การตรวจสุขภาพเด็กก่อนวัยเรียน (Preschooler Check-up)

เด็กก่อนวัยเรียนได้แก่วัย 1-5 ปี วัยนี้จะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง อยากรู้อยากเห็น ซุกซน ช่างซักถามเมื่อพูดได้คล่อง อยากลองทดสอบกฎของพ่อแม่ และมีการเรียนรู้อารมณ์มากขึ้น การนัดตรวจสุขภาพจะเป็นการประเมินพัฒนาการและฉีดวัคซีนต่อเนื่องจากวัยทารก พัฒนาการในเด็กเล็กจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว พร้อม ๆ กับความถนัด อุปนิสัย การจดจำ การแก้ปัญหาด้วยตัวของเด็กเอง ผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตพัฒนาการของเด็กตามตารางข้างล่าง จดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วนำไปเป็นข้อมูลให้กุมารแพทย์ช่วยชี้แนะเมื่อถึงกำหนดนัดหมาย ช่วงสำคัญที่เด็กควรได้รับการคัดกรองพัฒนาการโดยกุมารแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คือ วัย 1 ขวบครึ่ง, 2 ขวบครึ่ง, และ 4 ขวบ

อายุ 18 เดือน (1 ขวบครึ่ง)

  1. ประเมินการเจริญเติบโด โดยชั่งน้ำหนัก วัดความสูง วัดเส้นรอบศีรษะ แล้วบันทึกลงในกราฟ ประเมินตามเกณฑ์อายุและเพศ
  2. ตรวจร่างกายตามระบบ โดยแพทย์จะฟังเสียงหัวใจ คลำกระหม่อม โดยกระหม่อมควรปิดสนิททั้งหน้าและหลังแล้ว ตรวจการสะท้อนแสงจากจอประสาทตา (red reflex) ตรวจสอบว่าแก้วตาขุ่นหรือไม่ ตรวจภาวะตาเหล่ (strabismus) ด้วย light reflex ตรวจท่ายืน ท่าเดิน ประเมินฟันผุโดยทันตแพทย์
  3. ติดตามพัฒนาการ เด็กวัย 18 เดือนเต็ม ควรทำสิ่งเหล่านี้ได้
  4. ตรวจเลือด เพื่อคัดกรองโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง ตรวจระดับสารตะกั่วในเลือดในเด็กที่มีประวัติเสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่ว
  5. รับวัคซีนป้องกัน

อายุ 30 เดือน (2 ขวบครึ่ง)

  1. ประเมินการเจริญเติบโด โดยชั่งน้ำหนัก วัดความสูง วัดเส้นรอบศีรษะ แล้วบันทึกลงในกราฟ ประเมินตามเกณฑ์อายุและเพศ
  2. ตรวจร่างกายตามระบบ เน้นเรื่องฟันผุ เหงือกอักเสบ ประเมินตาเหล่ ตาเข red reflex, light reflex และดูบาดแผลหรือรอยฟกช้ำตามตัว เพื่อประเมินความปลอดภัยในการเลี้ยงดู
  3. ติดตามพัฒนาการ เด็กวัย 30 เดือนเต็ม ควรทำสิ่งเหล่านี้ได้
  4. ตรวจเลือด เพื่อคัดกรองโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง (หากยังไม่เคยตรวจตอนอายุ 18 เดือน) ตรวจระดับสารตะกั่วในเลือดในเด็กที่มีประวัติเสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่ว
  5. รับวัคซีนป้องกัน

อายุ 4 ปี

  1. ประเมินการเจริญเติบโด โดยชั่งน้ำหนัก วัดความสูง วัดเส้นรอบศีรษะ แล้วบันทึกลงในกราฟ ประเมินตามเกณฑ์อายุและเพศ
  2. ตรวจร่างกายตามระบบ เน้นเรื่องฟันผุ แผ่นคราบฟัน สีของฟัน และสุขภาพเหงือก ตรวจวัดสายตาโดยใช้ picture tests ดูบาดแผลหรือรอยฟกช้ำตามตัว เพื่อประเมินความปลอดภัยในการเลี้ยงดู ตรวจวัดความดันโลหิต 1 ครั้ง ที่อายุ 4 ปี
  3. ติดตามพัฒนาการ เด็กวัย 4 ปี ควรทำสิ่งเหล่านี้ได้
  4. ตรวจเลือด วัดระดับฮีโมโกลบินหรือฮีมาโทคริต เพื่อคัดกรองภาวะโลหิตจาง, ตรวจโรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง, ตรวจระดับสารตะกั่วในเลือดในเด็กที่มีประวัติเสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่ว
  5. รับวัคซีนป้องกัน

การเลี้ยงดูที่เหมาะสมและการสร้างวินัยที่ดี

ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน รักและเอาใจใส่ ตอบสนองพอเหมาะต่อตัวเด็ก ฝึกระเบียบวินัยในการใช้ชีวิต เช่น กำหนดเวลากินอาหาร นอน เล่น ให้เป็นเวลา ฝึกให้เด็กมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตนเอง เช่น กินอาหาร อาบน้ำ นั่งกระโถน แต่งตัว เมื่อเด็กทำได้ ควรชื่นชมแม้ว่าจะไม่เรียบร้อย สร้างกฎกติกาให้เหมาะสมตามวัย ทำสม่ำเสมอ จัดให้เด็กมีกิจวัตรในแต่ละวันเป็นเวลา เพื่อให้เด็กง่ายต่อการเรียนรู้ ปรับตัว

