วิตามิน B6 (Pyridoxine)
วิตามิน B6 มี 3 รูป คือ Pyridoxine, Pyridoxal และ Pyridoxamine ไพริด็อกซีนเป็นรูปที่พบมากที่สุดในอาหาร ทั้งสามรูปเมื่อเข้าไปในร่างกายจะถูกดูดซึมที่เจจูนั่ม แล้วจะถูกส่งเข้าเซลล์ตับไปทำให้เป็นวิตามิน B6 ที่ทำงานได้ 2 ตัว คือ Pyridoxamine 5′-phosphate (PMP) กับ Pyridoxal 5′-phosphate (PLP) (โดยอาศัยวิตามิน B2 กับ Zinc เป็นปัจจัยร่วม) วิตามิน B6 ส่วนที่เกินความต้องการจะถูกขับออกทางปัสสาวะ
หน่วยวัดปริมาณวิตามิน B6
หน่วยวัดปริมาณวิตามิน B6 ในอาหารใช้เป็น mg ของไพริด็อกซีน แต่ปริมาณในเลือดเราวัดจากระดับ PLP ใน plasma หรือ serum (ค่าปกติ > 20 nmol/L)
บทบาทของวิตามิน B6
PLP และ PMP เป็นเอนไซม์ร่วมที่สำคัญของเอนไซม์กลุ่ม transaminases, deaminases, glycogen phosphorylase, gamma-aminolevulinic acid synthetase, ฯลฯ จึงมีบทบาทในขบวนการเผาผลาญอาหาร สลายไกลโคเจน เปลี่ยนกรดอะมิโนให้เป็นกลูโคส สร้างกรดอะมิโน สร้างสารสื่อประสาท GABA, serotonin, และ dopamine สร้างฮีโมโกลบิน เปลี่ยนทริปโตแฟนเป็นไนอะซิน ปรับการทำงานของฮอร์โมนสเตียรอยด์ นำพาธาตุเหล็ก และร่วมกับวิตามิน B12 และโฟเลต ควบคุมระดับ homocysteine ในเลือด (homocysteine เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของโรคหัวใจขาดเลือด)
** แมกนีเซียมเป็นปัจจัยร่วมของทุกปฏิกิริยาทางเคมีที่ต้องใช้วิตามิน B6
แหล่งของวิตามิน B6 ในธรรมชาติ
เราได้วิตามิน B6 จากอาหารและจากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ อาหารที่มีวิตามิน B6 สูงได้แก่ สัตว์ปีก ปลา นม ไข่ ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กล้วย และผักบางชนิด วันหนึ่งเราต้องการประมาณ 2 mg
ไพริด็อกซีนในอาหารค่อนข้างคงทน การนึ่งหรือต้มอาหารโดยทั่วไปจะสูญเสียวิตามิน B6 ไปเพียง 10-20% การเก็บอาหารนาน 1 ปีก็สูญเสียวิตามิน B6 ไปเพียง 25%
การหุงต้มอาหารในสภาพที่เป็นกรดอ่อน (เช่น เติมน้ำส้มสายชู หรือมะเขือเทศลงไปด้วย) ช่วยสงวนวิตามินในอาหารได้ดี
ภาวะขาดวิตามิน B6
ภาวะขาดวิตามิน B6 พบได้น้อย ผู้ที่ขาดต้องมีเหตุที่ทำให้ขาด เช่น
- มีโรคทางเดินอาหารที่เสียการดูดซึม (เช่น celiac disease, Crohn’s disease, ulcerative colitis)
- ขาดวิตามิน B2 หรือ Zinc ซึ่งเป็นปัจจัยร่วมในการทำให้ไพริด็อกซีนใช้การได้
- เป็นโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือดเป็นประจำ
- รับประทานยาที่ลดการดูดซึมวิตามิน B6 (เช่น Isoniazid, Hydralazine, Prednisolone) หรือยาที่เพิ่มการทำลายวิตามิน B6 (เช่น Valproic acid, Carbamazepine, Phenytoin, Cyclosporin, D-penicillamine, Pyrazinamide) เป็นเวลานาน ๆ
- เป็นผู้ติดสุราเรื้อรัง หรือผู้ขาดอาหาร
- มียีนผิดปกติที่ทำให้เมตาบอลิซึมเสียไป
อาการของผู้ที่ขาดวิตามิน B6 คือ มือเท้าชา มีผื่นแดงในส่วนที่ถูกแดด (เพราะมักจะขาดวิตามิน B3 ด้วย) มีแผลในปากและที่มุมปาก ลิ้นเลี่ยน เบื่ออาหาร อาเจียน อ่อนเพลีย โลหิตจาง ซึมเศร้า กระวนกระวาย สับสน เคยมีรายงานทารกชักจากการได้รับนมที่บังเอิญบริษัทลืมเติมวิตามิน B6 ลงไป
เราควรสงสัยภาวะขาดวิตามิน B6 ใน ...
