วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้า (Rota Vaccine)
กว่าหนึ่งศตวรรษที่โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้คร่าชีวิตเด็กเล็ก ๆ ทั่วโลกไปกว่า 6 แสนคนต่อปี โดยไม่มีใครหาเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุได้ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1973 Ruth Bishop และทีมงานได้พบไวรัสตัวใหม่ในเนื้อเยื่อลำไส้เล็กของเด็กที่ถ่ายเป็นน้ำ เขาส่องดูด้วยกล้องอิเล็กตรอนไมโครสโคป เห็นสิ่งมีชีวิตรูปร่างกลม ๆ คล้ายล้อ อยู่รวมกันเป็นจำนวนมากภายในไซโตพลาสซึมของเซลล์เยื่อบุ และยังพบในอุจจาระของเด็กรายนั้น เขาตั้งชื่อมันว่า "Rotavirus" (คำว่า rota ในภาษาลาติน แปลว่า wheel) ต่อมาพบว่าไวรัสโรต้าเป็น double-stranded RNA virus ในตระกูลของ Reoviridae มีสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคมีมากมาย และกระจายแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของโลก เด็กที่เป็นแล้วจึงอาจติดเชื้อซ้ำได้ แต่อาการครั้งหลัง ๆ จะน้อยลง จนแทบไม่มีอาการในผู้ใหญ่ แสดงว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นต่อสายพันธุ์หนึ่งสามารถลดอาการของการติดเชื้ออีกสายพันธุ์หนึ่งได้
เนื่องจากยังไม่มียาฆ่าไวรัส วัคซีนจึงเป็นความหวังหนึ่งเดียวของผู้เป็นพ่อแม่ แนวทางการพัฒนาวัคซีนโรต้าจะคล้ายกับวัคซีนโปลิโอ คือควรเป็นวัคซีนมีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนกำลัง (live attenuated vaccine) และให้ทางปาก (เลียนแบบการติดเชื้อในธรรมชาติ) และควรเป็นวัคซีนที่ครอบคลุมได้หลายมากกว่า 1 สายพันธุ์
สองทศวรรษแรกของการพัฒนา วัคซีนโรต้ายังป้องกันได้สายพันธุ์เดียว RotaShield® เป็นวัคซีนโรต้าตัวแรกที่ป้องกันได้ 3 สายพันธุ์ แต่ก็ถูกถอนทะเบียนหลังวางตลาดได้เพียง 1 ปี เพราะทำให้เกิดภาวะลำไส้กลืนกัน (Intussusception) ในเด็ก (โอกาสเกิดลําไส้กลืนกันสูงถึง 37 เท่าในช่วง 3-7 วันหลังจากได้วัคซีนโด๊สแรก) เชื่อว่าไวรัสโรต้าของลิง rhesus ที่ RotaShield® นำมาใช้ ทําให้เกิด hyperplasia ของ lymphoid tissue โดยเฉพาะที่ payer patch กลายเป็นตัวนําให้เกิดลําไส้กลืนกัน การพัฒนาวัคซีนโรต้าในเวลาต่อมาจึงเลิกใช้สายพันธุ์ที่มาจากลิง
วัคซีนป้องกันโรคไวรัสโรต้าที่มีใช้ในปัจจุบันมีต้นตอ คุณสมบัติ ขนาดและวิธีใช้ แบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้ 3 กลุ่ม ดังนี้
- Human-derived monovalent live-attenuated
oral vaccine เป็นวัคซีนที่พัฒนามาจากเชื้อไวรัสโรต้าของคน ได้แก่ Rotarix® ของบริษัท GSK ใช้สายพันธุ์ RIX4414 - G1P[8] ขนาดยา 1.5 mL/โด๊ส ใช้รับประทานจำนวน 2 โด๊ส ที่อายุ 2 และ 4 เดือน
นอกจากนั้นยังมี Rotavac® ของบริษัท Bharat Biotech International ใช้สายพันธุ์ 116E - G9P[11] ขนาดยา 0.5 mL/โด๊ส ใช้รับประทานจำนวน 3 โด๊ส ที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน
- Bovine-human reassortant pentavalent
live-attenuated oral vaccine เป็นวัคซีนที่พัฒนามาจากเชื้อไวรัสโรต้าสายพันธุ์จากวัว (Bovine rotavirus WC3 strain) มา reassorted กับเชื้อไวรัสโรต้าสายพันธุ์ของคน ได้แก่ RotaTeq® ของบริษัท MSD (ใช้สายพันธุ์ G1, G2, G3, G4 และ P[8] ของคน) ขนาดยา 2.0 mL/โด๊ส ใช้รับประทานจำนวน 3 โด๊ส ที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน
นอกจากนั้นยังมี Rotasiil® ของ Serum Institute of India (ใช้สายพันธุ์ G1, G2, G3, G4 และ G9 ของคน) วัคซีนนี้เป็นผงแห้ง (Freeze-dried) ต้องทำละลายด้วยน้ำยาทำละลายก่อน ขนาดยา 2.5 mL/โด๊ส ใช้รับประทานจำนวน 3 โด๊ส ที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน
- Lamb-derived, monovalent live-attenuated
oral vaccine ได้แก่วัคซีนของ Lanzhou Institute of
Biomedical Products ประเทศจีน พัฒนามาจากเชื้อไวรัสโรต้าของแกะ สายพันธุ์ G10P[12] ให้โดยการรับประทาน 3 ครั้ง ที่อายุ 2, 4 และ 6 เดือน พบว่ามีภูมิคุ้มกันหลังให้วัคซีน ร้อยละ 60
วัคซีนโรต้าทุกชนิดต้องเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8°C ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง
วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้าเป็นวัคซีนที่ให้ทางปากได้อย่างเดียว ห้ามฉีดโดยเด็ดขาด สามารถให้แก่เด็กในช่วงอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ ถึงประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นไม่จำเป็น เพราะเด็กจะสร้างภูมิต้านทานเอง อีกทั้งเด็กช่วงอายุ 5-12 เดือนเป็นช่วงที่มีโอกาสเกิดลำไส้กลืนกันตามธรรมชาติได้มากที่สุด จึงไม่ควรรับวัคซีนหลังอายุ 6 เดือนไปแล้ว วัคซีนโรต้าสามารถให้กินพร้อมกับวัคซีนโปลิโอชนิดกินได้ แต่ไม่ควรผสมกันก่อนเข้าปาก
ห้ามให้วัคซีนโรต้าใน
- เด็กที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง
- เด็กที่มีประวัติเคยเป็นโรคลําไส้กลืนกัน
- เด็กที่มีระบบทางเดินอาหารผิดปกติแต่กําเนิดที่ยังไม่ได้รับการรักษา เช่น Meckel's diverticulum
ปฏิกิริยาจากวัคซีนที่อาจพบ ได้แก่ ไข้ เบื่ออาหาร ท้องร่วง อาเจียน งอแง แต่ส่วนใหญ่จะทนต่อวัคซีนได้ดี อาการอื่นที่อาจพบ ได้แก่ ท้องอืด ปวดท้อง และผิวหนังอักเสบ ไม่พบการเกิดลําไส้กลืนกันเพิ่มขึ้น
หลังจากได้รับวัคซีนแล้วเด็กอาจขับถ่ายเชื้อจากวัคซีนออกมาในอุจจาระได้หลายวัน ผู้ดูแลเด็กต้องล้างมือตนเองเสมอหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก และหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคแล้ว เด็กยังคงมีโอกาสเกิดโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักจะไม่รุนแรง และควรให้กินต่อจนครบตามจํานวนครั้งที่แนะนํา
สำหรับประเทศไทยได้เปลี่ยนมาให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้าแก่เด็กทุกคนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 (ก่อนหน้านี้เป็นวัคซีนทางเลือก)
บรรณานุกรม
- Ruth Bishop. 2009. "Discovery of rotavirus: Implications for child health." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J Gastroenterol Hepatol. 2009;24 Suppl 3:S81-5. (28 เมษายน 2564).
- "Rotavirus." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CDC. (28 เมษายน 2564).
- Penelope H. Dennehy. "Rotavirus Vaccines: an Overview." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Clinical Microbiology Reviews. (28 เมษายน 2564).
- Miguel O'Ryan. 2017. "Rotavirus Vaccines: a story of success with challenges ahead" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา F1000Res. 2017;6:1517. (28 เมษายน 2564).
- "Rotavirus vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (28 เมษายน 2564).
- "แนวทางการให้วัคซีนโรต้า
ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (27 เมษายน 2564).
- "ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (21 เมษายน 2564).
- "ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. (20 เมษายน 2564).