การตรวจสุขภาพทารกวัย 0-6 เดือน
(Early Infant Check-up)

การนัดตรวจสุขภาพเด็กอ่อนหลังคลอดวัยนี้ จะเป็นการสอบถามปัญหาหรือความกังวลเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว บทบาทและความรับผิดชอบของพ่อแม่ สัมพันธภาพและเศรษฐานะในครอบครัว คัดกรองภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของแม่ ตรวจสอบการเจริญเติบโต พัฒนาการ และพฤติกรรมของเด็ก รวมทั้งตอบถามเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งอาจมีความขัดแย้งกันในแต่ละแหล่ง นอกจากนั้นยังเน้นการฉีดวัคซีนตามกำหนด

อายุ 1 เดือน

  1. ประเมินการเจริญเติบโด โดยชั่งน้ำหนัก วัดความยาว วัดเส้นรอบศีรษะ แล้วบันทึกลงในกราฟ ประเมินตามเกณฑ์อายุและเพศ
  2. ตรวจร่างกายตามระบบ โดยแพทย์จะฟังเสียงหัวใจ ตรวจตาเพื่อดูการสะท้อนแสงจากจอประสาทตา (red reflex) ตรวจสอบว่าแก้วตาขุ่นหรือไม่ ตรวจการได้ยินด้วยอุปกรณ์ OAE หรือ automated ABR หากพบความผิดปกติจะส่งต่อแพทย์ด้านโสต ศอ นาสิก เพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัย
  3. ประเมินสีอุจจาระ เพื่อคัดกรองภาวะท่อน้ำดีตีบตัน (biliary atresia)
  4. ติดตามพัฒนาการ เด็กวัย 0-1 เดือน ควรทำสิ่งเหล่านี้ได้
  5. รับวัคซีน ป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เข็มที่ 2

อายุ 2 เดือน

  1. ประเมินการเจริญเติบโด โดยชั่งน้ำหนัก วัดความยาว วัดเส้นรอบศีรษะ แล้วบันทึกลงในกราฟ ประเมินตามเกณฑ์อายุและเพศ
  2. ตรวจร่างกายตามระบบ เช่นเดียวกับเมื่ออายุ 1 เดือน
  3. ติดตามพัฒนาการ เด็กวัย 1-2 เดือน ควรทำสิ่งเหล่านี้ได้
  4. รับวัคซีนป้องกัน

อายุ 4 เดือน

  1. ประเมินการเจริญเติบโด โดยชั่งน้ำหนัก วัดความยาว วัดเส้นรอบศีรษะ แล้วบันทึกลงในกราฟ ประเมินตามเกณฑ์อายุและเพศ
  2. ตรวจร่างกายตามระบบ เด็กวัยนี้ควรเริ่มตรวจภาวะตาเหล่ (strabismus) ด้วย light reflex, ตรวจ ข้อสะโพกเพื่อคัดกรองภาวะข้อสะโพกหลุด, ตรวจช่องท้องเพื่อหาความผิดปกติ เช่น ก้อนในช่องท้อง, ตรวจ อวัยวะเพศโดยเฉพาะภาวะอัณฑะไม่เลื่อนลงถุงอัณฑะและ phimosis ในเด็กผู้ชาย และ labial adhesion ในเด็กผู้หญิง
  3. ติดตามพัฒนาการ เด็กวัย 3-4 เดือน ควรทำสิ่งเหล่านี้ได้
  4. รับวัคซีนป้องกัน

อายุ 6 เดือน

  1. ประเมินการเจริญเติบโด โดยชั่งน้ำหนัก วัดความยาว วัดเส้นรอบศีรษะ แล้วบันทึกลงในกราฟ ประเมินตามเกณฑ์อายุและเพศ
  2. ตรวจร่างกายตามระบบ เช่นเดียวกับเมื่ออายุ 4 เดือน ตรวจการงอกของฟันน้ำนม
  3. ติดตามพัฒนาการ เด็กวัย 5-6 เดือน ควรทำสิ่งเหล่านี้ได้
  4. รับวัคซีนป้องกัน

อนึ่ง เด็กวัย 0-6 เดือน ควรได้รับการประเมินความเสี่ยงต่อการสัมผัสวัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากแม่ (ซักประวัติ) และตรวจคัดกรองโรคดังกล่าวในเด็กที่มีความเสี่ยง

การเลี้ยงดูที่เหมาะสมและการสร้างวินัยที่ดี

เด็กอ่อนวัยนี้ ผู้ปกครองควรรักและดูแลอย่างใกล้ชิด เฝ้าสังเกตความหมายของกริยาท่าทาง และตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างเหมาะสม เรียนรู้ลักษณะเฉพาะตัว ความชอบ ความถนัด พื้นฐานอารมณ์ของลูก ซึ่งจะแตกต่างกันในเด็กแต่ละคน

ให้นมเด็กเท่าที่ต้องการ แนะนำนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก ดูแลช่องปากโดยใช้ผ้าสะอาดเช็ดเหงือกและกระพุงแก้มวันละ 2 ครั้ง คุณแม่เองก็ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณเพียงพอแก่ตัวเองและลูก และดื่มน้ำมาก ๆ

การนอน: เด็กอายุ 0-3 เดือน ควรนอน 14-17 ชั่วโมง/วัน อายุ 4-6 เดือน ควรนอน 12-16 ชั่วโมง/วัน ช่วงที่ตื่นนอกจากกิน อาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม ควรให้เด็กขยับเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบ อาจฝึกให้นอนคว่ำอย่างน้อย 30 นาที/วัน บนเตียงที่มีพื้นแข็ง โดยหันศีรษะไปด้านข้าง เพื่อฝึกกล้ามเนื้อในการชันคอ ยกตัวเอง โดยมีผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการอุ้มกล่อมเด็กจนหลับ ควรวางเด็กลงบนที่นอนเมื่อเด็กเริ่มเคลิ้ม เพื่อส่งเสริมให้เด็กกล่อมตัวเองจนหลับได้ แนะนำให้เด็กนอนหงายหรือนอนตะแคง ไม่ควรนอนคว่ำ ** ไม่ควรมีหมอนหรือตุ๊กตาขนาด ใหญ่บนที่นอนเด็ก

** ไม่ทิ้งเด็กไว้ตามลำพังบนเตียง โต๊ะ โซฟา เพราะเด็กอาจกลิ้งตกได้ ถ้าจำเป็นต้องวางเด็กบนที่สูงชั่วขณะ เช่น เพื่อหยิบผ้าอ้อม ผู้ดูแลต้องเอามือข้างหนึ่งวางไว้บนตัวเด็กเสมอ ** ห้ามจับเด็กเขย่า โดยเฉพาะเวลาที่พ่อแม่หงุดหงิดกับการร้องไห้ของเด็ก

การโดยสารรถอย่างปลอดภัยควรใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กทารก โดยติดตั้งที่นั่งที่เบาะหลังของรถ และหันหน้าเด็กไปทางด้านหลังรถ ** ไม่ทิ้งเด็กไว้ในรถตามลำพัง

วัยนี้ไม่ควรให้เด็กดูโทรทัศน์หรือใช้สื่อผ่านจออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท พ่อแม่พูดคุยกับลูกเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา ควรแบ่งเวลามาทำกิจกรรมกับลูก ๆ ทุกคน และเปิดโอกาสให้พี่มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง ขณะเดียวกันพ่อแม่ควรมีเวลาเป็นส่วนตัวบ้าง

บรรณานุกรม

  1. กรมการแพทย์. 2565. "แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ฉบับปรับปรุง ๒๕๖๕." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ (28 กรกฎาคม 2566).