วิตามิน B9 (Folate)

คำว่า folate มาจากภาษาละติน “folium” และภาษาอังกฤษ “foliate” แปลว่า “ใบไม้” เนื่องจากโฟเลตพบมากในผักใบเขียวเกือบทุกชนิด

โฟเลตในธรรมชาติอยู่ในรูปอนุพันธ์ของ polyglutamates โดยอยู่ในรูป tetrahydrofolate (THF หรือ H4folate) ซึ่งต้องถูกเอนไซม์ย่อยให้เหลือเพียงหมู่กลูตาเมตตัวเดียว (monoglutamate) จึงจะสามารถดูดซึมได้ ขณะที่กรดโฟลิก (folic acid) ซึ่งเป็นโฟเลตสังเคราะห์อยู่ในรูป monoglutamate อยู่แล้วจึงดูดซึมได้ทันที โดยอาศัยตัวพา PCFT (Proton-coupled folate transporter) เข้าสู่เซลล์ในลำไส้เล็ก

เมื่อเข้าสู่เซลล์ลำไส้เล็ก (และเซลล์อื่น ๆ) กรดโฟลิกจะถูกเอนไซม์ dihydrofolate reductase (DHFR) เปลี่ยนเป็น THF จากนั้นเอนไซม์ MTHFR (methylene tetrahydrofolate reductase) จะเปลี่ยน THF ให้เป็น 5-methyl THF โดยใช้วิตามิน B2, B6 และกรดอะมิโน serine เป็นตัวช่วย ซึ่งเป็นรูปที่มีฤทธิ์ออกฤทธิ์ในร่างกาย การขาดปัจจัยใดในกระบวนการนี้ก็อาจนำไปสู่ภาวะขาดโฟเลตได้

โฟเลตจากธรรมชาติไวต่อความร้อน ออกซิเจน และแสง จึงถูกทำลายได้ง่าย ขณะที่กรดโฟลิกซึ่งเสริมในอาหารแปรรูปจะคงตัวกว่าและดูดซึมได้ดีกว่า

กรดโฟลินิก (folinic acid หรือ leucovorin) เป็นโฟเลตสังเคราะห์ที่เปลี่ยนเป็น THF ได้โดยไม่ต้องผ่านเอนไซม์ DHFR จึงถูกใช้เพื่อลดพิษของยา methotrexate และ pyrimethamine ที่ยับยั้ง DHFR หรือใช้ร่วมกับยา 5-fluorouracil เพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (ในที่นี้จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดของยานี้)

หน่วยวัดปริมาณวิตามิน B9

ปริมาณโฟเลตในอาหารวัดเป็นหน่วย mcg DFEs (Dietary Folate Equivalents) โดยมีความหมายดังนี้:
1 DFE
= โฟเลตในอาหาร 1 mcg
= กรดโฟลิกในอาหาร 0.6 mcg
= กรดโฟลิกแบบเม็ดยา 0.5 mcg (เมื่อรับประทานตอนท้องว่าง)

บทบาทของวิตามิน B9

โฟเลตเป็นสารร่วมสำคัญในกระบวนการสร้าง DNA, RNA และเม็ดเลือดแดง อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดอะมิโน (methionine, cysteine, serine, glycine, histidine) การทำงานของระบบประสาท และการพัฒนาไขสันหลังของทารกในครรภ์ จึงแนะนำให้หญิงที่เตรียมตั้งครรภ์และช่วง 12 สัปดาห์แรก รับกรดโฟลิกวันละ 600 mcg

ในปฏิกิริยา One-carbon metabolism โฟเลตในรูป 5-methyl THF จะถ่ายหมู่เมธิล (CH3–) ให้กับวิตามิน B12 กลายเป็น methylcobalamin ซึ่งจะถ่ายหมู่เมธิลต่อให้กับ homocysteine เพื่อเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโน methionine กระบวนการนี้เป็นวัฏจักรที่โฟเลตและวิตามิน B12 ทำงานร่วมกัน

ขณะเดียวกัน วิตามิน B6 จะช่วยเปลี่ยน homocysteine เป็น cysteine เพื่อควบคุมระดับ homocysteine ในเลือด ซึ่งหากสูงเกินไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

แหล่งของวิตามิน B9 ในธรรมชาติ

อาหารที่มีโฟเลตสูง ได้แก่ ผักใบเขียว ถั่วทุกชนิด ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี ตับ เต้าหู้ มะละกอ อะโวคาโด ส้ม กล้วย และอาหารหมัก แบคทีเรียในลำไส้ยังสามารถสังเคราะห์โฟเลตได้ ทำให้เราต้องการโฟเลตจากอาหารเพียง 400 mcg/วัน

