การตรวจสุขภาพทารกวัย 7-12 เดือน
(Late Infant Check-up)

การนัดตรวจสุขภาพของเด็กวัยนี้จะเริ่มห่างขึ้นตามกำหนดการฉีดวัคซีน แต่ยังเน้นที่การประเมินการเจริญเติบโต พัฒนาการในด้านต่าง ๆ สังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของเด็ก วัยนี้จะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น จะได้รับการตรวจฟัน ฝึกให้เด็กแปรงฟัน พ่อแม่เรียนรู้ที่จะให้อาหารเสริมนอกจากนม เด็กจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจาง และคัดกรองความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่ว หากมีจะได้ตรวจระดับสารตะกั่วในเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง

การสร้างเสริมวินัยในบ้านควรเริ่มตั้งแต่วัยนี้ แต่ให้พอเหมาะกับวัย เช่น ให้รู้จักเวลาทำกิจวัตรประจำวัน (กิน นอน ขับถ่าย) รู้จักการรอเมื่อยังไม่ถึงเวลา รู้จักเก็บของเล่นเมื่อถึงเวลาทำอย่างอื่น เป็นต้น

อายุ 9 เดือน

  1. ประเมินการเจริญเติบโด โดยชั่งน้ำหนัก วัดความยาว วัดเส้นรอบศีรษะ แล้วบันทึกลงในกราฟ ประเมินตามเกณฑ์อายุและเพศ
  2. ตรวจร่างกายตามระบบ โดยแพทย์จะฟังเสียงหัวใจ คลำกระหม่อม โดยกระหม่อมหลังควรปิดสนิทแล้ว กระหม่อมหน้าจะเริ่มปิดเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน และจะปิดสนิทเมื่ออายุประมาณ 9 -18 เดือน ตรวจภาวะตาเหล่ (strabismus) ด้วย light reflex ตรวจช่องท้องเพื่อดูก้อนผิดปกติ ตรวจอวัยวะเพศ โดยเฉพาะภาวะอัณฑะไม่เลื่อนลงถุงอัณฑะ และ phimosis ในเด็กผู้ชำย และตรวจ labial adhesion ในเด็กผู้หญิง
  3. ประเมินสุขภาพช่องปากโดยทันตแพทย์ อย่างน้อย 1 ครั้ง

  4. ติดตามพัฒนาการ เด็กวัย 9 เดือนเต็ม ควรทำสิ่งเหล่านี้ได้
  5. ตรวจเลือด ดูระดับฮีโมโกลบินหรือฮีมาโทคริตเพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจาง ตรวจระดับสารตะกั่วในเลือดในเด็กที่มีประวัติเสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่ว
  6. รับวัคซีนป้องกัน

อายุ 12 เดือน

  1. ประเมินการเจริญเติบโด โดยชั่งน้ำหนัก วัดความสูง วัดเส้นรอบศีรษะ แล้วบันทึกลงในกราฟ ประเมินตามเกณฑ์อายุและเพศ
  2. ตรวจร่างกายตามระบบ โดยแพทย์จะฟังเสียงหัวใจ คลำกระหม่อม โดยกระหม่อมหลังควรปิดสนิทแล้ว กระหม่อมหน้าจะเริ่มปิดเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน และจะปิดสนิทเมื่ออายุประมาณ 9 -18 เดือน ตรวจภาวะตาเหล่ (strabismus) ด้วย light reflex ตรวจช่องท้องเพื่อดูก้อนผิดปกติ ตรวจอวัยวะเพศ โดยเฉพาะภาวะอัณฑะไม่เลื่อนลงถุงอัณฑะ และ phimosis ในเด็กผู้ชำย และตรวจ labial adhesion ในเด็กผู้หญิง
  3. ประเมินสุขภาพช่องปากโดยทันตแพทย์ อย่างน้อย 1 ครั้ง

  4. ติดตามพัฒนาการ เด็กวัย 12 เดือนเต็ม ควรทำสิ่งเหล่านี้ได้
  5. ตรวจเลือด (หากยังไม่ได้ตรวจตอนอายุ 9 เดือน) ดูระดับฮีโมโกลบินหรือฮีมาโทคริตเพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจาง ตรวจระดับสารตะกั่วในเลือดในเด็กที่มีประวัติเสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่ว
  6. รับวัคซีนทางเลือก ได้แก่ วัคซีนนิวโมคอคคัส (PCV) เข็มกระตุ้น หากได้รับก่อนหน้านี้แล้ว 3 เข็ม, วัคซีนตับอักเสบเอชนิดเชื้อไม่มีชีวิต (HAV) 2 เข็ม ห่างกัน 1 ปี, วัคซีนอีสุกอีใส (VZV) 2 เข็มห่างกัน 1 ปี

