วัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ (Typhoid Vaccine)

ไข้ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ รูปแท่ง ชื่อ Salmonella typhi จัดอยู่ใน group D ของตระกูลแซลโมเนลลา มีขา (flagellum) จึงเคลื่อนไหวได้ดี สามารถสร้างสาร invasin เพื่อพาตัวเองเข้าไปเจริญในเซลล์ได้ (ยาที่จะทําลายเชื้อ จึงต้องผ่านเข้าเซลล์ได้ดี) บางสายพันธุ์มี Vi antigen ซึ่งทำให้มีความรุนแรง เชื้อมีความสามารถพิเศษที่จะเลือกกระตุ้นหรือยับยั้งการอักเสบในบริเวณที่ติดเชื้อ ขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ว่าจะเอื้อต่อการดํารงชีพของมันเช่นไร

ปกติเชื้อ S. typhi อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคน (ไม่พบ reservoir host อื่น นอกจากคน) เชื้อออกมากับอุจจาระ ซึ่งอาจปนเปื้อนในน้ำและอาหาร ผู้ที่รับประทานเข้าไปส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการน้อย (กรดในกระเพาะสามารถทำลายเชื้อได้ส่วนหนึ่ง ผู้ที่กินยาลดกรดเป็นประจำจะติดเชื้อง่ายขึ้น) หากอาการรุนแรงก็จะมีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดท้อง อาเจียน บางรายมีท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด ไปจนถึงลำไส้ทะลุ อย่างไรก็ตาม โรคไข้ไทฟอยด์นี้พบน้อยลงในประเทศที่มีสุขอนามัยดีขึ้น (มีส้วมและน้ำดื่มที่สะอาด) ร่วมกับมียาปฏิชีวนะรักษาไข้ไทฟอยด์ได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การวินิจฉัยโรค เพราะช่วงแรกโรคดำเนินไปช้า จะมีแต่ไข้และอ่อนเพลีย ผลตรวจเลือดก็ยังไม่ชัดเจน จนกระทั่งโรคลุกลามจึงจะวินิจฉัยได้ ดังนั้น วัคซีนป้องกันโรคจึงจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เราอยู่กับเชื้อตัวนี้ได้โดยไม่ป่วย

ในปี ค.ศ. 1896 Sir Almroth Edward Wright และคณะ ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ตัวแรกสำเร็จ เป็น heat- and phenol- killed whole-cell S. typhi vaccine ชนิดฉีด เคยใช้ในกองทัพอังกฤษและอเมริกัน แต่ด้วยผลข้างเคียงที่สูงถึง 34% (มีไข้ ปวดตัว) วัคซีนชนิดนี้จึงไม่ได้ใช้กับประชาชนทั่วไป การพัฒนาวัคซีนทิ้งช่วงมาเกือบหนึ่งศตวรรษ เพราะเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของยาปฏิชีวนะ รวมทั้งการพัฒนาด้านสุขาภิบาล จนเมื่อเชื้อเริ่มดื้อยา วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์จึงกลับมาในความสนใจอีกครั้ง

วัคซีนรุ่นที่สองเป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์แบบกิน (live oral attenuated Salmonella vaccine) ออกมาในปี ค.ศ. 1983 โดยบริษัท Berna Biotech ใช้สายพันธุ์ Ty2 ที่ไม่มียีน galactose-epimerase (galE) และไม่มี Vi capsular antigen (จึงเชื่อว่าไม่รุนแรง) วัคซีนอยู่ในรูปน้ำและแคปซูล ใช้ชื่อการค้าว่า Vivotif® แต่วงการแพทย์ชอบเรียกว่า "Ty21a" วิธีใช้ให้รับประทาน 1 แคปซูล วันเว้นวัน จนครบ 4 แคปซูล มีประสิทธิภาพในการป้องกันไข้ไทฟอยด์ได้ 67-96% และไข้พาราไทฟอยด์ได้ 42-56% ภายใน 3 ปีแรก ภูมิคุ้มกันอยู่ได้ประมาณ 7 ปี ข้อเสียคือห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี และวัคซีนถูกทำลายได้ง่ายด้วยกรดในกระเพาะ จึงต้องรับประทานตอนท้องว่าง

วัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์รุ่นที่สามเป็น Vi capsular polysaccharide vaccine (ViCPSV) ชนิดฉีด ออกมาในปี ค.ศ. 1994 ได้แก่ Typhim® ของ Sanofi-Pasteur, Typbar® ของ Bharat Biotech, และ Typherix ® ของ GlaxoSmithKline ใช้ฉีดเข้ากล้ามเพียง 1 เข็ม วัคซีนชนิดนี้ป้องกันโรคได้ 64-75% ในช่วง 20 เดือนแรกหลังฉีด และลดลงเหลือ 55% เมื่อเข้าสู่ปีที่สาม ข้อเสียของโพลีแซคคาไรด์วัคซีน คือ ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันระยะยาวในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีได้ และที่สำคัญเชื้อ S. typhi หลายสายพันธุ์ไม่มี Vi antigen (โดยเฉพาะแถบเมืองกัลกัตตา การาจี จาร์กาตา) วัคซีนจึงไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เหล่านี้

วัคซีนรุ่นที่สี่เป็น Typhoid conjugate vaccine (TCV) โดยใช้ Vi polysaccharide จับกับพาหะโปรตีน ซึ่งอาจเป็น diphtheria toxoid หรือ tetanus toxoid ตัวแรกที่ออกมาในปี ค.ศ. 2013 คือ Typbar TCV® ของ Bharat Biotech จากนั้นก็ออกมาอีกหลายตัว แต่มีใช้เฉพาะประเทศอินเดีย สองตัวหลังที่น่าสนใจแต่ยังอยู่ในการศึกษาวิจัย คือ Vi-rEPA ที่ใช้ Vi-polysaccharide จับกับ recombinant A subunit ของเชื้อ Pseudomonas aeruginosa exoprotein (rEPA) และ Vi-CRM197 ที่ใช้ Vi-polysaccharide จากเชื้อ Citrobacter freundii WR7011 จับกับ CRM197 ซึ่งเป็น nontoxic mutant ของ diphtheria toxoid

สำหรับประเทศไทยแนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์เฉพาะเมื่อจะเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เช่น อินเดีย แอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกากลาง โดยอาจใช้แบบกิน (Vivotif®) หรือแบบฉีด (ViCPSV) ก็ได้ แต่ควรได้รับก่อนที่จะออกเดินทางประมาณ 1 เดือน และควรได้รับการกระตุ้นซ้ำทุก 3 ปี หากต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน

บรรณานุกรม

  1. "Typhoid Fever ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา historyofvaccines.org. (24 พฤษภาคม 2564).
  2. "Typhoid fever." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (24 พฤษภาคม 2564).
  3. "Typhoid vaccine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (25 พฤษภาคม 2564).
  4. Sandhya A. Marathe, et al. 2012. "Typhoid fever & vaccine development: a partially answered question." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Indian J Med Res. 2012;135(2):161–169. (25 พฤษภาคม 2564).
  5. Khalid Ali Syed, et al. 2020. "Review on the Recent Advances on Typhoid Vaccine Development and Challenges Ahead." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Clin Inf Dis. 2020;71(Suppl 2):S141–S150. (25 พฤษภาคม 2564).