การตรวจสุขภาพเด็กวัยมัธยม (Teen Check-up)
เด็กวัยมัธยมได้แก่วัย 12-18 ปี จัดเป็นเด็กวัยรุ่นที่มีพลังมากมายแต่ขาดประสบการณ์ เป็นวัยที่ต้องเลือกเส้นทางการศึกษา การคบเพื่อนต่างเพศ และการแบ่งเวลาให้กับกิจกรรมต่าง ๆ การตรวจสุขภาพในวัยนี้จะเป็นการประเมินปัญหาทางจิตใจ สังคม และพฤติกรรม ไปพร้อม ๆ กับการประเมินพัฒนาการทางเพศ วัยนี้เด็กผู้หญิงจะมีรอบเดือน เต้านม สะโพก หยุดสูง และมีขนขึ้นที่รักแร้และอวัยวะเพศ ส่วนเด็กผู้ชายจะเริ่มมีเสียงแตก อวัยวะเพศแข็งตัวตอนเช้า มีหนวดเครา ขนขึ้นที่รักแร้และอวัยวะเพศ อายุ 16-18 ปีจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการสร้างอสุจิ การนัดตรวจสุขภาพจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ วัย 12-13 ปี, 14-15ปี, และ 16-18 ปี โดยทุกช่วงจะประเมินคล้ายกัน ดังนี้
- ประเมินการเจริญเติบโด โดยชั่งน้ำหนัก วัดความสูง ประเมินน้ำหนักตามเกณฑ์อายุ ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง คำนวณ
ค่าดัชนีมวลกาย (body mass index) และวัดความดันโลหิต
- ตรวจร่างกายตามระบบ ดูร่องรอย สิว รอยสัก รอยเจาะ ร่องรอยการบาดเจ็บ หรือถูกทำร้าย รอยดำด้านหลังคอในกรณีอ้วน ประเมินพัฒนาการทางเพศ ประเมินการคดงอของกระดูกสันหลังโดยใช้วิธี forward bending test ตรวจสายตาโดยใช้ Snellen chart ถ้าการมองเห็นตั้งแต่ 20/50 ขึ้นไป
อย่างน้อยหนึ่งข้าง จะส่งพบจักษุแพทย์ ตรวจการได้ยินด้วยเครื่องมือพิเศษกรณีที่มีความเสี่ยงหรือมีประวัติการได้ยินบกพร่องมาก่อน ตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์
- ประเมินสุขภาพจิตและพฤติกรรม ได้แก่
- ความสัมพันธ์ภายในบ้าน
- ผลการเรียน ปัญหาที่โรงเรียน
- พฤติกรรมการกินอาหาร
- กิจกรรมนอกห้องเรียนและลักษณะกลุ่มเพื่อน
- ยาที่ใช้ประจำ (กรณีมีโรคประจำตัว) ความสม่ำเสมอของการใช้ยา มีการใช้สารเสพติดหรือไม่
- การเปลี่ยนแปลงทางเพศที่เกิดขึ้น และพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องเพศ
- อารมณ์ ความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง
- ความรุนแรงและความปลอดภัย ในบ้านและนอกบ้าน
- จุดแข็ง หรือข้อดีของตัวเอง
- ตรวจเลือด เพื่อคัดกรองภาวะซีดในวัยรุ่นตอนต้นทุกคน และในรายที่มีความเสี่ยงต่อภาวะซีด เช่น วัยรุ่นหญิงที่มีประจำเดือนมามาก หรือในวัยรุ่นที่ขาดอาหาร หรือทานมังสวิรัติ หากค่าฮีโมโกลบิน (Hb) < 12 g% ในวัยรุ่นหญิง และ <13 g% ในวัยรุ่นชาย ควรได้รับการประเมินเพิ่มเติมและรักษา
ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อคัดกรองภาวะพร่องไทรอยด์ ตรวจไขมันในเลือด เบาหวาน การทำงานของตับ ไต ตรวจระดับสารตะกั่วในเลือดในเด็กที่มีประวัติเสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่ว ตรวจการติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากมีประวัติการมีเพศสัมพันธ์
ถูกล่วงละเมิด หรือมีข้อบ่งชี้
เอกซเรย์ปอดดูวัณโรค หากมีความเสี่ยงหรือมีข้อบ่งชี้
- รับวัคซีน
- คอตีบ บาดทะยัก (dT) หรือวัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (Tdap) ทุก 10 ปี
- ไข้หวัดใหญ่ ทุกปี
- เอชพีวี 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน (กรณีที่เด็ก ป. 5 ไม่ได้รับวัคซีนที่โรงเรียน)
การเลี้ยงดูที่เหมาะสมและการสร้างวินัยที่ดี
พ่อแม่ควรทำความเข้าใจพัฒนาการของวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ใจเย็น รับฟังเขาอย่างเข้าใจความรู้สึก เป็นแบบอย่างที่ดี เป็นที่ปรึกษา และชี้แนะอย่างเหมาะสม ปลูกฝังการมีจิตสาธารณะ
