แหล่งโปรตีนที่ดี

โปรตีนประกอบด้วยกรดอะมิโนจำนวนมากเรียงต่อกันเป็นโซ่ยาวเรียกว่าสายโพลีเปปไทด์ และอาจมีพันธะดึงดูดกันภายในสายหรือระหว่างสาย ทำให้โครงสร้างพันกันเป็นกลุ่มก้อน โมเลกุลของโปรตีนจึงมีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับโมเลกุลของน้ำตาลหรือเกลือ โปรตีนในอาหารพอเข้าสู่ทางเดินอาหารจะถูกย่อยจนเป็นกรดอะมิโนอิสระก่อนที่จะถูกดูดซึมไปใช้งาน กรดอะมิโนมีโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกัน คือมีกลุ่มอะมิโน (NH2-) กับกรดคาร์บ็อกซิลิก (COOH-) ต่อกันคนละด้านกับคาร์บอน และมี R-group ที่ต่างกันเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของกรดอะมิโนแต่ละชนิด

กรดอะมิโนในธรรมชาติมีกว่า 700 ชนิด แต่ที่ร่างกายคนเราต้องใช้มีเพียง 21 ชนิด พืช สาหร่าย รา และแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่สังเคราะห์กรดอะมิโนได้เองทั้งหมด พืชสร้างกรดอะมิโนแล้วมาสร้างเป็นโปรตีนเก็บไว้ในเนื้อเยื่อและเมล็ด โปรตีนในพืชมีปริมาณไม่มาก เพราะพืชไม่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว

คนและสัตว์สังเคราะห์กรดอะมิโนที่ต้องใช้เองได้ไม่ครบ จึงต้องได้รับจากอาหาร การสร้างโปรตีนของคนต้องอาศัยการถ่ายทอดรหัสจาก DNA สู่ RNA แล้ว tRNA ไปเลือกกรดอะมิโนมาต่อทีละตัวตามรหัส หน้าที่ของโปรตีนจึงถูกกำหนดโดยลำดับของกรดอะมิโนในสาย หากการถอดรหัสผิดไป สายโปรตีนเส้นนั้นจะไม่สามารถทำหน้าที่ตามปกติได้ โปรตีนที่คนและสัตว์สร้างนอกจากจะที่ทำหน้าที่เป็นเอนไซม์ ฮอร์โมน และแอนติบอดีย์แล้ว ยังเป็นมัดกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหว โปรตีนจากเนื้อสัตว์จึงมีปริมาณมากกว่าโปรตีนจากพืช

โปรตีนเป็นสารที่มีความซับซ้อนสูง โปรตีนของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น และภายในสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน โปรตีนในแต่ละอวัยวะยังแตกต่างกัน เราพบว่าโปรตีนจากพืชมีความหนาแน่นมากกว่า ย่อยสลายได้ยากกว่า และให้พลังงานต่ำกว่าโปรตีนจากสัตว์เล็กน้อย

ชนิดและหน้าที่หลักของกรดอะมิโน

กรดอะมิโนทั้ง 21 ชนิดที่ร่างกายต้องใช้ จำแนกตามคุณสมบัติและความจำเป็นได้ดังนี้

  • กรดอะมิโนไม่จำเป็น (Nonessential amino acids) ร่างกายสร้างเองได้ ไม่ต้องพึ่งจากแหล่งภายนอก ได้แก่
    1. Alanine, Ala, A ร่างกายสร้างจาก pyruvate แล้วเข้าสู่วงจร glucose-Alanine cycle (Glucose → Pyruvate → Alanine → Pyruvate → Glucose) โดยมี Glutamate เป็นตัวช่วย เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายเอาใช้สร้างกลูโคสเช่นเดียวกับ Glutamine
    2. Alanine ยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ให้พลังงานแก่สมอง ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ Alanine เป็นกรดอะมิโนที่อยู่ในน้ำจากต่อมลูกหมาก จึงเชื่อว่ามันน่าจะช่วยไม่ให้ต่อมลูกหมากโต

