วิตามิน B2 (Riboflavin)
ไรโบฟลาวิน มาจากคำว่า flavus ในภาษาลาติน แปลว่า สีเหลือง เป็นสารที่มีคุณสมบัติเรืองแสงเมื่อถูกแสง ultraviolet ในธรรมชาติร้อยละ 90 อยู่ในรูป flavin mononucleotide (FMN) และ flavin adenine dinucleotide (FAD) ที่เหลืออยู่ในรูปไรโบฟลาวินอิสระ ทั้ง FMN และ FAD เป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญในขบวนการเผาผลาญอาหารของคน
ร่างกายเราดูดซึมไรโบฟลาวินที่ลำไส้เล็กส่วนต้น แต่จะดูดซึมเท่าที่ต้องการใช้งานเท่านั้น หากรับประทานมากเกินไปจะไม่ดูดซึม หรือดูดซึมแต่ถูกขับทิ้งทางปัสสาวะ สีเหลืองของปัสสาวะส่วนหนึ่งมาจากสีของไรโบฟลาวินที่ถูกขับทิ้ง แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ของคนเราก็ผลิตไรโบฟลาวินได้ และสามารถดูดซึมที่ลำไส้ใหญ่หากปริมาณที่เรารับประทานเข้าไปไม่เพียงพอ
หน่วยวัดปริมาณวิตามิน B2
ปริมาณไรโบฟลาวินในอาหารและยาจะวัดเป็น มิลลิกรัม (mg) ส่วนปริมาณไรโบฟลาวินในร่างกายต้องวัดจากปริมาณการขับออกมาทางปัสสาวะ (24-hr urine riboflavin) ปกติควร > 120 mcg/วัน ค่านี้แสดงว่ารับประทานเพียงพอจนร่างกายขับทิ้ง หากค่า < 40 mcg/วัน ถือว่าอาจรับประทานน้อยไปในมื้อนั้น ปริมาณไรโบฟลาวินในปัสสาวะไม่สามารถบอกถึงสถานะการทำงานของไรโบฟลาวินในร่างกายในระยะยาวได้ ต้องตรวจสถานะของ erythrocyte glutathione reductase activity coefficient (EGRAC) เมื่อผสมกับเลือดของผู้ป่วยภายนอกร่างกายแทน Glutathione reductase เป็นเอนไซม์ที่แย่ง FAD ทำงาน หากในเลือดมี FAD พอ ค่า EGRAC ควร < 1.2 EGRAC ที่ > 1.4 ถือว่าร่างกายขาด FAD
บทบาทของวิตามิน B2
ไรโบฟลาวินอิสระจากอาหารและที่แบคทีเรียสร้างจะถูกเปลี่ยนเป็น FMN และ FAD ภายในเซลล์ โดยอาศัย ATP ปฏิกิริยานี้สามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ ขึ้นกับว่าร่างกายต้องการใช้สารตัวใด บทบาทของวิตามิน B2 ได้แก่
- ร่วมกับวิตามิน B ตัวอื่น ๆ ช่วยสร้างพลังงาน โดย
- เป็นเอนไซม์ร่วมในขบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน (ลูกศรสีแดง 3 อันบนในรูป) ให้เป็น acetyl CoA เพื่อเข้าสู่วัฏจักรเคร็บส์สร้างพลังงาน
- FAD เป็นเอนไซม์ตัวเดียวที่ใช้เปลี่ยน succinate เป็น fumarate ถ้าขาดวิตามิน B2 วัฏจักรเคร็บส์จะทำงานไม่ได้
- ร่วมกับวิตามิน B3 ในขบวนการ electron transport chain เพื่อสร้างพลังงาน (ลูกลูกศรสีแดง 2 อันล่างในรูป)
- ช่วยต้านอนุมูลอิสระ โดย
- เปลี่ยน oxidized glutathione ที่ให้ไฮโดรเจนอิออนแก่อนุมูลอิสระไปแล้ว กลับมาเป็น reduced glutathione ที่ใช้งานได้เหมือนเดิม
- เปลี่ยน hypoxanthine และ xanthine เป็นกรดยูริค ซึ่งกรดยูริคเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพมากในเลือดตัวหนึ่ง
- ช่วยในการทำงานของวิตามินตัวอื่น
- ช่วยรีไซเคิลโฟเลตมาใช้ใหม่
- ร่วมกับวิตามิน B12 เปลี่ยน homocysteine เป็น methionine เพื่อควบคุมสมดุลของ homocysteine ในเลือด
- เปลี่ยนวิตามิน B6 ไปเป็น pyridoxal 5’-phosphate ที่ออกฤทธิ์
- เปลี่ยน tryptophan เป็น niacin หรือวิตามิน B3
- เปลี่ยน retinol (vitamin A) เป็น retinoic acid เพื่อทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลภายในเซลล์
- ช่วยดูดซึมธาตุเหล็กและนำพาธาตุเหล็กไปสร้างเม็ดเลือดแดง
- ช่วยต่อมหมวกไตผลิต corticosteroids
แหล่งของวิตามิน B2 ในธรรมชาติ
ร่างกายเราได้รับไรโบฟลาวินจากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่และจากอาหาร อาหารที่มีวิตามิน B2 สูงได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต เต้าหู้ นม โยเกิร์ต ไข่ ถั่ว ผักใบเขียว เห็ด ส้ม องุ่นแดง ตับ เครื่องในสัตว์อื่น ๆ รวมทั้งเนื้อสัตว์ ไรโบฟลาวินในอาหารอาจไม่แสดงสีเหลืองให้เห็นเพราะเป็นองค์ประกอบในปริมาณน้อยมาก
ไรโบฟลาวินในธรรมชาติจะสูญสลายไปเมื่อโดนแสง ด้วยเหตุนี้บรรจุภัณฑ์ของนมจึงต้องทึบแสง และเราไม่ควรเก็บอาหารไว้ในภาชนะใส เช่น แก้ว
ความร้อนจะทำลายไรโบฟลาวินไปบางส่วน การอุ่นนม 15 นาทีจะสูญเสียไรโบฟลาวินไปประมาณ 27% และเช่นเดียวกับวิตามินที่ละลายน้ำทั้งหลาย การปรุงอาหารแบบที่เทน้ำทิ้งจะทำให้ไรโบฟลาวินสูญไปพร้อมกับน้ำ