สนับสนุนเรื่องเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มีประสบการณ์ ปรับกฎเกณฑ์ กติกาในบ้านให้เหมาะสม โดยให้เด็กมีส่วนร่วม มอบงานที่เหมาะสมให้รับผิดชอบ ส่งเสริมให้เป็นตัวของตัวเอง แต่พร้อมขัดขวางถ้าวัยรุ่นทำพฤติกรรมเสี่ยงหรือไม่เหมาะสม แนะนำวิธีจัดการกับความเครียด ช่วยให้วัยรุ่นมองเห็นคุณค่าตนเอง มองเห็นข้อดีของตนเอง รู้สึกพอใจในตนเอง และชื่นชมตัวเองได้
ฝึกวิธีคิดเชิงบวก มองเห็นข้อดีในเรื่องร้าย คิดและเข้าใจในมุมคนอื่น (empathic understanding) ฝึกความเข้มแข็งทางใจ ความมุ่งมั่น ใช้การพัฒนาตนเองเป็นเป้าหมาย สามารถอดทนทำสิ่งต่าง ๆ จนสำเร็จ ฝึกทักษะการจัดการปัญหา เรียนรู้ปัญหาและประสบการณ์ที่ผิดพลาด
แนะนำให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง รับประทานอาหารให้ได้แคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน วัยรุ่นชายและหญิงอายุ 9-18 ปี ควรได้รับพลังงาน 1,600-2,400 กิโลแคลอรี่ต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะเตี้ย แต่ไม่กินจนรู้สึกง่วงหลังกิน เพื่อป้องกันภาวะอ้วน แนะนำให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน หรือมีกิจกรรมที่ออกแรงอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน ใช้เวลากับทีวี สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือคอมพิวเตอร์ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน หากเป็นไปได้ควรแปรงฟันหลังทานขนมหวานทุกครั้ง และใช้ไหมขัดฟัน พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน ในรายที่ต้องใส่เครื่องมือจัดฟันต้องทำโดยทันตแพทย์เท่านั้น หลังทำต้องรักษาอนามัยช่องปากอย่างเคร่งครัด
ทบทวนและวางแผนการปฏิบัติตน เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานการณ์อันตรายเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้ง ทำร้าย หรือถูกล่วงละเมิด ฝึกการปฏิเสธและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์ที่เสี่ยงสูง ไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา ผู้ใหญ่ควรแนะนำเรื่องการเป็นสมาชิกบนโลกออนไลน์ที่ดี ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว และใช้สื่อโซเชียลอย่างเหมาะสมรู้เท่าทันสื่อ หากถูกกลั่นแกล้งในโลกออน์ไลน์ ไม่จำเป็นต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรง สามารถเก็บหลักฐานได้ และรายงานต่อเจ้าของเว็บไซต์ ปรึกษาผู้ใหญ่ และแจ้งความได้
ในการมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน สนับสนุนการไม่มีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะแต่งงาน ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง สอนทักษะปฏิเสธหากยังไม่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ วิธีป้องกันการตั้งครรภ์โดยการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ และป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์โดยใช้
ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
งด หรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และสารเสพติดทุกชนิด และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนใช้สารเหล่านี้ กรณีที่ใช้อยู่แนะนำให้ลดการใช้ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดยา
ส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎจราจร สวมหมวกนิรภัย หรือคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่
บรรณานุกรม
- กรมการแพทย์. 2565. "แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ฉบับปรับปรุง ๒๕๖๕." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ (28 กรกฎาคม 2566).
- สปสช. กระทรวงสาธารณสุข 2562. "คู่มือ เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย DSPM (Developmental Surveillance and Promotion Manual)" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี. (23 กรกฎาคม 2566).