    3. Asparagine, Asn, N ถูกสร้างจาก Aspartate ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท และเป็นกรดอะมิโนสำคัญในวัฏจักรเคร็บส์คู่กับ Aspartate Asparagine ช่วยให้นักกีฬาทนความอ่อนล้าได้นาน และยังช่วยกำจัดแอมโมเนียซึ่งเป็นของเสียออกจากร่างกาย
    4. Aspartate, Asp, D หรือ Aspartic acid ถูกสร้างจาก oxaloacetate ถือเป็นกรดอะมิโนที่สำคัญตัวหนึ่งในวัฏจักรเคร็บส์ที่สร้างพลังงานและวัฏจักรยูเรียที่กำจัดของเสีย Aspartate จึงช่วยฟื้นฟูความอ่อนล้าได้ดี Aspartate ยังช่วยพาแร่ธาตุเข้าเซลล์ เสริมสร้างแอนติบอดีย์ และเพิ่ม NADH ในสมอง ทำให้ความคิดฉับไว
    5. Aspartate กับ Glutamate ยังเป็นส่วนผสมที่เพิ่มรสชาติในอาหาร (อูมามิใช้สัดส่วนของกลูตาเมต:แอสพาร์เตต 4:1 [6])

    6. Glutamate, Glu, E หรือ Glutamic acid ถูกสร้างจาก α-Ketoglutaric acid ในวัฏจักรเคร็บส์ กลูตาเมตจัดเป็นสารอาหารไม่กี่ตัวที่ผ่าน blood-brain barrier เข้าสู่สมองได้ จึงเป็นอาหารหลักของสมองเช่นเดียวกับกลูโคส กลูตาเมตเปลี่ยนแอมโมเนียในสองให้เป็นกลูตามีนซึ่งไม่เป็นพิษ กลูตาเมตยังเป็นสารสื่อประสาทชนิดกระตุ้น (excitatory neurotransmitter) จึงช่วยให้ความคิดความจำดีขึ้น จัดเป็นหนึ่งในยารักษาโรคพาร์กินสัน จิตเภท ปัญญาอ่อน กล้ามเนื้อฝ่อ (muscular dystrophy) และพิษสุราเรื้อรัง
    7. Serine, Ser, S ถูกสร้างจาก ketones และ Glycine เมื่อร่างกายขาดอาหาร โดยอาศัยวิตามินบีและโฟเลตเป็นตัวช่วย แต่มันก็สามารถเปลี่ยนกลับไปเป็น Glycine และ Cysteine ได้ใหม่ในภาวะเหมาะสม Serine ช่วยในกระบวนการสลายสารอาหาร ช่วยสร้างฟอสโฟไลปิดและกรดกลีเซอริก ช่วยในการทำงานของ DNA และ RNA ช่วยให้ Tryptophan สร้าง serotonin ได้ (serotonin ช้วยให้เราตื่นและสดชื่น) ช่วยสร้างแอนติบอดีย์ และช่วยดูดซึม creatine เพื่อสร้างกล้ามเนื้อ
  • กรดอะมิโนจำเป็นบางเวลา (Conditionally essential amino acids, วงแดงเส้นประในรูปข้างบน) ร่างกายสร้างเองได้ไม่พอในช่วงที่เติบโตและในภาวะเจ็บป่วย ต้องได้รับเพิ่มจากอาหาร ได้แก่
    1. Arginine, Arg, R ถูกสร้างจาก citrulline อาร์จินีนเป็นสารตั้งต้นของ nitric oxide ที่ทำหน้าที่ขยายหลอดเลือดดำ จึงช่วยลดอาการแน่นอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบ อาการตะคริวที่ขาที่เกิดจากหลอดเลือดส่วนปลายตีบ อาร์จินีนช่วยเซลล์แบ่งตัว สร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยสมานแผลหลังผ่าตัด ช่วยในกระบวนการหลั่งฮอร์โมน และช่วยกำจัดแอมโมเนียในวัฏจักรยูเรีย
    2. Cysteine, Cys, C เป็นกรดอะมิโนที่มีธาตุซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ ถูกสร้างจาก Serine ซีสเตอีนมีมากในเส้นผมและเส้นขน มันช่วยเพิ่มเม็ดสีเหลืองบนผิวหนังและเส้นผม ซีสเตอีนช่วยสร้าง Glutathione และ Taurine มันจึงช่วยกำจัดสารพิษ ต้านความชราภาพ ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยสมานแผล และกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว
    3. Selenocysteine, Sec, U เป็นกรดอะมิโนที่มีธาตุซีลีเนียมเป็นองค์ประกอบ ถูกสร้างจาก Serine Selenocysteine เป็นส่วนหนึ่งของเอนไซม์ซีลีโนโปรตีนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเมตาบอลิซึมต่าง ๆ ของร่างกาย
    4. Glutamine, Gln, Q เกิดจาก Glutamate รวมกับแอมโมเนีย กำเนิดของมันจึงเป็นการเอาของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ Glutamine เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายเอาใช้สร้างกลูโคสเช่นเดียวกับ Alanine ทั้งสองตัวถือเป็นกรดอะมิโนที่ช่วยลดอาการ "แฮ้งก์เหล้า" เพราะแอลกอฮอล์ที่เราดื่มเข้าไปจะถูกตับเปลี่ยนเป็น acetaldehyde ที่มีพิษน้อยกว่า แต่ขบวนการนี้จะได้ NADH มากมาย การเสียสมดุลระหว่าง NADH/NAD+ ทำให้เรารู้สึก "แฮ้งก์" แต่การสร้างกลูโคสจากกรดอะมิโนต้องใช้ NADH จึงเป็นคำตอบว่าทำไมเวลาดื่มสุราต้องมีกับแกล้มด้วย
    5. กลูตามีนเป็นกรดอะมิโนอิสระที่มีมากที่สุดในเลือด มันถูกใช้เป็นตัวให้พลังงานแก่เม็ดเลือดขาว ใช้สร้างโปรตีนและไขมัน ช่วยให้ผนังลำไส้สมบูรณ์แข็งแรง กลูตามีนเป็นตัวให้ไนโตรเจนในขบวนการสร้าง purines เป็นตัวให้คาร์บอนในวัฏจักรเคร็บส์ และเมื่อมันสลายจะได้กลูตาเมตซึ่งเป็นสารสื่อประสาทกลับมาใหม่

