การประเมินสุขภาพเด็กแรกเกิด (Newborn Health Evaluation)

เด็กแรกเกิด หมายถึง ทารกวัยต่ำกว่า 1 เดือน การประเมินสุขภาพของเด็กแรกเกิดก็เพื่อตรวจหาความพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ในครรภ์ และภาวะการบาดเจ็บจากการคลอด เพื่อเป็นเกณฑ์ติดตามการเจริญเติบโตของเด็กต่อไป

การประเมินสุขภาพของเด็กแรกเกิด ประกอบด้วย การให้คะแนนแอ็บการ์ (APGAR), การวัดขนาดตัว, การประเมินอายุครรภ์ของเด็ก, การตรวจร่างกายตามระบบ, และการคัดกรองความผิดปกติก่อนกลับบ้าน

  1. APGAR Score เป็นการประเมินความสามารถของทารกในการปรับตัวสู่สภาพแวดล้อมภายนอกมดลูก ถูกเรียกตามชื่อของนายแพทย์เวอร์จิเนีย แอ็บการ์ (Virginia Apgar) วิสัญญีแพทย์ชาวอเมริกันซึ่งนำมาใช้ตั้งแต่ในค.ศ. 1952 โดยจะประเมินลักษณะสีผิว อัตราการเต้นของหัวใจ สีหน้าจากการกระตุ้น การเคลื่อนไหวของทารก และความพยายามในการหายใจ ที่เวลา 1 นาที, 5นาที, และ 10 นาทีหลังคลอด ภายหลังมีผู้คิดคำที่ใช้ประเมินตามตัวสะกดชื่อของท่าน
  2. APGAR Score มีคะแนนเต็ม 10
    - คะแนน 7-10 ใน 1 นาทีแรก ถือว่าทารกอยู่ในภาวะปกติ
    - คะแนน 4-6 ใน 1 นาทีแรก แสดงว่าทารกมีภาวะขาดออกซิเจนในเลือดบ้าง แต่ไม่มาก
    - คะแนน 0-3 ใน 1 นาทีแรก แสดงว่าทารกอยู่ในภาวะวิกฤต

  3. การวัดขนาดตัว เด็กแรกเกิดในโรงพยาบาลจะได้รับการชั่งน้ำหนัก วัดความยาวตัว เส้นรอบศีรษะ และขนาดของกระหม่อม จากนั้นจะได้รับสมุดบันทึกการเจริญเติบโตของเด็กกลับบ้านด้วย
  4. การประเมินอายุครรภ์ของเด็ก กุมารแพทย์มักใช้ Ballard Score ซึ่งเป็นวิธีการประเมินทางระบบประสาทและลักษณะภายนอกรวมกัน วิธีการตรวจอาจยากเกินไปสำหรับคนทั่วไป ส่วนใหญ่จะใช้ศึกษาเปรียบเทียบกับอายุครรภ์ที่บันทึกโดยสูติแพทย์
  5. การตรวจร่างกายตามระบบ ได้แก่ ดูความผิดปกติของรูปร่างหน้าตา คลำกระหม่อม ประเมินภาวะตัวเหลือง ภาวะซีด ตรวจดูการสะท้อนแสงจากจอประสาทตา (red reflex) และประเมินการอุดกั้นของท่อน้ำตา ตรวจการได้ยิน ตรวจในปากหาพังผืดใต้ลิ้นและเพดานโหว่ ฟังเสียงปอดและหัวใจ คลำชีพจรบริเวณขาหนีบ คลำก้อนในท้อง ตรวจสะดือ ตรวจข้อสะโพกเพื่อคัดกรองภาวะข้อสะโพกหลุด ตรวจอวัยวะเพศหาความผิดปกติ ตรวจบริเวณหลังและก้นกบ ตรวจทางระบบประสาท และดูตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนบีซีจีว่ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นหรือไม่
  6. การคัดกรองความผิดปรกติก่อนกลับบ้าน ได้แก่
    • ตรวจสอบประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของมารดา เพื่อวางแผนการตรวจติดตามทารก
    • ตรวจคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (TSH) และโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก (IEM) ตามมาตรฐานของประเทศ
    • ตรวจคัดกรองภาวะตัวเหลือง
    • ตรวจสีอุจจาระด้วย stool color card เพื่อคัดกรองภาวะท่อน้ำดีอุดตัน
    • ตรวจคัดกรองโรคหัวใจพิการรุนแรงแต่กำเนิดโดยวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนทางผิวหนัง (oxygen saturation)
    • ตรวจการได้ยินด้วยเครื่องมือ (1 ครั้งภายในอายุ 6 เดือน)
    • ซักประวัติคัดกรองความเสี่ยงต่อการสัมผัสวัณโรค สารตะกั่ว และภาวะไขมันในเลือดสูง
    • ประเมินพัฒนาการของทารก เช่น การมองหน้าพ่อแม่ การตอบสนองต่อเสียงหรือสัมผัส
    • ประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และปัญหาที่มารดามี
    • ประเมินสภาวะจิตใจของมารดาหลังคลอดบุตร เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

วัคซีนแรกเกิด

ทารกที่คลอดในโรงพยาบาลของไทยทุกคนจะได้รับวัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค 1 เข็ม และวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี เข็มแรก จากนั้นจะได้รับสมุดนัดตรวจสุขภาพตามวัย และรับวัคซีนเข็มต่อ ๆ ไป ผู้ปกครองควรพาเด็กมาพบกุมารแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

บรรณานุกรม

  1. กรมการแพทย์. 2565. "แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ฉบับปรับปรุง ๒๕๖๕." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ (28 กรกฎาคม 2566).