แป้งทนการย่อย (Resistant starch, RS)

แป้งทนการย่อยในบางตำราก็จัดเป็นใยอาหารอย่างหนึ่ง แต่ในบางตำราก็แยกออกมา แป้งทนการย่อย คือ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ร่างกายคนเราย่อยได้ไม่สมบูรณ์ มันจึงดูดซึมได้เพียงบางส่วนและเหลือผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่ ถูกแบคทีเรียหมักได้กรดไขมันสายสั้นเอามาใช้เป็นพลังงานต่อ คล้ายกับใยอาหาร แต่มีจุดเด่นต่างกันเล็กน้อย

แป้งทนการย่อยไม่ได้มีลักษณะเป็นผงแป้งสีขาวเหมือนแป้งที่เราใช้ทำอาหารทั่วไป แต่เป็นอณูที่ปะปนอยู่กับองค์ประกอบอื่นในอาหารจนแยกจากกันไม่ออก เราจำแนกแป้งทนการย่อยออกได้เป็น 5 ชนิด คือ

  1. RS1 คือ แป้งทนการย่อยที่มีผนังเซลล์และโปรตีนของพืชห่อหุ้มอยู่ น้ำย่อยไม่สามารถเข้าถึงได้ กลุ่มนี้จะอยู่ในธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง และเมล็ดพืช
  2. RS2 คือ แป้งทนการย่อยที่มีโครงสร้างเป็นผลึก (crystalline) น้ำย่อยทำลายยาก ได้แก่ แป้งในมันฝรั่งดิบ แป้งในกล้วยที่ยังไม่สุกดี แป้งในเม็ดแปะก๊วย และแป้งในข้าวโพด
  3. RS3 คือ แป้งทนการย่อยที่เกิดขึ้นจากแป้งในอาหารปกติที่ได้รับการปรุงสุกแล้วทิ้งไว้ให้เย็น ความร้อนทำให้แป้งเกาะตัวกันแน่นขึ้น เมื่อทิ้งให้เย็นแม้จะกลับมาอุ่นใหม่ แป้งเหล่านั้นจะย่อยยากขึ้น กลุ่มนี้จะพบมากในมันฝรั่งทอดกรอบ คอร์นเฟล็กซ์ พาสต้า มักกะโรนี และอาหารที่เป็นเส้นอบแห้งทั้งหลาย
  4. RS4 คือ แป้งทนการย่อยที่มาจากแป้งดัดแปลง (modified starch) พบมากในอาหารพวกขนมปัง เค้ก แป้งเหล่านี้บางชนิดมีโครงสร้างแบบ crosslink บางชนิดถูก etherisation หรือ esterification ทำให้ย่อยได้ไม่สมบูรณ์
  5. RS5 คือ แป้งทนการย่อยที่มีการเติม amylose–lipid complexes หรือ resistant maltodextrin ในขบวนการผลิตเพื่อให้มีความมันหรือความหวานเพิ่มขึ้น สารเหล่านี้เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยยาก

แป้งทนการย่อยชนิด RS1, RS2, และ RS3 เท่านั้นที่แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่หมักให้เป็นกรดไขมันสายสั้น* ได้

* กรดไขมันสายสั้น หรือ short chain fatty acid (SCFA) ได้แก่ acetate, propionate, butyrate, valerate, isobutyrate และ isovalerate

ประโยชน์ของแป้งทนการย่อยต่อสุขภาพ

เมื่อมันย่อยได้ไม่สมบูรณ์ แป้งทนการย่อยจึงให้พลังงานเพียง 2 kcal/กรัมของอาหาร (คาร์โบไฮเดรตทั่วไปให้พลังงาน 4 kcal/กรัมของอาหาร) กับอีก 9 kcal/กรัมของกรดไขมันสายสั้นที่แบคทีเรียสร้างให้เราในเวลาต่อมา กรดไขมันสายสั้นจะกระตุ้นให้ทางเดินอาหารหลั่งฮอร์โมนยับยั้งความอยากอาหาร เช่น leptin, glucagon-like peptide ด้วย แป้งทนการย่อยจึงช่วยให้เราควบคุมน้ำหนักได้ดีกว่าอาหารย่อยง่ายทั่วไป

ประโยชน์อื่นของแป้งทนการย่อยก็คล้ายกับประโยชน์ของใยอาหาร คือมันช่วยให้แบคทีเรียชนิดที่ให้คุณในลำไส้ใหญ่เจริญเติบโตดีและมีความหลากหลาย ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่างปกติ การขับถ่ายคล่องตัวขึ้น ลดการเกิดโรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel diseases) ลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome) ติ่งเนื้อ ถุงผนังลำไส้ (diverticula) ริดสีดวงทวาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่

แป้งทนการย่อยมีดัชนีน้ำตาลต่ำ จึงช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น มันช่วยให้เนื้อเยื่อส่วนปลายตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น กรดไขมันสายสั้นที่เป็นผลพลอยได้ยังช่วยลดการสลายไขมัน ทำให้ลดการเกิดขยะในหลอดเลือดและการอักเสบ จึงลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองได้ด้วย

ปริมาณแป้งทนการย่อยในอาหารต่าง ๆ

ยังไม่มีคำแนะนำถึงปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันของแป้งทนการย่อย แต่พบว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีอุบัติการณ์ของโรคหัวใจและมะเร็งสูง ประชากรรับประทานแป้งทนการย่อยโดยเฉลี่ย 3 กรัม/วัน ส่วนประเทศที่ยังไม่พัฒนาประชากรรับประทานแป้งทนการย่อยโดยเฉลี่ย 30-40 กรัม/วัน

แป้งทนการย่อยมีปริมาณเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและวิธีการปรุง และการวัดปริมาณทำได้ยาก จึงรวบรวมมาได้เพียงคร่าว ๆ

บรรณานุกรม

  1. "Resistant Starch." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (17 เมษายน 2563).
  2. "Resistant Starch." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (17 เมษายน 2563).
  3. "Resistant starch." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (17 เมษายน 2563).
  4. Diane F.Birt, et al. 2013. "Resistant Starch: Promise for Improving Human Health." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Adv Nutr. 2013;4(6):587–601. (17 เมษายน 2563).
  5. S. Lockyer & A.P. Nugent. 2017. "Health effects of resistant starch." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Bulletin 2017;42(1):10-41. (17 เมษายน 2563).