โฟเลตละลายในน้ำ จึงสูญเสียได้เมื่อเราต้มอาหารแล้วเทน้ำทิ้ง นอกจากนี้ ความร้อน ความเย็น และแสงก็สามารถทำลายโฟเลตบางส่วน อาหารกระป๋องจึงมีโฟเลตต่ำเมื่อเทียบกับอาหารสด

ร่างกายสามารถสะสมโฟเลตได้ 15–30 mg โดยครึ่งหนึ่งอยู่ในตับ ที่เหลือกระจายอยู่ในเลือดและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ระดับโฟเลตในเลือด (ค่าปกติ > 3 ng/mL) สามารถใช้บอกภาวะขาดในระยะสั้น ส่วนระดับในเม็ดเลือดแดง (ค่าปกติ > 140 ng/mL) ใช้บอกภาวะขาดในระยะยาวได้ดีกว่า

ภาวะขาดวิตามิน B9

การขาดโฟเลตทำให้เกิดภาวะโลหิตจางแบบ megaloblastic เม็ดเลือดแดงที่ยังไม่เจริญเต็มที่หลุดเข้าสู่กระแสเลือด มีขนาดใหญ่และนำพาออกซิเจนได้น้อย พบ hypersegmented neutrophils และระดับ homocysteine ในเลือดเพิ่มขึ้น

อาการที่พบ ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แผลในปาก ผิวแห้ง ผมบาง เล็บคล้ำ ปวดศีรษะ ปวดท้อง สมาธิสั้น ความจำลดลง ในหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกมีความผิดปกติของไขสันหลัง (neural tube defects) ตัวเล็ก และคลอดก่อนกำหนด

การวินิจฉัยใช้ระดับโฟเลตในเลือด < 3 ng/mL หรือในเม็ดเลือดแดง < 140 ng/mL ระดับ homocysteine > 16 µmol/L เป็นสัญญาณอันตรายแต่ไม่ใช้วินิจฉัยโดยลำพัง เพราะอาจเกิดจากภาวะอื่น เช่น ไตวายหรือการขาด B12

การขาดโฟเลตมักเกิดร่วมกับการขาดวิตามิน B12 และมีอาการใกล้เคียงกัน การรักษาควรให้กรดโฟลิกควบคู่กับวิตามิน B12 เพื่อหลีกเลี่ยงการบดบังอาการของกันและกัน

พิษของวิตามิน B9

โฟเลตจากธรรมชาติยังไม่พบรายงานว่าก่อพิษ แต่กรดโฟลิกในขนาดสูงอาจเกินความสามารถของเอนไซม์ DHFR ในการเปลี่ยนเป็น THF กรดโฟลิกอิสระที่สะสมจะยับยั้งการทำงานของ natural killer cells ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง และยังลดประสิทธิภาพของยา methotrexate ซึ่งใช้รักษาโรคเรื้อรังหลายชนิด

สรุป

วิตามิน B9 หรือโฟเลต เป็นวิตามินละลายน้ำที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้าง DNA, RNA และเม็ดเลือดแดง อีกทั้งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารกในครรภ์ แม้จะพบโฟเลตได้มากในผักใบเขียว แต่การสูญเสียระหว่างการปรุงอาหารทำให้ควรมีการเสริมในรูปกรดโฟลิก โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ การขาดโฟเลตทำให้เกิดภาวะโลหิตจางชนิด megaloblastic และส่งผลต่อการพัฒนาทางระบบประสาท การได้รับในปริมาณพอเหมาะร่วมกับวิตามิน B12 จึงมีความสำคัญต่อสุขภาพโดยรวม

บรรณานุกรม

  1. "Folate/folic acid." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (10 มีนาคม 2563).
  2. "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
  3. "Unit Conversions." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา USDA. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  4. "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
  5. "Folate." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Oregon State University. (6 กุมภาพันธ์ 2563).
  6. "Folate." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (6 กุมภาพันธ์ 2563).
  7. "Folate." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (5 มีนาคม 2563).
  8. "Folate." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (5 มีนาคม 2563).
  9. "11.1 Folate & Folic Acid." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (5 มีนาคม 2563).
  10. "11 One-Carbon Metabolism Micronutrients." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Nutrition Flexbook. (5 มีนาคม 2563).