- ทารกที่ชักทุกราย
- ผู้ป่วยโรคลมชักที่คุมอาการชักไม่ได้แม้จะปรับยากันชักเต็มที่แล้ว (เพราะยากันชักเพิ่มการทำลายวิตามิน B6)
- ผู้ป่วยที่ขาดวิตามินตัวอื่น (โดยเฉพาะในคนที่ติดสุราหรือขาดอาหาร)
การวินิจฉัยอาศัยประวัติ อาการแสดง และแล็บหลายตัวช่วยสนับสนุน ได้แก่
- ระดับ PLP ในเลือด < 20 nmol/L (แต่ PLP จะลดลงในผู้ที่มี albumin ในเลือดต่ำ)
- ระดับ 4-pyridoxic acid ในปัสสาวะ (ต้องตรวจคู่กับค่าครีเอตินีนในปัสสาวะ) ค่าปกติคือ 128-680 nmol / nmol of creatinine (แต่ค่าจะลดลงในผู้ที่ขาดวิตามิน B2 ด้วย)
- ค่า Erythrocyte aspartate aminotransferase activation coefficient (EAST-AC) ในเลือด < 1.85 (เป็นตัวชี้วัดระดับ PLP ในระยะ 120 วันตามอายุเม็ดเลือดแดง)
- CBC แสดง hypochromic-microcytic anemia โดยระดับธาตุเหล็กในเลือดปกติ
ถ้ามีภาวะ arteriosclerosis ควรระดับ homocysteine ในเลือดด้วย ถ้ามีอาการชักอาจตรวจ urinary α-aminoadipic semialdehyde และ serum หรือ CSF pipecolic acid รวมทั้งยีน ALDH7A1 ในเด็ก
ในที่ที่ไม่สามารถตรวจแล็บได้อาจให้ไพริด็อกซีนขนาด 50-100 mg รับประทานวันละครั้ง x 4-8 สัปดาห์ หากอาการแสดงยังไม่หายไปชัดเจนอาจตรวจสอบจากแล็บ Tryptophan loading test
Tryptophan loading test เป็นการให้ L-tryptophan ขนาด 50-100 mg/kg รับประทาน (หรือบางรูปใช้ฉีด) แล้วตรวจหาสาร kynurenine, kynurenic acid, และ xanthurenic acid ซึ่งเป็นเมตาบอไลต์ของทริปโตแฟนในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง ซึ่งค่าควรปกติถ้ามีวิตามิน B6 เพียงพอแล้ว (เพราะวิตามิน B6 จะเปลี่ยนทริปโตแฟนเป็นไนอะซีน การทดสอบนี้เหมาะที่จะใช้ติดตามผลการรักษามากกว่าจะใช้วินิจฉัย เพราะค่าที่สูงอาจมาจากการรับประทานอาหารโปรตีนมาก, การออกกำลังกาย, ในคนผอม, ในหญิงมีครรภ์, การรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจน, และในภาวะติดเชื้อ
พิษของวิตามิน B6
พิษของวิตามิน B6 พบในรายที่รับประทานยาที่มีไพริด็อกซีน > 200 mg/วัน ติดต่อกันเกิน 1 ปี (วันหนึ่งเราต้องการเพียง 2 มิลลิกรัม) โดยจะเสียการทรงตัวเวลาเคลื่อนไหว ชาแขนขา มีผื่นกดเจ็บเวลาโดนแสง คลื่นไส้อาเจียน ยังมีรายงานความพิการของทารกที่มารดารับประทานไพริด็อกซีนเสริมตั้งแต่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ ในขนาด 50-200 มิลลิกรัมต่อวัน
วิตามิน B6 ในฐานะยารักษาโรค
วิตามิน B6 เป็นยาต้านพิษ isoniazid (INH), ethylene glycol, hydralazine, และสารพิษ gyromitrin ในเห็ด นอกจากนั้นยังใช้รักษาภาวะชักในทารกแรกเกิด และยาบรรเทาอาการแพ้ท้องในหญิงมีครรภ์