    6. Glycine, Gly, G ถูกสร้างจาก Serine ไกลซีนเป็นองค์ประกอบสำคัญของคอลลาเจน จึงช่วยให้ผิวพรรณเต่งตึง ไกลซีนเป็นสารสื่อประสาทชนิดยับยั้ง (inhibitory neurotransmitter) จึงช่วยลดอาการชักและการอาการทางจิตประสาทต่าง ๆ ไกลซีนช่วยสร้างน้ำดี กล้ามเนื้อ ดีเอนเอ อาร์เอนเอ ฯลฯ
    7. Proline, Pro, P ถูกสร้างจาก Glutamate โพรลีนเป็นองค์ประกอบคอลลาเจน จึงช่วยให้ข้อและเอ็นมีความยืดหยุ่น และลดการแข็งตัวของหลอดเลือด (arteriosclerosis) โพรลีนยังเป็น natural moisturizing factor (NMF) ที่ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น
    8. Tyrosine, Tyr, Y ถูกสร้างได้ 2 ทาง จากสาร prephenate และจากกรดอะมิโน Phenylalanine ไทโรซีนเป็นกรดอะมิโนที่มีวงแหวน ใช้สร้างสารสื่อประสาท Dopamine, Noradrenaline, Enkephalin และฮอร์โมน Thyroxin จึงช่วยให้ตื่นตัว ลดความกังวล ลดความเจ็บปวด ควบคุมเมตาบอลิซึม และช่วยสร้างเม็ดสีให้ผิวหนังและเส้นผม
  • กรดอะมิโนจำเป็น (Essential amino acids, วงแดงในรูปข้างบน) ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น อาหารที่มีกรดอะมิโนจำเป็นมากได้แก่ เนื้อสัตว์ เต้าหู้ ถั่ว นม ธัญพืช และไข่
    1. Histidine, His, H เป็นสารตั้งต้นที่ร่างกายใช้สร้าง histamine ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทตัวหนึ่ง Histidine จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมเซลล์ มันช่วยสร้างเม็ดเลือด ควบคุมการใช้แร่ธาตุจำเป็น เช่น เหล็ก ทองแดง โมลิบดีนัม สังกะสี แมงกานีส และยังช่วยจับธาตุโลหะที่เป็นพิษ เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม รวมทั้งสังกะสีและทองแดงส่วนเกินให้อยู่ในรูป metallothionein ที่ไม่เป็นพิษ
    2. ร่างกายต้องการ Histidine วันละ 10 mg/kg เช่น คนหนัก 70 kg จะต้องการวันละ 700 mg

