วัคซีนไข้เลือดออก (Dengue Vaccine)
โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DEN-1, DEN-2, DEN-3 และ DEN-4 โดยมียุงลาย (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค ยุงลายจะกัดคนในช่วงเวลากลางวัน และมักวางไข่ในน้ำใสที่นิ่ง เช่น ในกระถางต้นไม้หรือภาชนะใส่น้ำ
เมื่อคนติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง จะเกิดภูมิคุ้มกันถาวรต่อสายพันธุ์นั้น แต่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นเพียงชั่วคราว ส่งผลให้ผู้ที่เคยติดเชื้อสามารถกลับมาติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่นได้ และมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงมากขึ้น ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้กำจัดไวรัสเดงกีโดยเฉพาะ และวัคซีนที่ใช้ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา การควบคุมโรคจึงมุ่งเน้นที่การป้องกันการแพร่พันธุ์ของยุงลาย
📖 ประวัติการพัฒนาวัคซีน
การพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกมีอุปสรรคเนื่องจากภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อสายพันธุ์หนึ่งไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไข้เลือดออกรุนแรงเมื่อมีการติดเชื้อซ้ำ
แม้จะมีการเริ่มต้นพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ทศวรรษ 1920 แต่ความเข้าใจต่อกลไกการเกิดโรคยังไม่เพียงพอ ไวรัสเดงกีมีโครงสร้างซับซ้อน มีขนาดประมาณ 50 นาโนเมตร และประกอบด้วยสารพันธุกรรมประมาณ 11,644 นิวคลีโอไทด์ ที่สามารถผลิตโปรตีนหลายชนิด ได้แก่ Capsid, Envelope, Membrane และกลุ่ม Nonstructural Proteins (NS1 ถึง NS5) โดยเฉพาะ NS1 ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค
วัคซีนรุ่นแรกเป็นชนิด Monovalent ซึ่งป้องกันได้เพียงสายพันธุ์เดียว แต่เป้าหมายขององค์การอนามัยโลกคือต้องการวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ ปัจจุบันมีวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการวิจัยกว่า 7 ชนิด โดยมีเพียง 2 ชนิดที่ได้รับอนุมัติใช้อย่างเป็นทางการ คือ Dengvaxia® จากบริษัท Sanofi Pasteur ประเทศฝรั่งเศส และ Qdenga® จากบริษัท Takeda ประเทศญี่ปุ่น
Dengvaxia® เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ชนิดแรกของโลก ผลิตโดยใช้เทคโนโลยี recombinant DNA โดยนำยีน prM และ envelope ของไวรัสเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ไปแทรกในไวรัสไข้เหลืองสายพันธุ์ 17D ก่อนนำไปเพาะเลี้ยงในเซลล์ Vero จนได้วัคซีน CYD-TDV (Chimeric Yellow Fever Dengue Tetravalent Dengue Vaccine) ซึ่งได้รับอนุมัติครั้งแรกในปี ค.ศ. 2015 แต่ภายหลังพบว่า หากฉีดในผู้ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน อาจทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกรุนแรง
Qdenga® เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ที่ปรับปรุงให้ปลอดภัยกว่าเดิม สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเดงกีได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ (tetravalent) และใช้ได้ในกลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน จึงเหมาะกับการใช้งานในระดับประชากรทั่วไป
🏥 การใช้ในประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มใช้ Dengvaxia (CYD-TDV) ในปี พ.ศ. 2561 แบบมีเงื่อนไข โดยใช้กับเด็กอายุ 9–14 ปี ที่เคยติดเชื้อมาก่อน ส่วน Qdenga ได้รับอนุญาตให้ใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 สำหรับผู้ที่มีอายุ 4–60 ปี โดยไม่ต้องตรวจว่าติดเชื้อมาก่อน
วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกไม่ได้เป็นวัคซีนที่บังคับ (ฉีดฟรี) สำหรับเด็กไทย เนื่องจากราคายังสูง ผู้ที่ต้องการฉีดต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง
👤 ใครควรได้รับวัคซีน?
- ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ที่มียุงลายชุกชุม เช่น ประเทศไทย
- ผู้ที่เคยป่วยมาเล้ว 1 ครั้ง (เพราะอาการของไข้เลือดออกจะรุนแรงเมื่อป่วยครั้งที่ 2)
❌ ใครบ้างที่ไม่ควรฉีด?
เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็น จึงไม่ควรฉีดในผู้ป่วยเหล่านี้
- ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- ผู้ที่มีไข้สูงหรืออาการป่วยเฉียบพลัน
💉 วิธีฉีดวัคซีนแต่ละชนิด
ชื่อวัคซีน | วิธีฉีด | ใช้ได้ในช่วงอายุ |
Dengvaxia | ฉีดใต้ผิวหนัง 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน | 6-45 ปี (WHO แนะนำ 9-16 ปี ไทยใช้ 9-45 ปี) เฉพาะคนที่เคยติดเชื้อ |
Qdenga | ฉีดเข้ากล้าม 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน | ตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป (ไทยใช้ 4-60 ปี) ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิก่อน |
วิธีประเมินว่าเคยติดเชื้อมาก่อน
- สอบถามประวัติป่วยเป็นไข้เลือดออก
- ตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกัน (Dengue IgG)
- พิจารณาอายุของผู้รับวัคซีน (ในผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 25 ปี พบภูมิเดงกีมากกว่าร้อยละ 90 ดังนั้นผู้ใหญ่อาจพิจารณาฉีดวัคซีนไข้เลือดออกได้เลย)
Dengvaxia อยู่ในรูปแบบวัคซีนผงสีขาว พร้อมน้ำละลาย (0.9% NaCl) ขนาด 0.5 mL ควรเก็บในอุณหภูมิ 2–8 °C ห้ามแช่แข็งหรือสัมผัสแสงโดยตรง และหลังผสมแล้วต้องฉีดภายใน 6 ชั่วโมง
Qdenga อยู่ในรูปของวัคซีนชนิดน้ำใส พร้อมใช้ บรรจุในเข็มฉีดยาสำเร็จรูป ขนาด 0.5 mL ต่อเข็ม ต้องเขย่าเล็กน้อยก่อนใช้ และควรฉีดทันทีหลังเปิดบรรจุภัณฑ์ หากยังไม่ใช้ควรเก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 2–8 °C ห้ามแช่แข็ง และควรหลีกเลี่ยงการโดนแสงโดยตรง (เช่นเดียวกับวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ทั่วไป)
⚠️ ผลข้างเคียงที่อาจพบ
- ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด
- มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้
- ภาวะแพ้รุนแรง (พบน้อยมาก)
- ในผู้ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน หากฉีด Dengvaxia อาจเพิ่มความเสี่ยงไข้เลือดออกรุนแรง
📌 สรุป
- วัคซีนไม่สามารถป้องกันโรคได้ 100% การป้องกันไข้เลือดออกยังต้องอาศัยการป้องกันยุงกัดและการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงควบคู่กันไป
- วัคซีนไข้เลือดออกยังไม่อยู่ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของไทย จึงต้องชำระเงินเอง
- อาการของโรคไข้เลือดออกจะรุนแรงเมื่อติดเชื้อครั้งที่สอง วัคซีนพัฒนามาเพื่อป้องกันลดความรุนแรงของการติดเชื้อซ้ำเป็นหลัก
- วัคซีน Dengvaxia มีข้อจำกัดที่ต้องมีภูมิก่อน หากยังไม่มีภูมิ การฉีดวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์เข้าไปจะเสมือนเป็นการติดเชื้อครั้งแรก และเสี่ยงต่อการเกิดไข้เลือดออกรุนแรงเมื่อติดเชื้อครั้งที่สอง
- ส่วน Qdenga ใช้ง่ายกว่าเพราะฉีดเพียง 2 เข็ม และไม่ต้องตรวจภูมิก่อนฉีด เพราะมีการปรับปรุงโครงสร้างทางพันธุกรรมให้มีความปลอดภัยมากขึ้น
บรรณานุกรม
- "Dengue vaccine research
." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา WHO. (24 พฤษภาคม 2564).
- "Updated Questions and Answers related to the dengue vaccine Dengvaxia® and its use
." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา WHO. (24 พฤษภาคม 2564).
- "Dengue vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (24 พฤษภาคม 2564).
- "Guidance for the use of DengvaxiaTM." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (24 พฤษภาคม 2564).
- Josilene Ramos Pinheiro-Michelsen, et al. 2020. "Anti-dengue Vaccines: From Development to Clinical Trials." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Front. Immunol., 18 June 2020 (24 พฤษภาคม 2564).
- "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
- "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).