วิตามิน B3 (Niacin)

"ไนอะซิน" เป็นชื่อที่เรียกแทนวิตามิน B3 ไนอะซินในธรรมชาติจะอยู่ในรูป Nicotinic acid กับ Nicotinamide (ซึ่งบางคนเรียก Niacinamide) ส่วน Nicotinamide riboside เป็นรูปที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้นเป็นเม็ดยา ทั้งสามรูปเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น Nicotinamide adenine dinucleotide (NAD+) ซึ่งเป็นเอนไซม์ร่วมที่สำคัญมากในขบวนการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน กว่า 400 เอนไซม์ในร่างกายต้องใช้ NAD+ ช่วยย่อยสาร

เมื่อถูก ATP เติมหมู่ฟอสเฟสลงไป (แทนที่ -OH สีแดงในรูป) NAD+ จะเปลี่ยนเป็น Nicotinamide adenine dinucleotide phosphate (NADP+) ซึ่งเป็นเอนไซม์ร่วมที่สำคัญอีกตัวในขบวนการสร้างโคเลสเตอรอล กรดไขมัน และทำลายอนุมูลอิสระภายในเซลล์

ปริมาณไนอะซินที่ต้องการแปรผันตามปริมาณพลังงานที่ต้องการใน 1 วัน เช่นเดียวกับไธอะมีนและไรโบฟลาวิน เราต้องการไนอะซินวันละ 16 มิลลิกรัมต่อพลังงาน 2,388 kcal (กระทรวงสาธารณสุขของไทยยังแนะนำให้รับประทานวันละ 20 มิลลิกรัม) หากเรารับประทานไนอะซินจากอาหารไม่พอ ร่างกายจะเปลี่ยนกรดอะมิโนจำเป็น Tryptophan ในอาหารให้เป็น NAD+ เอง

หน่วยวัดปริมาณวิตามิน B3

Nicotinamide ถูกใช้เป็นมาตรวัดปริมาณการออกฤทธิ์ของวิตามิน B3 ทุกรูป (รวมทั้งทริปโตแฟนที่สามารถเปลี่ยนเป็นไนอะซินได้ด้วย) หน่วยวัดปริมาณวิตามิน B3 จึงเป็น mg NE (Niacin equivalents) โดย ...
1 mg NE (มิลลิกรัม เอ็นอี)
= Nicotinamide และ Niacin รูปอื่น 1 mg
= Tryptophan 60 mg

บทบาทของวิตามิน B3

ปฏิกิริยาทางเคมีในร่างกายแทบทุกอย่างต้องใช้ NAD+ และ NADP+ เป็นตัวช่วยส่งผ่านอิเล็กตรอน โดย NAD+ จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการย่อยสารโมเลกุลใหญ่ให้เล็กลง ขณะที่ NADP+ จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างสารประกอบที่ร่างกายต้องการจากสารอาหารที่ถูกย่อยแล้ว ผลที่ได้คือ NADH และ NADPH ซึ่งทั้งสองโมเลกุลนี้ให้ประจุบวก (H+) แก่อนุมูลอิสระง่าย จึงช่วยสลายอนุมูลอิสระแล้วกลับไปเป็น NAD+ และ NADP+ ดังเดิม

NAD+ ยังเป็นสารตั้งต้นของเอนไซม์ที่จำเป็นเกี่ยวกับการคัดลอกยีน ซ่อมแซมยีน ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ และเป็นสารตั้งต้นของ "ตัวพา" แคลเซียมเคลื่อนเข้า-ออกเซลล์เมื่อได้รับสัญญาณให้ทำงาน เซลล์เหล่านี้ได้แก่ เซลล์ประสาท เซลล์กล้ามเนื้อ เบต้าเซลล์ของตับอ่อน และเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-lymphocyte ดังนั้น การขาดวิตามิน B3 จึงส่งผลกับแทบทุกระบบของร่างกาย