การเลี้ยงดูที่เหมาะสมและการสร้างวินัยที่ดี

ให้ความรักและเอาใจใส่ต่อตัวเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กได้เห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เล่นและพูดคุยกับเด็กบ่อย ๆ อ่านหนังสือนิทานที่มีรูปภาพให้เด็กฟังเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา วัยนี้ยังไม่ควรให้เด็กดูโทรทัศน์หรือใช้สื่อผ่านจออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท

ให้นมแม่อย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 12 เดือน อายุ 6-8 เดือนควรได้รับอาหารเสริม 1 มื้อ อายุ 8-10 เดือนควรได้รับ 2 มื้อ และอายุ 10-12 เดือนควรได้รับ 3 มื้อ เป็นอาหารครบหมู่ และมีธาตุเหล็กเพียงพอ เช่น ข้าวต้มหมูสับ ไข่คน ตับบด แกงจืดเต้าหู้ผักต้ม และเสริมด้วยผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เพื่อช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง

ให้เด็กคลานหรือเดินบ่อย ๆ โดยจัดสภาพ แวดล้อมให้เหมาะสม ปลอดภัย ทำกิจกรรมกับลูกทุกคน และเปิดโอกาสให้พี่มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง ควรให้เด็กเล่นบนพื้น แบบมีปฏิสัมพันธ์ หรือได้เล่นอย่างอิสระ ไม่ควรอุ้มหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของเด็กในรถเข็นหรือเก้าอี้เด็กนานเกินไป

ฝึกให้เด็กทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา เช่น เวลาของมื้ออาหาร เวลาเข้านอน เด็กอายุ 7-12 เดือนควรนอน 12-16 ชั่วโมง/วัน เด็กวัยนี้สามารถนอนติดต่อกันได้นานขึ้น ควรลดนมในเวลากลางคืน

ฝึกให้เด็กแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าหลังตื่นนอน และก่อนเข้านอน ด้วยแปรงสีฟันและยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็ก ปริมาณยาสีฟันแค่แตะขนแปรงพอเปียก หรือ ขนาดเมล็ดข้าวสาร

ระวังการพลัดตกจากที่สูงและการกระแทก ไม่ควรใช้รถหัดเดินแบบที่มีลูกล้อเพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ควรให้เด็กเล่นของเล่นขนาดเล็กที่สามารถอมเข้าปากได้ หรือหลุดแตกเป็นชิ้นเล็กได้เพราะเด็กอาจสำลักเข้าทางเดินหายใจ

อย่าอุ้มเด็กในขณะที่ถือของร้อน และควรเก็บสายไฟของกำน้ำร้อนไว้ไกลมือเด็ก อย่าวางของร้อนบนพื้น ระวังอันตรายจากไฟดูดโดยติดตั้งปลั๊กสูงจากพื้นอย่างน้อย 1.5 เมตร หรือใช้อุปกรณ์ปิดปลั๊กไฟ ไม่ปล่อยให้เด็กนั่งเล่นน้ำตามลำพังแม้เพียงชั่วขณะ

การโดยสารรถอย่างปลอดภัยควรใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กทารก โดยติดตั้งที่นั่งที่เบาะหลังของรถ และหันหน้าเด็กไปทางด้านหลังรถ ** ไม่ทิ้งเด็กไว้ในรถตามลำพัง

สังเกตและตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างเหมาะสม ไม่ควรตามใจเด็กจนเกินไป สร้างกฎระเบียบภายในบ้าน อธิบายเหตุผลที่ควรมีกฎระเบียบเหล่านี้ ให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กทำถูกต้อง และสุดท้ายพ่อแม่ควรมีเวลาเป็นส่วนตัวบ้าง

บรรณานุกรม

  1. กรมการแพทย์. 2565. "แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ฉบับปรับปรุง ๒๕๖๕." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ (28 กรกฎาคม 2566).