วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP Vaccine)

โรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน ล้วนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียคนละชนิด ได้แก่ Corynebacterium diphtheriae, Clostridium tetani และ Bordetella pertussis ตามลำดับ โดยโรคคอตีบและบาดทะยักเกิดจากสารพิษของเชื้อ (toxin) ส่วนไอกรนเกิดจากตัวเชื้อแบคทีเรียเอง

หลังจากที่มีวัคซีนทั้งสามชนิดใช้ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พบว่าวัคซีนทั้งสามมีจำนวนเข็มที่ต้องฉีดและระยะเวลาในการกระตุ้นที่ใกล้เคียงกัน จึงได้มีการพัฒนาให้สามารถบรรจุรวมกันในเข็มเดียวเพื่อให้ง่ายต่อการฉีดในเด็ก เรียกว่าวัคซีน DTP (Diptheria-Tetanus-Pertussis)

📖   ประวัติการพัฒนาวัคซีน

วัคซีนคอตีบและบาดทะยักได้รับการพัฒนาในปี ค.ศ. 1890 โดยนายแพทย์ Emil Behring ชาวเยอรมัน และนายแพทย์ Shibasaburo Kitasato ชาวญี่ปุ่น ทั้งคู่พบว่า antitoxin ที่ได้จากเลือดสัตว์ชนิดหนึ่งหลังรับเชื้อ C. diphtheriae หรือ C. tetani เข้าไป สามารถต้านพิษของแบคทีเรียทั้งสองในสัตว์ชนิดอื่นได้ ในปี ค.ศ. 1913 แบริงลองผลิตวัคซีนคอตีบโดยผสม toxin กับ antitoxin เข้าด้วยกันแล้วฉีดเข้าในคน พบว่าสามารถป้องกันโรคคอตีบได้ ปีถัดมาบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริมการผลิตจนสามารถใช้ได้ทั้งยุโรป

นายแพทย์แบริงเริ่มมีปัญหาสุขภาพ นายแพทย์คิตาซาโตะจึงเป็นหลักในการพัฒนาวัคซีนบาดทะยักต่อ ช่วงนั้นทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นโรคบาดทะยักกันมาก Edmond Nocard เข้ามาร่วมทีม ในปี ค.ศ. 1924 ทีมงานได้ทดลองฉีด tetanus toxoid ซึ่งทำจาก tetanus toxin ที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์เข้าในอาสาสมัคร 2 คน แล้วให้สัมผัสกับเชื้อ C. tetani 2 ครั้ง ต่างเวลากันในภายหลัง พบว่าอาสาสมัครทั้งคู่ไม่มีใครป่วยด้วยโรคบาดทะยักเลย tetanus toxoid จึงเริ่มวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1938 แล้วถูกรวมเข้ากับ diphtheria toxoid เป็น Td toxoid ในปีอีกสิบปีต่อมา

ด้านวัคซีนไอกรน นายแพทย์ชาวเบลเยียม Jules Bordet ผู้ค้นพบเชื้อ B. pertussis ได้ร่วมกับนักจุลชีววิทยา Octave Gengou พัฒนาวัคซีน whole cell ตัวแรกในปี ค.ศ. 1914 แม้มีประสิทธิภาพแต่ไม่เป็นที่นิยมเพราะผลข้างเคียงสูง ยิ่งในปี ค.ศ. 1949 มีการรวมวัคซีนไอกรนเข้ากับคอตีบและบาดทะยักเป็นวัคซีน "DPT" ทำให้พบผลข้างเคียงรุนแรงที่เกิดจาก whole cell antigen ของ pertussis ชัดขึ้น

ปี ค.ศ. 1974 ญี่ปุ่นสั่งระงับการใช้วัคซีนชุดนี้แล้วหันมาพัฒนาวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ (acellular pertussis) มาใช้เองในประเทศ เรียกว่า "DTaP" ซึ่งใช้เฉพาะบางส่วนของเชื้อ (คือ pertactin, fimbriae, FHA, และ toxin) ทำให้ปลอดภัยมากขึ้น จนได้รับการรับรองในหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ส่วนวัคซีน DPT ของเดิมก็ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เรียกใหม่ว่า "DTwP" (ชนิดทั้งเซลล์)

ต่อมาพบอีกว่า ผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะมีอาการข้างเคียงจากวัคซีนคอตีบและไอกรนมากกว่าเด็กเล็ก เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า จึงให้ลดปริมาณวัคซีนคอตีบและไอกรนลงสำหรับผู้ใหญ่ เรียกว่า "Tdap" ประกอบกับผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน DTP ในวัยเด็กที่ช่วยให้มีภูมิคุ้มกันต่อโรคเหล่านี้แล้ว การฉีดวัคซีนในปริมาณลดลงก็ยังเพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และช่วยลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง

🏥   การใช้ในประเทศไทย

ไทยเริ่มใช้วัคซีน DTwP ประมาณปี พ.ศ. 2492 แต่ฉีดไม่ครอบคลุม จนมีการรณรงค์ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2520 ปัจจุบันวัคซีน DTP เป็นวัคซีนพื้นฐานที่รัฐบาลจัดให้ฉีดฟรี ตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ โดยในเด็กจะฉีด 5 ครั้ง ที่อายุ 2, 4, 6 เดือน แล้วกระตุ้นอีก 2 ครั้งที่ 18 เดือน และ 4–6 ปี



💉   วิธีฉีดวัคซีนในแต่ละช่วงอายุ

อายุวัคซีนหมายเหตุ
แรกเกิด – 12 ปีDTP หรือวัคซีนรวม DTP-HB-Hibฉีด 5 เข็ม 2, 4, 6 เดือน
+ กระตุ้นที่ 15–18 เดือน, และ 4–6 ปี
12 ปีขึ้นไปdT หรือ Tdap กระตุ้นทุก 10 ปี หรือก่อนตั้งครรภ์ หรือมีบาดแผลเสี่ยง
ผู้ใหญ่ที่เกิดก่อนปี 2520 (1977)dT หรือ Tdap ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นหากไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
รับได้ฟรีที่สถานพยาบาลของรัฐ

ภูมิคุ้มกันเริ่มสร้างหลังเข็มแรก 2 สัปดาห์ เด็กที่ฉีดครบจะเป็นโรคน้อยกว่าคนไม่ฉีดถึง 30 เท่า ภูมิต่อคอตีบและบาดทะยักอยู่ได้นานกว่า 10 ปี ส่วนไอกรนอยู่ 2–5 ปี แต่ความรุนแรงของโรคลดลงเมื่อโตขึ้น เพราะหลอดลมมีขนาดกว้างขึ้น การตีบหรืออุดตันจากเสมหะเกิดน้อยลง

วัคซีน DTP เป็นวัคซีนน้ำ มีทั้งแบบเดี่ยวและแบบรวมที่มีวัคซีนตับอักเสบบี โปลิโอ หรือ Hib ด้วย วัคซีนของแต่ละบริษัทมีปริมาณแอนติเจนต่างกัน ดังรูปข้างล่าง แต่ฉีดเข้ากล้ามในปริมาณ 0.5 mL เท่ากัน วัคซีนทุกชนิดต้องเก็บในตู้เย็นที่ 2–8°C ห้ามแช่แข็ง และมีอายุประมาณ 2 ปีหากเก็บถูกวิธี

⚠️   ผลข้างเคียงที่อาจพบ

DTwP อาจมีผลข้างเคียง เช่น:

  • ไข้สูง > 40.5°C ภายใน 48 ชม. (0.3%)
  • ชักจากไข้ (0.06%)
  • ภาวะตัวอ่อนชั่วคราว (hypotonic hyporesponsive episodes, HHE) (0.06%)
  • Anaphylaxis (0.002%)
  • Guillain-Barré syndrome (พบได้น้อยมาก)
  • Brachial neuritis (พบได้น้อยมาก)

DTaP ลดอุบัติการณ์ผลข้างเคียงเหล่านี้ลง แต่เด็กอาจมีไข้ ปวด บวม บริเวณที่ฉีด ซึ่งมักหายภายใน 2 วัน

วัคซีน DTP มี adjuvant จึงต้องฉีดเข้ากล้ามให้ลึก หากฉีดตื้นเกินไปอาจเกิดฝีไร้เชื้อ (sterile abscess)

การฉีดวัคซีนบาดทะยักถี่เกินไปอาจทำให้เกิด Arthus reaction (บวม แดงเฉพาะที่มาก) ควรเว้นเข็มถัดไปอย่างน้อย 10 ปี

📌   สรุป

  • วัคซีน DTwP‑HB‑Hib รับได้ฟรีในโรงพยาบาลรัฐ
  • อายุเกิน 7 ปี หากจะฉีด ให้ใช้ขนาดของ d และ p
  • แต่ละช่วงวัยมีวิธีฉีดแตกต่างกัน ควรให้แพทย์ที่เชี่ยวชาญจัดให้

บรรณานุกรม

  1. "What is the History of Pertussis Vaccine Use in America?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา National Vaccine Information Center. (21 เมษายน 2564).
  2. "What is the History of Tetanus Vaccine Use in America?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา National Vaccine Information Center. (24 เมษายน 2564).
  3. Nicola P Klein. 2014. "Licensed pertussis vaccines in the United States." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Hum Vaccin Immunother. 2014;10(9):2684–2690. (21 เมษายน 2564).
  4. Stefan H. E. Kaufmann. "Remembering Emil von Behring: from Tetanus Treatment to Antibody Cooperation with Phagocytes." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Am Soc Microbio. DOI: 10.1128/mBio.00117-17. (24 เมษายน 2564).
  5. "DPT vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (21 เมษายน 2564).
  6. "Vaccinating Britain: Mass vaccination and the public since the Second World War." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NBCI. (24 เมษายน 2564).
  7. "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
  8. "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).