วิตามินอี (α-Tocopherol)
วิตามิน E เป็นชื่อรวมของกลุ่มของสารประกอบ tocopherols (α-, β-, γ-, δ-tocopherol) และ tocotrienols (α-, β-, γ-, δ-tocotrienol) tocopherols มีหาง phytil ที่อิ่มตัว ส่วน tocotrienols มีหาง phytil ที่ไม่อิ่มตัว สารประกอบ 8 ตัวนี้สร้างจากพืช มีคุณสมบัติละลายในไขมัน และมีฤทธิ์ทำลายอนุมูลอิสระ
หน่วยวัดปริมาณวิตามินอี
ร้อยละ 90 ของวิตามินอีในเนื้อเยื่อมนุษย์คือ α-tocopherol หน่วยวัดปริมาณวิตามินอีจึงเป็น mg α-TE (mg of α-tocopherol equivalent) แต่ในเม็ดยายังใช้เป็น IU โดย ...
1 IU ของวิตามินอีแบบเม็ดจากอาหาร (natural form) = 0.67 mg α-TE
1 IU ของวิตามินอีสังเคราะห์ (synthetic form) = 0.45 mg α-TE
หรือ 1 mg α-TE = วิตามินอีเม็ดจากอาหาร 1.49 IU = วิตามินอีสังเคราะห์ 2.22 IU
บทบาทของวิตามินอี
วิตามิน E เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในไขมัน มันจึงฝังตัวอยู่ในผิวเซลล์ (cell membrane) ได้ พันธะ O-H ของมันอ่อนกว่าสารฟีนอลทั้งหลาย มันจึงเป็นตัวให้ประจุบวก (H+) แก่ประจุลบอิสระ เช่น OH- หรือ CH3- ประจุลบเหล่านี้เกิดจากกระบวนการสันดาปภายในเซลล์ เราเรียกประจุลบเหล่านี้ว่า "อนุมูลอิสระ" (free radicals) เมื่อประจุลบรับประจุบวกเข้ามา ตัวมันก็กลายเป็นโมเลกุลที่เสถียร ไม่หิวประจุบวกจนไปแย่งอะตอมไฮโดรเจนจาก LDL cholesterol ทำให้เกิด oxidized LDL ไปสะสมตามผนังหลอดเลือด หรือแย่งประจุบวกตามผิวเซลล์ ซึ่งจะทำให้เซลล์เสียหาย
เซลล์ที่มีอนุมูลอิสระมาก ๆ จะเกิดภาวะ oxidative stress โดยจะแก่และตายเร็ว เป็นที่มาของโรคเสื่อมและความชราภาพทั้งหลาย อนุมูลอิสระยังสามารถสร้างสารพิษ carbon tetrachloride ภายในเซลล์อีกด้วย
วิตามินอีที่ให้ประจุบวกไปแล้วจะอยู่ในรูป oxidative form คือง่ายต่อการรับอะตอมของไฮโดรเจนจากวิตามินซีหรือปฏิกิริยาทางเคมีอื่น ๆ แล้วกลายเป็นวิตามินอีปกติที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระดังเดิม (วิตามินซีที่มีมากมายในอาหารจึงเป็นผู้ฟื้นชีวิตให้วิตามินอีกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม)
นอกจากต้านอนุมูลอิสระแล้ว วิตามิน E ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน, การส่งสัญญาณภายในเซลล์, การแสดงออกของยีน, และขบวนการเผาผลาญอาหารต่าง ๆ ผนังหลอดเลือดที่มีอุดมไปด้วยวิตามิน E สามารถต้านทานการเกาะของขยะเม็ดเลือดได้ วิตามิน E กระตุ้นผนังหลอดเลือดให้หลั่งสาร prostacyclin จึงทำให้หลอดเลือดขยายตัวและต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ช่วยลดการเกิดเส้นเลือดอุดตันที่หัวใจและที่สมอง
แหล่งของวิตามินอีในธรรมชาติ
อาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (polyunsaturated fatty acids) มากจะมีวิตามินอีมาก ตัวอย่างเช่น น้ำมันพืช ถั่ว เมล็ดทานตะวัน อะโวคาโด ปลาทะเล กุ้ง ผักผลไม้ที่มีวิตามินอีสูงได้แก่ ผักปวยเล้ง ผักโขม บร็อคโคลี่ ผักกาดเขียว ผักคะน้า แอสพารากัส กีวี มะม่วง และผลไม้ตระกูล -เบอรี่ ทั้งหลาย เนื้อของสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารผสมวิตามินอีก็จะมีวิตามินอีสูงเช่นกัน
วิตามินอีในอาหารจะสูญหายไปตามกาลเวลา การเก็บแป้งสาลีที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 1 ปีจะเสียวิตามินอีไปหนึ่งในสาม น้ำมันมะกอกที่เก็บในขวดปิดสนิทจะเสียวิตามินอีไป 20-30% เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน แต่ถ้าเปิดฝาทิ้งไว้วิตามินอีจะหายไปหมดในเวลา 3-4 เดือน
การปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงนานกว่า 3 ชั่วโมงก็ทำให้วิตามินอีหายไปครึ่งหนึ่ง
ร่างกายต้องการวิตามินอีวันละ 10 mg α-TE แต่แม้จะรับประทานไม่ถึงเป็นเวลานานก็ไม่ค่อยขาดวิตามินอี เพราะวิตามินอีสามารถย้อนกลับมาใช้ใหม่ได้หากเรารับประทานเพื่อนร่วมทีมที่ดีอย่างวิตามินซี และเนื้อเยื่อในร่างกายก็เป็นแหล่งสะสมวิตามินอี
ภาวะขาดวิตามินอี