กว่าครึ่งศตวรรษแล้วที่มนุษย์พบว่า Nicotinic acid (ไม่ใช่ Nicotinamide) ในขนาดสูงสามารถลดระดับโคเลสเตอรอลได้ แต่กลไกยังไม่ทราบชัด และจากการทบทวนการศึกษายังไม่พบว่า Nicotinic acid ซึ่งช่วยลดโรคหัวใจและอัตราการเสียชีวิต ประกอบกับผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการร้อน ผิวแดง และน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จึงไม่นิยมใช้กัน

แหล่งของวิตามิน B3 ในธรรมชาติ

แหล่งของวิตามิน B3 อยู่ในอาหารที่มีไนอะซินและทริปโตแฟนสูง ซึ่งก็ได้แก่อาหารที่ให้พลังงานสูง (เนื้อสัตว์และธัญพืช) เพราะธรรมชาติให้ปริมาณวิตามิน B3 ที่ต้องใช้สมส่วนกับพลังงานที่จะได้รับอยู่แล้ว จะเห็นว่าอาหารที่ให้พลังงานน้อย (ผักและผลไม้) ก็จะมีวิตามิน B3 น้อยด้วย (อย่าลืมว่าทริปโตแฟน 60 mg = ไนอะซิน 1 mg)

แม้จะรับประทานแบบเม็ดยาขนาดสูงถึง 4 กรัม ไนอะซินก็ดูดซึมได้หมด ส่วนใหญ่ดูดซึมที่ลำไส้เล็กและที่กระเพาะอาหาร ไนอะซินส่วนเกินบางส่วนจะถูกเก็บไว้ในเม็ดเลือดแดง บางส่วนจะถูกตับเปลี่ยนเป็น N1-methyl-nicotinamide และ N1-methyl-2-pyridone-5-carboxamide แล้วขับออกทางปัสสาวะ ถ้าปริมาณสารสองตัวนี้รวมกันในปัสสาวะ > 17.5 µmol/day ถือว่ารับประทานเพียงพอ ถ้า < 5.8 µmol/day ถือว่าขาดไนอะซิน

เนื่องจากเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ การหุงต้มแบบที่เทน้ำทิ้งจะสูญเสียไนอะซินไปกับน้ำด้วย ดังนั้นเราควรดื่มน้ำจากการหุงต้มอาหารด้วย

ภาวะขาดวิตามิน B3

ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามิน B3 ได้แก่

  • ผู้ที่มีปัญหาในการดูดซึมอาหาร
  • ผู้ที่ติดสุรา
  • ผู้ป่วยโรคเอดส์
  • ผู้ที่รับประทานข้าวโพดเป็นอาหารหลัก (เพราะไนอะซินในข้าวโพดอยู่ในรูป bound form ดูดซึมไม่ได้ เว้นแต่จะแตกมันก่อนด้วยสารที่เป็นด่าง)
  • ผู้ที่ได้รับยาบางตัวเป็นเวลานาน เช่น Isoniazid, Azathioprine, 5-FU, Sinemet (เพราะยาไปจับวิตามิน B6 ไม่ให้ทำหน้าที่ในขบวนการเปลี่ยนทริปโตแฟนเป็นไนอะซิน)
  • ผู้ป่วยโรคพันธุกรรม Hartnup (เพราะไม่สามารถย่อยและดูดซึมทริปโตแฟนได้)
  • ผู้ป่วยกลุ่มอาการ Carcinoid (เพราะทริปโตแฟนถูกเปลี่ยนเป็น serotonin หมด)

เนื่องจากไนอะซินมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแบ่งตัวของเซลล์ จึงช่วยผลัดเซลล์ผิวหนังและเยื่อบุทางเดินอาหารทุกวัน การขาดไนอะซินจึงแสดงออกกับสองระบบนี้ชัดที่สุด โรคขาดวิตามิน B3 เรียกว่าโรคหนังกระ (Pellagra) มีอาการแสดงของ 3 ระบบ คือ

  1. Dermatitis & mucositis ผิวหนังจะไวต่อแสง เกิดผื่นคัน แดง หนา และตกสะเก็ด (รอยโรคจะเป็นเฉพาะส่วนที่โดนแดด เช่น หน้า คอ มือ เท้า เรียกว่า "pellagra gloves") เจ็บลิ้น ปากเป็นแผล ผมร่วง
  2. Diarrhea อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ท้องเสีย
  3. Dementia หงุดหงิด ซึมเศร้า ชาแขนขา เดินเซ สับสน ความจำเสื่อม

