วิตามิน B12 (Cobalamin)

วิตามิน B12 เป็นกลุ่มสารประกอบขนาดใหญ่ที่มีธาตุโคบอลต์ผสมอยู่ด้วย จึงเป็นที่มาของชื่อโคบาลามิน รูปที่พบในร่างกายมนุษย์ คือ methylcobalamin และ 5-deoxyadenosylcobalamin ส่วน cyanocobalamin และ hydroxocobalamin เป็นรูปที่มนุษย์เติมลงในแป้งและธัญพืชเพื่อให้มีสารอาหารครบ เมื่อเข้าไปในร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น methylcobalamin และ 5-deoxyadenosylcobalamin เพื่อออกฤทธิ์

โคบาลามินต่างจากวิตามินบีอื่น ๆ ตรงที่มันสามารถเก็บสะสมไว้ในร่างกายนานหลายปี ปริมาณที่เราต้องการต่อวันจึงน้อยกว่าวิตามินอื่นมาก ความจริงเราสามารถรับประทานรวมกันสัปดาห์ละครั้งก็พอ นอกจากนั้นโคบาลามินยังถูกสร้างจากจุลชีพเท่านั้น จุลชีพเหล่านี้อยู่ในเนื้อสัตว์ทุกชนิด เห็ดทุกชนิด และอาหารที่หมักด้วยยีสต์หรือแบคทีเรีย หากเราไม่รับประทานอาหารเหล่านี้เลย เราจำเป็นต้องได้รับวิตามิน B12 ในรูปเม็ดยาอย่างน้อย 500 ไมโครกรัมสัปดาห์ละครั้ง

หน่วยวัดปริมาณวิตามิน B12

หน่วยวัดปริมาณวิตามิน B12 ใช้เป็นไมโครกรัม (mcg) ร่างกายต้องการเฉลี่ยวันละ 2.4 ไมโครกรัม

การดูดซึมวิตามิน B12

ไม่มีวิตามินตัวไหนที่การดูดซึมมาใช้งานยุ่งยากเท่าโคบาลามิน การดูดซึมของโคบาลามินมี 6 ขั้นตอน และ 9 จุดเกิดโรคที่สามารถทำลายการได้รับโคบาลามินเข้าร่างกาย

6 ขั้นตอนการดูดซึม ได้แก่

  1. เนื่องจากโคบาลามิน (Cbl) มีโครงสร้างใหญ่ และจับแน่นกับโปรตีน (P) ในเนื้อสัตว์ อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่เรารับประทานเข้าไปจึงต้องถูกกรดไฮโดรคลอริก (HCl) และน้ำย่อยเป็ปซินในกระเพาะย่อยออกมาก่อน
  2. เมื่อแยกจากโปรตีนแล้ว โคบาลามินต้องมี Haptocorrin ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่า R-protein (R) เป็นโปรตีนตัวพาไปถึงลำไส้เล็กส่วนต้น Haptocorrin นี้เราสร้างได้เองในน้ำลายและน้ำย่อยกระเพาะ ในน้ำดีก็มี Cbl-R หลั่งออกมาจากถุงน้ำดีวันละ 5-10 ไมโครกรัม เพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
  3. ที่ดูโอดีนั่ม น้ำย่อย protease จากตับอ่อนจะแตก R-protein ออกจากโคบาลามิน
  4. ที่เจจูนั่ม Intrinsic Factor (IF) จากกระเพาะอาหารที่ตามมาด้วยจะรับพาโคบาลามินมาส่งถึงลำไส้เล็กส่วนปลาย (ileum)
  5. ที่ไอเลี่ยมจะมีตัวรับ IF ชื่อ cubilin เป็นตัวแยกโคบาลามินออกมา โคบาลามินอิสระจะถูกดูดซึมเข้าหลอดเลือดดำพอร์ทัล แล้วจับกับตัวพาอีกชุดหนึ่ง (transcobalamin I, II, III)
  6. ทรานส์โคบาลามิน (TCI, II, III) ส่งโคบาลามินเข้าเซลล์เพื่อแตกเป็น adenosylcobalamin และ methylcobalamin มาใช้งาน

ขั้นตอนทั้งหมดทำให้โคบาลามินในอาหารดูดซึมเพียงมื้อละ 1.5-2.0 mcg [11] ซึ่งอาจเป็นเพราะ intrinsic factor และตัวรับ cubilin มีจำกัด (หรือร่างกายต้องใช้เพียงแค่นั้น จึงสร้างระบบมาให้เป็นแบบนี้) โคบาลามินส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมจะออกมาทางอุจจาระ ส่วนที่ดูดซึมแล้วสามารถหมุนเวียนมาใช้งานและเก็บไว้ที่ตับ เหลือออกมาในปัสสาวะน้อยมาก (ไม่เหมือนวิตามินที่ละลายในน้ำตัวอื่น ซึ่งส่วนเกินจะถูกขับออกทางปัสสาวะทุกวัน)

