วิตามิน B5 (Pantothenic acid)

กรดแพนโทเธนิคเป็นสารประกอบของ D-Pantoic acid ต่อกับ β-Alanine ชื่อของกรดนี้มาจากคำว่า pantothen ในภาษากรีก แปลว่า "มีทุกที่ทุกฤดูกาล" นั่นคือสารอาหารชนิดนี้มีอยู่ในสัตว์และพืชแทบทุกชนิดตลอดทั้งปี รวมทั้งแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ของคนก็สามารถสร้างกรดแพนโทเธนิคได้

เมื่อเข้าสู่ร่างกาย กรดแพนโทเธนิคส่วนใหญ่จะถูกใช้สร้าง Coenzyme A (CoA) ซึ่งเป็นเอนไซม์หลักในขบวนการสร้างและย่อยสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย อีกร้อยละ 15 จะอยู่ในรูป Acyl carrier protein ทำหน้าที่สร้างกรดไขมันต่าง ๆ

หน่วยวัดปริมาณวิตามิน B5

หน่วยวัดปริมาณวิตามิน B5 ในอาหารใช้เป็น mg ของกรดแพนโทเธนิค วันหนึ่งเราต้องการประมาณ 6 mg

บทบาทของวิตามิน B5

จากการที่มันเป็นสารตั้งต้นของ CoA และ Acyl carrier protein กรดแพนโทเธนิคจึงจำเป็นมากสำหรับการดำรงชีวิต ตัวอย่างหน้าที่ที่สำคัญได้แก่

  1. สลายคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ให้เป็นพลังงาน
  2. สร้างโคเลสเตอรอล และกรดไขมันต่าง ๆ
  3. ช่วยสร้างกรดอะมิโน leucine, arginine และ methionine
  4. สร้าง Acetylcholine ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญของระบบพาราซิมพาเทติก
  5. สร้างวิตามิน A และ D
  6. สร้างฮีโมโกลบินและ electron-carrying cytochrome proteins

แหล่งของวิตามิน B5 ในธรรมชาติ

อาหารแทบทุกชนิดมีกรดแพนโทเธนิคในปริมาณที่วัดได้ แม้จะไม่มากแต่เมื่อรวมอาหารทุกอย่างที่รับประทานในแต่ละวัน เราจะได้วิตามิน B5 รวมกันประมาณ 4-7 mg ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งาน

แบคทีเรียในร่างกายเราสร้างกรดแพนโทเธนิคได้ถึง 2.2 mg/kg ของน้ำหนักอุจจาระ/วัน คนปกติจะมีเนื้ออุจจาระประมาณ 400-500 กรัมในลำไส้ใหญ่ ทำให้ได้กรดแพนโทเธนิคเพิ่มอีกวันละ 1 mg

กรดแพนโทเธนิคในอาหารจะลดลงตามกาลเวลา อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง รวมทั้งวิตามินแบบเม็ดจะสูญเสียวิตามิน B5 ไปประมาณ 50% ในเวลา 1 ปี ผลไม้สดที่ทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้อง 1 สัปดาห์ จะเสียกรดแพนโทเธนิคไปประมาณ 20%

ความร้อนจากการปรุงอาหารไม่ทำลายวิตามิน B5 ไปมาก แต่หากเทน้ำที่ต้มทิ้งจะทำให้วิตามินสูญไปกับน้ำ

ภาวะขาดวิตามิน B5

ภาวะขาดวิตามิน B5 พบน้อยมาก ในอดีตพบในกลุ่มนักโทษขาดอาหารจากสงครามโลกครั้งที่สองที่ถูกกักกันในประเทศฟิลิปปินส์ พม่า ญี่ปุ่น มีอาการเหมือนเข็มทิ่มตำที่มือและเท้าทั้งสองข้าง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ผมขาว โลหิตจาง พอได้รับอาหารเสริมกรดแพนโทเธนิค อาการก็หายไป อีกกลุ่มเป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในญี่ปุ่นที่แพทย์นิยมใช้ Calcium homopantothenate (หรือ hopantenate) เป็นยากระตุ้นสมอง ยาตัวนี้เมื่อให้นานไปจะเกิดอาการสับสน ซึมลง แต่สามารถแก้ได้ด้วยการให้กรดแพนโทเธนิค จึงเชื่อว่า homopantothenate เป็นตัวต้านกรดแพนโทเธนิค

ผู้ป่วยที่ขาดวิตามิน B5 มักขาดวิตามินบีตัวอื่น ๆ ด้วย และเป็นไปได้ว่าการขาดวิตามิน B12, โฟเลต (วิตามิน B9), และไบโอติน (วิตามิน B7) เป็นสาเหตุให้ขาดวิตามิน B5 เพราะสามตัวดังกล่าวจำเป็นสำหรับเมตาบอลิซึมของกรดแพนโทเธนิค

ปัจจุบันสามารถตรวจระดับกรดแพนโทเธนิคในเลือด (whole blood) ได้ ค่าปกติคือ 1.6-2.7 µmol/L (0.35-0.59 µg/mL) ค่าที่ < 1 µmol/L (0.22 µg/mL) ถือว่าขาด แต่กรดแพนโทเธนิคในเลือดไม่ค่อยอยู่ในรูปอิสระ ต้องเติมเอนไซม์ให้ CoA ปล่อยกรดแพนโทเธนิคออกมาก่อนจึงจะตรวจได้

การตรวจที่ง่ายและเชื่อถือได้มากกว่าคือการตรวจระดับกรดแพนโทเธนิคในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง พบว่าปริมาณกรดแพนโทเธนิคที่เหลือใช้แล้วถูกขับออกทางปัสสาวะในคนปกติจะประมาณ 2.6 mg/วัน หากปริมาณ < 1 mg/วัน จะถือว่าขาด

กรดแพนโทเธนิคในเม็ดยามักทำในรูปเกลือแคลเซียม (calcium pantothenate), รูปแอลกอฮอล์ (pantothenol) และรูป Pantethine (ยาลดไขมันในเลือดที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น) ซึ่งรูปเหล่านี้มักมีปฏิกิริยากับยาหลายตัว เช่น Azithromycin, Clarithromycin, Erythromycin, Roxithromycin ขนาดที่ใช้รักษาคือ 100-500 mg/วัน x 4 สัปดาห์ ควรให้วิตามินบีรวมและวิตามิน B12 ร่วมด้วย

พิษของวิตามิน B5

พิษของกรดแพนโทเธนิคมักพบในผู้ที่รับประทานอาหารเสริมที่มีกรดแพนโทเธนิคสูงถึงวันละ 10-20 กรัม (ร่างกายต้องการเพียงวันละ 6 มิลลิกรัม) โดยจะมีอาการท้องเสีย เกิดน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดและเยื่อหุ้มหัวใจชนิดที่มีเม็ดเลือดอีโอสิโนฟิลสูง นอกจากนั้นกรดแพนโทเธนิคขนาดสูงยังรบกวนการดูดซึมไบโอตินด้วย

บรรณานุกรม

  1. "10.6 Pantothenic Acid." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (7 มีนาคม 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Unit Conversions." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา USDA. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  5. "Pantothenic Acid." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (3 กุมภาพันธ์ 2563).
  6. "Pantothenic Acid." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (3 กุมภาพันธ์ 2563).
  7. "Pantothenic Acid." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (29 กุมภาพันธ์