นอกจากนั้นยังพบภาวะซีด หัวใจโต (Dilated cardiomyopathy) ขาบวม เหนื่อยง่าย หากรักษาช้าอาจถึงขั้นเสียชีวิต (Death)

การวินิจฉัยอาศัยประวัติเสี่ยง อาการแสดง และแล็บที่ช่วยสนับสนุน ซึ่งได้แก่

  • ระดับ N1-methyl-nicotinamide ในปัสสาวะได้ < 5.8 µmol/day (< 0.8 mg/day)
  • Niacin number < 130 คือการตรวจเลือดหาสัดส่วนของ (NAD / [NAD + NADP] x 100)
  • Niacin index < 1 คือการตรวจสัดส่วนของ NAD / NADP ในเม็ดเลือดแดง

สองอันล่างอาศัยหลักความจริงที่ว่าเมื่อขาดไนอะซิน ระดับของ NAD จะลดลง ขณะที่ระดับของ NADP จะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง

การรักษาจะให้ Nicotinamide รับประทานวันละ 300 mg (แบ่ง 3 มื้อ) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ และควรให้วิตามินบีรวมเสริมด้วย เพราะมักขาดร่วมกัน

พิษของวิตามิน B3

ยังไม่มีรายงานพิษของไนอะซินจากอาหาร มีแต่พิษจากยา

Nicotinic acid ขนาดตั้งแต่ 30 mg ขึ้นไป จะทำให้รู้สึกผิวอุ่น แดง และเจ็บแปลบเหมือนมีอะไรมาทิ่ม มีเหงื่อออก หรือรู้สึกเหมือนเป็นไข้ คลื่นไส้ และอาเจียน ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ใจสั่น ในขนาดสูงขึ้นอาจทำให้ปวดศีรษะ วิงเวียน ความดันโลหิตลดลง เพราะมันมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด

ฤทธิ์ลดโคเลสเตอรอลในเลือดของ Nicotinic acid ต้องใช้ถึง 1000-3000 mg แต่ในขนาดที่เกิน 2000 mg/วัน ก็อาจเกิดพิษต่อตับ หัวใจเต้นรัวผิดจังหวะ เพิ่มระดับน้ำตาลและกรดยูริคในเลือดแล้ว (ยานี้ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์)

Nicotinamide ในรูปเม็ดยาที่ใช้รักษาโรคหนังกระไม่ทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง แต่ในขนาดที่สูงเกิน 500 mg/วัน ก็อาจทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เกล็ดเลือดต่ำ ขนาดที่สูงเกิน 3000 mg/วัน จะเกิดพิษต่อตับชัดเจน

พิษของไนอะซินในรูปยาจะชัดขึ้นเมื่อรับประทานร่วมกับสุรา ยาลดไขมันกลุ่มอื่น ยารักษาเบาหวาน ยาลดความดันโลหิต ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากันชัก ฮอร์โมนไทรอยด์ ยาปฏิชีวนะบางตัว และยาบำรุงที่มี Zinc, Chromium, ginkgo biloba, หรือ antioxidants บางตัว เป็นองค์ประกอบ

บรรณานุกรม

  1. "Niacin (nicotinic acid)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (10 มีนาคม 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Unit Conversions." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา USDA. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  5. "Niacin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (3 กุมภาพันธ์ 2563).
  6. "Niacin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (27 กุมภาพันธ์ 2563).
  7. "vitamin B3 - niacin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (27 กุมภาพันธ์ 2563).
  8. "Niacin." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (27 กุมภาพันธ์ 2563).
  9. "Niacin Deficiency." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Merck Manual. (27 กุมภาพันธ์ 2563).
  10. "Pellagra." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (27 กุมภาพันธ์ 2563).
  11. "Niacin Toxicity." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Merck Manual. (27 กุมภาพันธ์ 2563).
  12. Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Vitamin B3." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (3 กุมภาพันธ์ 2563).