    3. Isoleucine, Ile, I เป็นกรดอะมิโนแตกกิ่งที่ช่วยสร้างและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ มันมีอยู่มากในกล้ามเนื้อ เชื่อว่าเป็นแหล่งให้พลังงานสำหรับนักกีฬา Isoleucine มีส่วนช่วยสร้าง Hemoglobin และช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด ร่างกายต้องการ Isoleucine วันละ 20 mg/kg
    4. Leucine, Leu, L เป็นกรดอะมิโนแตกกิ่งเช่นเดียวกัน มีหน้าที่คล้าย Isoleucine เพราะมันเป็น isomer กัน แต่ Leucine ช่วยสลายไขมันด้วย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า Leucine กระตุ้นการเติบโตของกล้ามเนื้อและป้องกันการฝ่อของกล้ามเนื้อตามอายุได้มากกว่ากรดอะมิโนแตกกิ่งตัวอื่น ๆ ร่างกายต้องการ Leucine วันละ 39 mg/kg
    5. Lysine, Lys, K เป็นกรดอะมิโนที่ช่วยสร้างโปรตีน คอลลาเจน คาร์นิทีน (carnitine) ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนกรดไขมันให้เป็นพลังงาน อีกทั้งยังช่วยลดโคเลสเตอรอล Lysine ช่วยดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหารและลดการสูญเสียแคลเซียมออกทางปัสสาวะ จึงช่วยป้องกันภาวะกระดูกพรุน พบว่า Lysine ช่วยป้องกันการเกิดตุ่มเริม ช่วยให้แผลร้อนในในปากหายเร็วขึ้น เด็กที่ขาดไลซีนจะเตี้ย ผู้ใหญ่ที่ขาดไลซีนจะเหนื่อยง่าย ไม่มีสมาธิ ซีด ผมร่วง และมีปัญหาระบบสืบพันธุ์
    6. Arginine เป็นกรดอะมิโนที่ต้านการทำงานของ Lysine หากได้รับอาร์จินีนมากเกินไปจะทำให้มีอาการคล้ายขาดไลซีน การดูดซึม Lysine ต้องอาศัยวิตามิน B1, B2, B6, C, Glutamate และธาตุเหล็กช่วยดูดซึม ร่างกายต้องการ Lysine วันละ 30 mg/kg