- การแก้พิษของ isoniazid ต้องใช้ไพริด็อกซีนฉีดในขนาดเดียวกับขนาดยา isoniazid ที่กินเกินไป โดยสามารถฉีดเข้าหลอดเลือดดำช้า ๆ ในครั้งแรกได้ 1-4 กรัม จากนั้นฉีดต่อขนาด 1 กรัม ทุก 30 นาที สูงสุดรวม 5 กรัม
- การแก้พิษของ ethylene glycol จะใช้ไพริด็อกซีนฉีดเข้าหลอดเลือดดำในขนาด 50-100 mg ทุก 6 ชั่วโมง จนกว่าอาการพิษจะหายไป
- การแก้พิษของ hydralazine จะใช้ไพริด็อกซีนขนาดรวมทั้งหมด 25 mg/kg โดยหนึ่งในสามฉีดเข้ากล้าม ที่เหลือหยดเข้าทางหลอดเลือดดำในเวลา 3 ชั่วโมง
- การแก้พิษ gyromitrin ในเห็ด จะใช้ไพริด็อกซีนขนาดรวมทั้งหมด 25 mg/kg หยดเข้าทางหลอดเลือดดำในเวลา 30 นาที
- การรักษาภาวะชักในทารกแรกเกิดต้องให้ยากันชักก่อน ส่วนไพริด็อกซีนจัดเป็นยาเสริม ขนาดและวิธีใช้ขึ้นกับความรุนแรง อาจฉีดเข้าหลอดเลือดดำขนาด 10-100 mg ในรายที่ชักไม่หยุด หรือให้รับประทานขนาด 25-600 mg/วัน ในรายที่หยุดชักแล้วแต่ยังเฝ้าระวังอยู่
- การบรรเทาอาการแพ้ท้องในผู้ที่อาเจียนมาก (Hyperemesis gravidarum) ควรรับประทานเพียง 25 mg เฉพาะเวลามีอาการ ทุก 8 ชั่วโมง ไม่ควรรับประทานติดต่อกันหลายวัน
บรรณานุกรม
- "Vitamin B6 (Pyridoxine)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (10 มีนาคม 2563).
- "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
- "Unit Conversions." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา USDA. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Vitamin B6." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (6 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Vitamin B6." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (6 กุมภาพันธ์ 2563).
- "vitamin B6 - pyridoxine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (1 มีนาคม 2563).
- "Pyridoxine." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (1 มีนาคม 2563).
- Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Vitamin B6." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (1 มีนาคม 2563).
- Mary J. Brown & Kevin Beier. 2019. "Vitamin B6 Deficiency (Pyridoxine)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NCBI. (1 มีนาคม 2563).
- Richard E Frye. 2016. "Pyridoxine Deficiency." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (1 มีนาคม 2563).
- Larry E. Johnson. 2019. "Vitamin B6 Deficiency and Dependency." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MSD Manual. (1 มีนาคม 2563).