ภาวะขาดวิตามิน E พบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน (เช่น มีโรค Crohn, Cystic fibrosis, abetalipoproteinemia) ทำให้ไม่สามารถดูดซึมวิตามิน A, E และ K จากทางเดินอาหารได้ ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกง่าย (hemolytic anemia) ตามัวจาก retinopathy ติดเชื้อง่าย มีอาการทางระบบประสาทที่สำคัญคือ เดินเซ แขนขาชาหรือปวด และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
การตรวจระดับ α-Tocopherol ในเลือดทำได้ตามโรงพยาบาลใหญ่ ค่าปกติ 5.5-17 mg/L หากผู้ป่วยเป็นโรคทางเดินอาหารเรื้อรังและเริ่มแสดงอาการเดินเซ ตามัว ปัสสาวะสีชา บวกกับระดับ α-Tocopherol < 4 mg/L ก็วินิจฉัยเป็นภาวะขาดวิตามินอี การรักษาควรให้ทั้งวิตามินเอ อี เค เสริมไปพร้อมกัน
พิษของวิตามินอี
พิษของวิตามินอีพบได้มากกว่า แต่แสดงออกมาในลักษณะของการขาดวิตามินเอและเค เนื่องจากมันแย่งจับกับไขมันจนวิตามินที่ละลายในไขมันตัวอื่นดูดซึมไม่ได้ นอกจากนั้นวิตามินอีแบบเม็ดยังมีปฎิกิริยากับยาตัวอื่นที่เราอาจต้องรับประทานทุกวัน เช่น Aspirin, Warfarin, กลุ่มยา -statins, กลุ่มยา PPI, Tamoxifen และ Cyclosporine พบว่าการรับประทานวิตามินอีเกิน 1000 IU ร่วมกับ Aspirin, Warfarin, หรือยาต้านเกล็ดเลือด เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเลือดออกอันไม่พึงประสงค์ จึงมีการกำหนดขนาดสูงสุดของวิตามินอีเสริม คือห้ามรับประทานเกินวันละ 1000 IU
ปีค.ศ. 2004 มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากผลงานวิจัยหลายผลงาน (meta-analysis) สรุปว่า การกินวิตามินอีเม็ดในขนาดที่เกิน 400 IU ทุกวัน อาจทำให้เสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ มากขึ้น [3] รายงานนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำ และน่าจะเป็นสาเหตุให้ความนิยมรับประทานเม็ดยาวิตามินอีลดลงมากในสหรัฐตั้งแต่ปีค.ศ. 2006 [4]
บรรณานุกรม
- "Vitamin E." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (10 มีนาคม 2563).
- "Nutrition Requirements." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา British Nutrition Foundation. (30 มกราคม 2563).
- Miller ER, et al. 2005. "Meta-analysis: high-dosage vitamin E supplementation may increase all-cause mortality." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Ann Intern Med. 2005 Jan 4;142(1):37-46. Epub 2004 Nov 10. (31 มกราคม 2563).
- "Vitamin E." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (31 มกราคม 2563).
- "Unit Conversions." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา USDA. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Thai RDI." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (1 กุมภาพันธ์ 2563).
- Daisy Whitbread. 2019. "Top 10 Foods Highest in Vitamin E." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MYFOODDATA. (31 มกราคม 2563).
- Natalie Butler. 2019. "10 foods rich in vitamin E." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medical News Today. (2 กุมภาพันธ์ 2563).
- Atli Arnarson. 2017. "20 Foods That Are High in Vitamin E." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Healthline. (2 กุมภาพันธ์ 2563).
- William W. Christie. 2020. "Isoprenoids: 1. Tocopherols and Tocotrienols (Vitamin E)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Healthline. (16 กุมภาพันธ์ 2563).
- T.H. Chan. "Vitamin E." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Harvard University. (16 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Vitamin E." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (16 กุมภาพันธ์ 2563).
- "Vitamin E." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา whfoods.org. (16 กุมภาพันธ์ 2563).
- "What are the symptoms of low vitamin E?" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา MedicalNewsToday. (17 กุมภาพันธ์ 2563).