เข้าใจอารมณ์และพฤติกรรมของเด็ก เนื่องจากเด็กเป็นตัวของตัวเองเพิ่มขึ้น แต่ยังพูดสื่อสารได้ไม่ดี จึงทำให้เด็กหงุดหงิดง่าย อาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น กรีดร้อง/ดิ้นกับพื้นเมื่อไม่ได้ดั่งใจ พ่อแม่ควรใจเย็น ช่วยให้เด็กเล่าเรื่องที่ทำให้ตัวเองไม่พอใจ โกรธ เสียใจ หงุดหงิด หรือถ้าไม่มีโอกาสอาจใช้วิธีเพิกเฉยในช่วงแรก ตอบสนองให้พอเหมาะ หลีกเลี่ยงการตี ตะคอก หรือใช้ความรุนแรง พ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กในเรื่องการแสดงออก เช่น ไม่พูดคำหยาบคาย ใจเย็น รอคอย ควบคุมอารมณ์เมื่อไม่พอใจ

สื่อสารเชิงบวกให้ชัดเจน บอกในสิ่งที่ผู้เลี้ยงดู "อยากให้ทำ" แทนการบอกว่า "ห้าม..." "อย่า..." หรือ "ไม่ให้ทำ..." และให้เหตุผลที่เด็กพอเข้าใจได้ การดูแลสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก จะช่วยลดคำว่า "อย่า..." "หยุด..." ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งกันระหว่างเด็กและพ่อแม่ลงได้

อาหารหลัก 3 มื้อควรเป็นอาหารครบหมู่ และมีธาตุเหล็กเพียงพอ ร่วมกับดื่มนมจืดมื้อละ 6-8 ออนซ์ วันละ 2-3 มื้อ ดื่มนมจากแก้วหรือกล่อง งดใช้ขวดนม

แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ด้วยแปรงสีฟันและยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สำหรับเด็ก ปริมาณยาสีฟันแค่แตะขนแปรงพอเปียก หรือปริมาณขนาดเมล็ดข้าวสาร ถ้าเด็กยังบ้วนยาสีฟันไม่เป็นให้ใช้ผ้ำเช็ดฟองยาสีฟันออก และผู้ปกครองช่วยแปรงฟัน หลีกเลี่ยงขนมหวานและเครื่องดื่มรสหวาน

ใช้เวลาทำกิจกรรมทางกายหลากหลายเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง/วัน ไม่ควรอุ้มหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมงติดต่อกัน เช่น นั่งในรถเข็นเด็ก หรือนั่งในเก้าอี้เด็กนาน ๆ

ให้เด็กวัย 1-2 ขวบนอนหลับอย่างน้อย 11-14 ชั่วโมง วัย 2-5 ขวบนอนหลับอย่างน้อย 10-13 ชั่วโมง (รวมนอนกลางวัน) โดยควรมีช่วงเวลาในการนอนและการตื่นที่เป็นเวลา

เด็กควรอยู่ในสายตาของผู้เลี้ยงดูตลอดเวลา จัดบ้านและบริเวณรอบบ้านให้ปลอดภัย ป้องกันการพลัดตกหกล้ม การชนกระแทก จมน้ำ ถูกสารพิษ สัตว์กัด ความร้อนลวก อันตรายจากไฟฟ้า และการถูกรถชน ควรเริ่มสอนให้เด็กวัยนี้รู้จักหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้แหล่งน้ำและจุดอันตรายอื่น ๆ ไม่ให้เล่นกับสุนัขจรจัด และลูกสุนัขแรกเกิดที่มีแม่อยู่ด้วย ไม่ให้รังแกสัตว์ สอนให้ระวังภัยจากคนแปลกหน้าและวิธีการแก้ไขสถานการณ์ง่าย ๆ เก็บสิ่งของอันตราย เช่น ปืน สารเคมี ยา ให้พ้นจากสายตาและมือเด็ก

การโดยสารรถยนต์ควรใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็ก โดยติดตั้งที่เบาะหลังของรถ และหันหน้าเด็กไปทางด้านหน้ารถ ไม่ทิ้งเด็กไว้ในรถตามลำพัง การโดยสารรถมอเตอร์ไซด์หรือรถจักรยานแนะนำให้ใช้หมวกนิรภัยสำหรับเด็กเล็ก

เด็กวัย 18 เดือนยังไม่ให้เด็กดูโทรทัศน์หรือใช้สื่อผ่านจออิเล็กโทรนิกส์ทุกประเภท วัย 2-5 ขวบจำกัดเวลาในการดูทีวีและการใช้อุปกรณ์ผ่านจอไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง เลือกรายการที่มีคุณภาพเหมาะกับเด็ก และผู้เลี้ยงดูควรดูร่วมกันกับเด็ก เพื่อพูดคุย ชี้แนะ ส่งเสริมการอ่านนิทาน วาดรูป เล่นร่วมกับคนอื่น และออกกำลังกายกลางแจ้ง ให้พี่น้องเล่นด้วยกัน ช่วยเหลือกันและกัน ปรับตัวเข้าหากัน

เด็กวัย 4-5 ขวบควรมีส่วนร่วมในการคิด เลือก และตัดสินใจเองในบางเรื่อง ให้เรียนรู้โดยใช้วิธีลองผิดลองถูกเอง ให้รับผิดชอบงานบ้านง่าย ๆ เช่น พับผ้าห่ม เก็บของเล่นลงกล่อง จัดกระเป๋า โดยพ่อแม่เฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ เด็กจะภาคภูมิใจเมื่อทำได้สำเร็จ

บรรณานุกรม

  1. กรมการแพทย์. 2565. "แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ฉบับปรับปรุง ๒๕๖๕." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ (28 กรกฎาคม 2566).
  2. สปสช. กระทรวงสาธารณสุข 2562. "คู่มือ เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย DSPM (Developmental Surveillance and Promotion Manual)" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี. (23 กรกฎาคม 2566).