    7. Methionine, Met, M เป็นกรดอะมิโนที่มีธาตุซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบเช่นเดียวกับ Cysteine เมไธโอนีนเป็นสารตัวกลางในขบวนการสร้างฟอสโฟไลปิด เป็นตัวกำจัดสารพิษในตับ เป็นกรดอะมิโนที่แพทย์ใช้รักษาภาวะซึมเศร้า ภาวะตับอักเสบ ภาวะปวดกล้ามเนื้อที่หาสาเหตุไม่ได้ และในผู้ที่ป่วยจากภาวะมีเอสโตรเจนในร่างกายสูงเกินไป (ไม่ได้สัดส่วนกับโปรเจสเตอโรน) Methionine ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล ป้องกันการเกิดนิ่วที่ไต ลดพิษโลหะหนัก ช่วยป้องกันผมร่วง และช่วยให้เล็บแข็งแรง
    8. Methionine, Homocysteine, Cysteine เป็นสารที่เปลี่ยนไปมาระหว่างกันได้ Homocysteine เป็นสารอันตรายของร่างกาย พบว่าการรับประทาน Methionine แต่น้อย เพียงวันละ 10 mg/kg จะช่วยให้อายุยืนนานขึ้น แต่หากขาด Methionine จะทำให้ตับอักเสบแบบ steatohepatitis ผมขาว โลหิตจาง

    9. Phenylalanine, Phe, F เป็นกรดอะมิโนที่มีวงแหวน เป็นสารตั้งต้นของ Tyrosine และ Adrenaline ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นสมอง หัวใจ และเมตาบอลิซึม การแพทย์ทางเลือกจึงมีการใช้ Phenylalanine รักษาภาวะซึมเศร้าและโรคพาร์กินสัน
    10. โรค Phenylketonuria (PKU) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ขาดเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยน Phenylalanine เป็น Tyrosine จึงมี Phenylalanine คั่งในร่างกาย หากไม่สามารถวินิจฉัยและรักษาภายใน 3 สัปดาห์แรกของชีวิตจะมีความพิการของสมองตลอดไป

      ร่างกายต้องการ Phenylalanine และ Tyrosine รวมกันวันละ 25 mg/kg

    11. Threonine, Thr, T เป็นกรดอะมิโนที่มีมากในสมอง จึงเชื่อว่ามันช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบประสาท Threonine ช่วยสร้าง Glycine และ Serine ซึ่งเป็นตัวช่วยสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน มันจึงช่วยสมานแผล และช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง Threonine ร่วมกับ Aspartate และ Methionine ช่วยตับสลายไขมันและลดการสะสมของไขมันที่ตับ Threonine ยังช่วยให้ต่อมไทมัสเจริญเติบโต ช่วยการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ช่วยสร้างน้ำย่อย และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
    12. การแพทย์ทางเลือกใช้ Threonine รักษาโรค Lou Gehrig's disease, Amyotrophic Lateral Sclerosis, Multiple Sclerosis ร่างกายต้องการ Threonine วันละ 15 mg/kg

    13. Tryptophan, Trp, W เป็นกรดอะมิโนที่มีวงแหวน และเป็นสารตั้งต้นของ niacin หรือวิตามิน B3 มันช่วยสร้าง Serotonin, Melatonin, เอนไซม์ และสารสื่อประสาทอื่น ๆ
    14. การแพทย์ทางเลือกใช้ Tryptophan รักษาโรคนอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า ไมเกรน และอาการผิดปกติของหญิงวัยหมดระดู (post menopausal syndrome) ร่างกายต้องการ Tryptophan เพียงวันละ 4 mg/kg

    15. Valine, Val, V เป็นกรดอะมิโนแตกกิ่ง มีอยู่มากในกล้ามเนื้อ นักกีฬาเพาะกายจะใช้กรดอะมิโนกลุ่มนี้ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ Valine เป็นสารตั้งต้นในขบวนการสังเคราะห์เพนิซิลิน และเป็นตัวยับยั้งตัวพา Tryptophan เข้าสมอง ผู้ป่วยไมเกรนจึงควรจำกัดอาหารที่มี Valine ช่วงที่ไมเกรนกำเริบ
    16. ร่างกายต้องการ Valine วันละ 26 mg/kg