ส่วนความเย็นสามารถคงสภาพของไรโบฟลาวินไว้ได้ การเก็บอาหารไว้ในตู้เย็นโดยไม่เปิดมาให้โดนแสงเลย 3 วัน พบว่าปริมาณไรโบฟลาวินในอาหารลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
วันหนึ่งเราต้องการไรโบฟลาวินประมาณ 1.7 mg/พลังงานที่ต้องการ 2000 kcal ผู้ที่ต้องใช้พลังงานมากกว่านี้จำเป็นต้องได้รับไรโบฟลาวินเพิ่ม ร่างกายสะสมไรโบฟลาวินได้เพียงเล็กน้อยที่ตับ ไต และหัวใจ
ภาวะขาดวิตามิน B2
ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามิน B2 ได้แก่
- นักกีฬาที่รับประทานมังสวิรัติ เนื่องจากนักกีฬาต้องใช้พลังงานมาก จึงต้องการไรโบฟลาวินเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตพลังงานมาก ไรโบฟลาวินในอาหารมังสวิรัติอาจไม่พอ
- หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
- ทารกที่ตัวเหลืองและใช้วิธีฉายแสงเพื่อลดอาการเหลืองนานหลายวัน อาจทำให้ไรโบฟลาวินในร่างกายถูกทำลายไปด้วย
- ผู้ติดสุราเรื้อรัง
- ผู้ที่ขาดเอนไซม์เลคเตส ทำให้ขาดโอกาสดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนม
- ผู้ที่ต่อมไทรอยด์หรือต่อมหมวกไตไม่สร้างฮอร์โมน จะเสียขบวนการเปลี่ยน riboflavin เป็น FMN และ FAD
- คนที่เป็นโรค Infantile Brown-Vialetto-Van Laere syndrome โรคนี้พบน้อยมาก เด็กจะมีความผิดปกติของยีน SLC52A3 ทำให้ลำไส้ไม่ดูดซึมไรโบฟลาวิน เด็กจะหูหนวก กล้ามเนื้อใบหน้าและลำคออ่อนแรง ทำให้กลืนลำบากและมีปัญหาการหายใจ
การขาดวิตามิน B2 ทำให้เป็นโรคปากนกกระจอก คือมีแผลที่มุมปาก 2 ข้าง ริมฝีปากแห้งแตก ลิ้นเลี่ยน เคืองตา สู้แสงไม่ได้ มองไม่ชัด เกิดต้อกระจก เปลือกตามีสะเก็ดขุยคล้ายขี้กลาก และยังเกิดภาวะโลหิตจางจากเสียการดูดซึมธาตุเหล็ก ถ้าขาดในช่วงตั้งครรภ์ทารกจะมีความพิการของหัวใจและแขนขา ผู้ที่ขาดวิตามิน B2 มักขาดวิตามินอื่น ๆ ด้วย
การวินิจฉัยอาศัยประวัติ, อาการแสดง, ค่า EGRAC > 1.4 (EGRAC ไม่สามารถใช้ในคนที่ขาด G6PD), ระดับไรโบฟลาวินในปัสสาวะที่ < 40 mcg/วัน (เชื่อถือได้น้อยกว่า EGRAC เพราะระดับในปัสสาวะบ่งถึงปริมาณที่รับประทานเมื่อไม่นานมานี้ และค่ามักจะต่ำในคนสูงอายุ แต่มักสูงขึ้นเมื่อมีภาวะเครียดหรือใช้ยาบางอย่างร่วม) หากอาการเหมือนแต่ขาดแล็บสนับสนุนก็อาจใช้วิธีลองให้รับประทานวิตามิน B2 ในรูปเม็ดยาดูก่อน
พิษของวิตามิน B2
ไม่มีหลักฐานการพบพิษของไรโบฟลาวินแม้จะได้รับจากเม็ดยาถึง 400 mg/วัน เป็นเวลา 3 เดือน เนื่องจากเป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ร่างกายจึงขับออกได้เองทุกวัน
บรรณานุกรม
- "Riboflavin (vitamin B2)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (10 มีนาคม 2563).
- "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
- "Unit Conversions." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา USDA. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
- Bárbara J. Henriques, et al. 2010. "Emerging Roles for Riboflavin in Functional Rescue of Mitochondrial β-Oxidation Flavoenzymes." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Current Medicinal Chemistry, 2010,17(32):3842-54. (25 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Riboflavin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (2 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Riboflavin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (25 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Riboflavin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (25 กุมภาพันธ์ 2563).
- "vitamin B2 - riboflavin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (25 กุมภาพันธ์ 2563).
- Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Vitamin B2." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (2 กุมภาพันธ์ 2563).
- Larry E. Johnson. 2019. "Riboflavin Deficiency." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (25 กุมภาพันธ์ 2563).