บทบาทของวิตามิน B12

โคบาลามินเป็นปัจจัยร่วมของเอนไซม์ 2 ตัว คือ L-methylmalonyl-coenzyme A mutase และ methionine synthase ซึ่งทั้งสองตัวเกี่ยวข้องกับขบวนการสำคัญของร่างกายตั้งแต่การสร้างพลังงานในวัฏจักรเครบส์ การสร้างเม็ดเลือดแดง การสร้างกรดอะมิโน โปรตีน ไขมัน ฮอร์โมน DNA RNA การรักษาสภาพของเยื่อหุ้มเซลล์และปลอกประสาท (myelin sheath) การดูดซึมแคโรทีนและเปลี่ยนแคโรทีนเป็นวิตามิน A ไปจนถึงการละลายพิษของไซยาไนด์ (cyanide) ซึ่งเป็นสารพิษที่อาจพบในอาหารและบุหรี่

โคบาลามินยังทำหน้าที่ร่วมกับโฟเลตและไพริด็อกซีนในการควบคุมระดับ Homocysteine ในเลือด (Homocysteine เป็นปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดอุดตันที่หัวใจ สมอง ปลายมือปลายเท้า)

แหล่งของวิตามิน B12 ในธรรมชาติ

วิตามิน B12 เป็นสารอาหารชนิดเดียวที่ไม่มีในพืช ยกเว้นสาหร่ายและเห็ดซึ่งมีเพียงเล็กน้อย เพราะมันถูกสร้างจากแบคทีเรียที่อยู่ในตัวสัตว์ จึงมีในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (ไข่ นม ชีส ยีสต์) รวมทั้งอาหารหมักทั้งหลาย เช่น เทมเป้ (ถั่วเหลืองหมักของอินโดนีเซีย), กะปิ, เต้าเจี้ยว, ถั่วเน่าของภาคเหนือ, ผักดอง, ซีอิ๊ว, น้ำปลา, ฯลฯ

แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ของคนเราก็สร้างวิตามิน B12 ได้ แต่ร่างกายเราดูดซึมไม่ได้เพราะมันอยู่เลยตำแหน่งกระเพาะที่สร้าง intrinsic factor และตำแหน่งดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนปลายไปแล้ว

โชคดีที่วิตามิน B12 สามารถเก็บสะสมได้มากที่ตับ เมื่อร่างกายขาด ตับจะค่อย ๆ ปล่อยออกมาใช้ กว่าจะหมดใช้เวลา 3-5 ปี [12] ผู้ถือมังสวิรัติที่รับประทานไข่ นม เต้าหู้ นมถั่วเหลือง สาหร่าย เห็ด อาหารหมัก (ถั่วเน่า ข้าวหมัก เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว นัตโตะ แหนมเจ เทมเป้) และธัญพืชที่เติมวิตามิน B12 ทุกวันมักไม่ขาดวิตามิน B12 หากไม่กินเลยแนะนำให้เสริมวิตามิน B12 แบบเม็ดขนาด 10 ไมโครกรัมทุกวัน หรือ 2000 ไมโครกรัมสัปดาห์ละครั้ง

ภาวะขาดวิตามิน B12

จากรูปแสดงการดูดซึมโคบาลามินข้างต้น   เก้าจุดที่สามารถทำให้เกิดภาวะขาดวิตามิน B12 ได้แก่

  1. รับประทานไม่พอ มักพบในผู้ถือมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด
  2. ได้รับก๊าซ Nitrous oxide ในระหว่างที่ผ่าตัดแบบดมยาสลบ เพราะก๊าซนี้ยับยั้งการออกฤทธิ์ของโคบาลามินในเซลล์หลายจุด
  3. ภาวะกระเพาะไม่มีกรดออกมาย่อยโปรตีนที่โคบาลามินจับในอาหาร มักพบในผู้ที่รับประทานยาลดกรดเป็นประจำ หรือในผู้ที่เป็นโรคผนังกระเพาะฝ่อ (Atrophic gastritis)
  4. ไม่มี intrinsic factor จากโรค Atrophic gastritis หรือถูกผ่าตัดกระเพาะออกไป หรือมี antibodies ต่อ parietal cell ที่สร้าง intrinsic factor หรือมี antibodies ต่อ intrinsic factor โดยตรง (คนสูงอายุก็สร้าง intrinsic factor ได้ลดลง จึงเสี่ยงต่อภาวะขาดวิตามิน B12 ด้วย)
  5. ภาวะที่ตับอ่อนไม่หลั่งน้ำย่อย protease มักพบในผู้ที่มีตับอ่อนอักเสบ หรือเป็นมะเร็งตับอ่อน
  6. มีแบคทีเรียหรือพยาธิในลำไส้จำนวนมาก จนมาแย่งใช้โคบาลามินไปก่อนที่จะดูดซึม
  7. ถูกตัดลำไส้เล็กส่วนปลายออกไป (ตรงนี้เป็นจุดที่ดูดซึมโคบาลามิน)
  8. มีโรคทางพันธุกรรมที่ขาดตัวพา transcobalamin ในเลือดเข้าเซลล์
  9. มีโรคทางพันธุกรรมที่ยับยั้งเมตาบอลิซึมของโคบาลามินที่พร้อมจะออกฤทธิ์