ความแตกต่างของโปรตีนจากสัตว์และพืช

โปรตีนทั้งจากพืชและสัตว์มีข้อดี-ข้อเสียทั้งคู่ ดีที่สุดคือรับประทานคละกัน แต่สำหรับคนที่เลือกรับประทานควรทราบข้อดีและข้อด้อยของโปรตีนจากทั้งสองแหล่งนี้

  1. ปริมาณของกรดอะมิโนจำเป็น
  2. ทั้งพืชและสัตว์มีกรดอะมิโนจำเป็นครบ แต่พืชบางชนิดมีกรดอะมิโนบางตัวน้อยกว่าที่เราต้องการในหนึ่งวัน เช่น ในถั่วเปลือกแข็งมี Lysine ต่ำกว่า 100% RDI ในธัญพืชและเมล็ดพืชก็มี Lysine คาบเส้น ในผักใบมี Methionine Lysine Leucine และ Histidine ค่อนข้างน้อย

  3. สารอาหารอื่นที่เด่น
  4. โปรตีนจากสัตว์จะมีวิตามินบี 12, วิตามินดี, ธาตุเหล็ก, ธาตุสังกะสีมากกว่าโปรตีนจากพืช ในเนื้อปลายังมีโอเมกา-3 และกรดดีเอชเอ แต่โปรตีนจากสัตว์ก็มีไขมันอิ่มตัวกับโคเลสเตอรอลเพิ่มเข้าด้วย

    โปรตีนจากพืชจะมีวิตามินเอ เบตาแคโรทีน วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี ใยอาหารมากกว่าโปรตีนจากสัตว์ อีกทั้งยังไม่มีโคเลสเตอรอล นมถั่วเหลืองให้ธาตุเหล็ก แคลเซียม และสังกะสี แทนเนื้อสัตว์ได้

  5. ความสัมพันธ์กับการเกิดโรค
  6. - เนื้อวัวและเนื้อหมูแปรรูป (จำพวกไส้กรอก ไส้อั่ว หมูยอ กุนเชียง) สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง อัมพาต เบาหวาน และตายก่อนวัย
    - เนื้อไก่/เป็ด/สัตว์ปีก สัมพันธ์กับการเกิดโรคเกาท์
    - โปรตีนจากพืชไม่มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคใดใด

  7. ประโยชน์ต่อสุขภาพ
  8. - เนื้อปลา ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดัน อัมพาต เบาหวาน และตายก่อนวัย
    - Whey protein จากนม โยเกิร์ต ชีส ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดอาการปวดท้องบิดในทารก และช่วยสร้างกล้ามเนื้อในผู้ที่ออกกำลังกาย
    - โปรตีนจากพืชทุกชนิดลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ความดัน อัมพาต เบาหวาน และมะเร็ง อีกทั้งยังช่วยไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่ม

โดยสรุป เนื้อปลา นม ไข่ เป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่ดี พืชตระกูลถั่วทุกชนิดก็เป็นแหล่งโปรตีนจากพืชที่ดี หากจะเลือกแต่โปรตีนจากพืชเพียงอย่างเดียวควรรับประทานอย่างหลากหลายและให้มีปริมาณเพียงพอ

บรรณานุกรม

  1. "Protein." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (22 เมษายน 2563).
  2. "2.2 Proteins." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (22 เมษายน 2563).
  3. Jane Brown. 2017. "Animal vs Plant Protein - What's the Difference?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา HealthLine. (22 เมษายน 2563).
  4. "Are Animal Proteins Better for You Than Plant Proteins?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cedar-Sinai Blog. (22 เมษายน 2563).
  5. Felix Haurowitz & Daniel E. Koshland. 2020. "Protein" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Encyclopedia Britannica. (22 เมษายน 2563).
  6. "20 Amino Acids that Make Up Proteins." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Ajinomoto. (24 เมษายน 2563).
  7. "Amino Acids." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AminoAcidsGuide.com. (25 เมษายน 2563).
  8. "Nutrient Ranking Tool." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (26 เมษายน 2563).
  9. "amino acids." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (26 เมษายน 2563).