนกรัม/มิลลิลิตร (ng/mL)

บทบาทของโมลิบดีนัมในร่างกาย

โมลิบดีนัมเป็นส่วนหนึ่งของ Molybdopterin ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมของเอนไซม์และโปรตีนสำคัญ 4 ตัว ได้แก่

  1. Sulfite oxidase ทำหน้าที่เปลี่ยน sulfite เป็น sulfate ก่อนที่จะถูกนำไปสร้างกรดอะมิโน methionine และ cysteine
  2. Xanthine oxidase ทำหน้าที่สลายนิวคลีโอไทด์เป็นกรดยูริก ซึ่งเป็นแหล่งสร้างสารต้านอนุมูลอิสระในเลือด
  3. Aldehyde oxidase ทำหน้าที่ร่วมกับ Xanthine oxidase ในปฏิกิริยา hydroxylation ของสารต่าง ๆ รวมทั้งยาและสารพิษที่เข้ามาในร่างกาย
  4. Mitochondrial amidoxime reducing component (mARC) เป็นโปรตีนที่ช่วยไมโตคอนเดรียผลิตพลังงาน

ดังนั้นโมลิบดีนัมจึงเกี่ยวข้องกับการสร้างกรดอะมิโน ต้านอนุมูลอิสระ กำจัดสารพิษ และผลิตพลังงานในไมโตคอนเดรีย

แหล่งอาหารที่มีโมลิบดีนัมสูง

โมลิบดีนัมมีมากในพืช โดยเฉพาะถั่วและธัญพืช ผลไม้ที่มีมากคือกล้วย ส่วนเนื้อสัตว์มีมากในตับ กรมอนามัยแนะนำให้คนไทยรับประทานโมลิบดีนัมเพียงวันละ 45 ไมโครกรัม

โมลิบดีนัมในอาหารดูดซึมได้ 40-100% เมื่อถูกสร้างเป็น Molybdopterin แล้วจะถูกเก็บไว้ที่ตับ ไต ต่อมหมวกไต และกระดูก โมลิบดีนัมส่วนเกินจากที่ร่างกายต้องการจะถูกขับออกทางไตอย่างช้า ๆ ในเวลา 5 วัน

ระดับโมลิบดีนัมในซีรั่มปกติคือ 0.3-2.0 ng/mL ในเลือด (whole blood) จะสูงกว่าคือ 0.6-4.0 ng/mL ระดับในปัสสาวะโดยเฉลี่ย 69 ng/mL ทั้งระดับในเลือดและในปัสสาวะไม่สามารถวินิจฉัยภาวะขาดโมลิบดีนัมหรือพิษของโมลิบดีนัมได้

ภาวะขาดโมลิบดีนัม

ภาวะขาดโมลิบดีนัมพบน้อยมาก และไม่เคยพบในคนปกติที่รับประทานอาหารได้เอง เท่าที่พบมี 2 แบบ คือ

  1. แบบที่เป็นจากพันธุกรรมผิดปกติ ไม่สามารถสร้าง Molybdopterin ได้ เอนไซม์ที่ต้องพึ่งโมลิดีนัมจึงไม่สามารถทำงานได้ ทำให้มี sulfite, hypoxanthine, xanthine คั่งในเลือด แต่ระดับกรดยูริกและซัลเฟตในเลือดต่ำมาก ผู้ป่วยจะแสดงอาการตั้งแต่วันแรกที่คลอด โดยจะชักไม่หยุด มีเลนส์ตาขุ่น ปัญญาอ่อนรุนแรง ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน
  2. แบบที่เป็นจากการขาดอาหาร พบรายเดียวที่เป็นโรค Crohn's disease แล้วได้รับอาหารทางหลอดเลือดที่ไม่มีโมลิบดีนัมเป็นเวลานาน ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ ตามองไม่เห็นตอนกลางคืน และโคม่าในที่สุด แต่เมื่อหาสาเหตุพบและเติมโมลิบดีนัมลงในอาหาร ผู้ป่วยก็ฟื้นกลับมาปกติ [4]

โมลิบดีนัมในอาหารเสริมมีหลายรูป เช่น ammonium molybdate, molybdenum chloride, sodium molybdate, molybdenum glycinate, และโมลิบดีนัมที่ตรึงกับกรดอะมิโน แต่ไม่แนะนำให้ซื้อรับประทานเอง เพราะอาจเกิดพิษของโมลิบดีนัมได้

พิษของโมลิบดีนัม

พิษของโมลิบดีนัมทำให้กรดยูริกและ ceruloplasmin ในเลือดสูงขึ้น เกิดอาการคล้ายโรคเกาท์ (ปวดข้อ ข้ออักเสบเฉียบพลัน) ปวดท้อง ตับอักเสบ ไตเสื่อม บางรายมีอาการของโรคจิตเฉียบพลัน คลุ้มคลั่ง ประสาทหลอน เสียการเรียนรู้ และชัก เท่าที่พบมีรายงานในคนงานเหมืองแร่โมลิบดีนัม และพวกที่รับประทานโมลิบดีนัมเสริมอาหารในขนาดตั้งแต่ 300 ไมโครกรัม/วัน ขึ้นไป

การวินิจฉัยอาศัยประวัติการสัมผัสสารและอาการแสดงเป็นหลัก ระดับโมลิบดีนัมในเลือด (whole blood) ที่ > 1.2 ng/mL เป็นตัวช่วยสนับสนุน

ในสัตว์ทดลองพบว่า พิษของโมลิบดีนัมสามารถรักษาได้ด้วยการให้ทองแดง (copper) เพราะโมลิบดีนัมจับทองแดงในทางเดินอาหารไม่ให้ดูดซึม และยังเพิ่มการขับทองแดงออกทางปัสสาวะ สัตว์จึงขาดทองแดง การให้ทองแดงจึงช่วยให้อาการทุกอย่างดีขึ้น แต่การศึกษาในคนยังไม่ยืนยันวิธีนี้และยังไม่มีวิธีการรักษาจำเพาะสำหรับพิษของโมลิบดีนัม

ในทางกลับกัน โรควิลสันที่เกิดพิษของทองแดงสามารถใช้ tetrathiomolybdate ช่วยจับทองแดงในกระแสเลือดและเพิ่มการขับออกทางปัสสาวะได้

คล้ายกับว่าในร่างกายของสิ่งมีชีวิตต้องมีปริมาณทองแดงและโมลิบดีนัมอย่างเป็นสัดส่วนกัน ร่างกายจึงจะสมดุล แต่ความเกี่ยวพันระหว่างธาตุทั้งสองยังต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก

บรรณานุกรม

  1. "Other trace elements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (7 เมษายน 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Molybdenum." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (7 เมษายน 2563).
  5. "Molybdenum." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (7 เมษายน 2563).
  6. "molybdenum." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (7 เมษายน 2563).
  7. "- Elements - 41: MOLYBDENUM." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา apjcn.nhri.org.tw. (7 เมษายน 2563).
  8. "Molybdenum." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (7 เมษายน 2563).
  9. "Molybdenum." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา ClinLab Navigator. (9 เมษายน 2563).
  10. Larry E. Johnson. 2018. "Molybdenum." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (7 เมษายน 2563).
  11. "Molybdenum - Mo." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา LENNTECH (7 เมษายน 2563).
  12. Traci Pedersen. 2018. "Facts About Molybdenum." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Live Science. (8 เมษายน 2563).