* ยาลดกรด, ยาคุมกำเนิด, metformin, colchicine, phenytoin, cholestyramine, vitamin C, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดการดูดซึมของโคบาลามินโดยไม่ทราบกลไก

ผู้ที่ขาดวิตามิน B12 จะเกิดภาวะโลหิตจางที่เรียกว่า pernicious anemia (เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่คล้ายการขาดโฟเลต) เจ็บลิ้น มีแผลในปาก เบื่ออาหาร ท้องผูก เหน็บชา ไม่มีแรง เดินลำบาก ความจำเสื่อม สับสน อาการจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ในเวลาหลายปี

ทารกในครรภ์ของมารดาที่มีระดับวิตามิน B12 ต่ำอาจพบความผิดปกติของไขสันหลัง (neural tube defects, NTDs) ได้เช่นเดียวกับการขาดโฟเลต ในวัยเด็กจะโตช้า มีพัฒนาการช้า ซีด กล้ามเนื้อกระตุกหรือสั่นเป็นพัก ๆ

ภาวะขาดวิตามิน B12 วินิจฉัยจาก

* อาจสูงขึ้นได้ในภาวะไตเสื่อม ขาดโฟเลต และขาดวิตามิน B6

การรักษาจะให้วิตามิน B12 รับประทาน 1000 mcg/วัน x 1 เดือน ตามด้วย 125-500 mcg/วัน เป็นเวลานาน (จนกว่าจะมั่นใจว่ารับประทานจากอาหารได้เพียงพอ)

ถ้าเป็นจากการขาดตัวพาตัวใดตัวหนึ่งต้องให้ในรูปฉีด โดยจะฉีดเข้ากล้าม 1000 mcg ทุกวัน x 7 วัน ตามด้วย 1000 mcg สัปดาห์ละครั้ง x 4 สัปดาห์ จากนั้นฉีด 1000 mcg เดือนละครั้ง ตลอดไป

ระหว่างรักษาควรรับประทานกรดโฟลิกและวิตามิน B6 ร่วมไปด้วย

พิษของวิตามิน B12

พิษของวิตามิน B12 พบได้น้อย แต่มีรายงานว่าทำให้เกิดสิว ผิวหน้าหยาบ กังวล ใจสั่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ในรายที่ได้รับวิตามิน B12 เสริมขนาด 1000 mcg/วัน พอหยุดยาอาการเหล่านี้ก็หายไป

บรรณานุกรม

  1. "Vitamin B12 (Cyanocobalamin)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (10 มีนาคม 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Unit Conversions." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา USDA. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  5. "11.2 Vitamin B12." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (7 มีนาคม 2563).
  6. "Vitamin B12." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (7 กุมภาพันธ์ 2563).
  7. "Vitamin B12." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (7 มีนาคม 2563).
  8. "Vitamin B12." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (7 มีนาคม 2563).
  9. "vitamin B12 - cobalamin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (7 มีนาคม 2563).
  10. "Vitamin B12." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา วงการแพทย์. (7 กุมภาพันธ์ 2563).
  11. Gianluca Rizzo, et al. 2016. "Vitamin B12 among Vegetarians: Status, Assessment and Supplementation." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrients. 2016 Dec; 8(12):767. (8 กุมภาพันธ์ 2563).
  12. Larry E. Johnson. 2019. "Vitamin B12 Deficiency." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (8 กุมภาพันธ์ 2563).
  13. Emmanuel Andrès, et al. 2019. "Vitamin B12 (cobalamin) deficiency in elderly patients." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา CMAJ. 2004;171(3):251-259. (7 มีนาคม 2563).
  14. Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Vitamin B12." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (7 มีนาคม 2563).