โรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis)

ไส้ติ่งเป็นส่วนขยายของลำไส้ใหญ่ส่วนต้น อยู่ทางขวาของช่องท้องส่วนล่าง ในภาษาอังกฤษเรียกว่า vermiform appendix (ติ่งรูปหนอน) แต่ความจริงไส้ติ่งมีลักษณะเป็นถุงแคบและยาว ปากถุงต่อกับลำไส้ใหญ่ส่วนซีกัม (caecum) กว้างเพียง 5-8 มม. ก้นถุงลึกประมาณ 8-10 ซม. (ในผู้ใหญ่)

โรคไส้ติ่งอักเสบเกิดจากทางเข้า-ออกของมันถูกอุดตันด้วยก้อนอุจจาระขนาดเล็ก, วัตถุแปลกปลอม, หรือตัวพยาธิ ทำให้ไม่มีการระบายถ่ายเท ไส้ติ่งจะบวม แดง แบคทีเรียภายในไส้ติ่งจะยิ่งทำให้เกิดหนองจนไส้ติ่งบวมเป่ง จำเป็นต้องผ่าตัดอย่างรีบด่วน ถ้าเกิน 2-3 วันไส้ติ่งจะขาดเลือด เน่า และตาย สุดท้ายผนังของไส้ติ่งที่เปื่อยยุ่ยจะแตกทะลุ หนองและสิ่งสกปรกภายในลำไส้จะไหลออกมาในช่องท้องได้ ทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบ หากเชื้อแบคทีเรียลุกลามเข้ากระแสเลือดจะเกิดภาวะเลือดเป็นพิษ และอาจเสียชีวิตได้

อาการของโรคไส้ติ่งอักเสบ

อาการแบ่งได้เป็น 2 แบบ

  1. แบบเฉียบพลัน (acute appendicitis) เป็นแบบที่พบเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการปวดมวน ๆ ท้องที่บริเวณรอบสะดือก่อนประมาณ 2-12 ชั่วโมง จากนั้นจึงย้ายไปปวดตรงตำแหน่งของไส้ติ่ง (McBurney's point) ที่ท้องด้านล่างขวา (หมายเลข 2) และเริ่มมีไข้ บางรายมีอาการที่ชวนให้ไขว้เขว เช่น ท้องเสีย อาเจียน หรือปัสสาวะบ่อย แต่เมื่อเวลาผ่านไป 24-36 ชั่วโมง อาการที่เด่นชัดคือปวดท้องด้านขวาล่างมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยจะเดินตัวตรงไม่ได้เพราะปวด ถ้าไอก็จะปวดมากขึ้น ถ้าเอามือกดลงไปลึก ๆ ตรงตำแหน่งของแมคเบอร์เน่ย์ แล้วปล่อยมือให้ผนังหน้าท้องเด้งกลับขึ้นมาทันทีจะปวดมากขึ้นกว่าตอนกด (localized rebound tenderness) ประมาณวันที่ 2-5 ของโรคหากยังไม่ได้รับการรักษาไส้ติ่งจะแตก จากนั้นจะปวดทั่วไปหมดทั้งท้อง ท้องอืด และมีไข้ขึ้นสูง
  2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่ชัดเจนอาจได้รับการรักษาด้วยยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะจนทำให้อาการอักเสบดีขึ้นบางส่วน และร่างกายก็จะช่วยสร้างเนื้อเยื่อมาห่อหุ้มหนองไว้จนกลายเป็นฝีของไส้ติ่ง ในกรณีนี้ไข้และอาการปวดจะหายไปพักหนึ่ง แล้วจะค่อย ๆ ปวดถ่วงเป็นพัก ๆ ที่ทัองน้อยด้านขวาขึ้นมาอีก ฝีอาจมีขนาดใหญ่ขึ้นจนคลำได้ในคนที่ผอม ๆ คล้ายมีก้อนอยู่ในท้องน้อยด้านขวา เมื่อกดลงไปบนก้อนก็จะรู้สึกเจ็บคล้ายเวลาเรากดลงไปบนสิวที่ขบหนอง

  3. แบบเรื้อรัง (chronic appendicitis) พบน้อยกว่ามาก อาการปวดจะไม่มีลักษณะเฉพาะ เป็นไม่มาก แต่เรื้อรัง และมักไม่มีไข้ วินิจฉัยได้ยาก ส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาโรคอื่นที่มีอาการปวดท้องในลักษณะนั้นก่อน ยังไม่มีการตรวจทั่วไปใดๆ ที่จะใช้วินิจฉัยไส้ติ่งอักเสบเรื้อรังได้ จะต้องวินิจฉัยโดยการตัดทีละโรคออก หรือเมื่อบังเอิญเกิดการอักเสบแบบเฉียบพลันขึ้นบนภาวะที่เป็นเรื้อรังเท่านั้น

การวินิจฉัยโรค

โดยทั่วไปหากประวัติชัดเจน แพทย์ที่มีความชำนาญสามารถวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบแบบเฉียบพลันได้จากการตรวจร่างกายเท่านั้น ความยากของการวินิจฉัยโรคอยู่ในเพศหญิงและในเด็ก เพราะในเพศหญิงมีรังไข่และท่อรังไข่ข้างขวาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับไส้ติ่ง และในเด็กอาจไม่สามารถอธิบายอาการปวดและการดำเนินไปของโรคได้ดีนัก

โรคที่ต้องวินิจฉัยแยกจากไส้ติ่งอักเสบทุกครั้งเพราะการรักษาไม่เหมือนกันคือ โรคนิ่วที่ท่อไตข้างขวา, โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ, โรคทางเดินอาหารอักเสบ, และภาวะลำไส้บิดตัว (volvolus)   ในสตรีต้องแยกภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก, โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ, รังไข่บิดตัว, ฝีของรังไข่ และโรคเอ็นโดเมตริโอสิส   ในเด็กต้องแยกภาวะลำไส้กลืนกัน (intussusception) ด้วย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการเอกซเรย์ช่องท้องเพื่อแยกภาวะนิ่ว ตรวจปัสสาวะเพื่อแยกโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ และตรวจนับเม็ดเลือดเพื่อดูภาวะการอักเสบติดเชื้อ ในผู้ป่วยหญิงที่ไม่แน่ใจต้องส่งสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจภายในด้วย

ในหญิงมีครรภ์ตำแหน่งของไส้ติ่งจะถูกมดลูกดันให้เลื่อนสูงขึ้นไปอีกเล็กน้อย และในผู้ป่วยบางรายไส้ติ่งอาจยาวลงมาถึงในอุ้งเชิงกราน หรืออาจม้วนไปทางด้านหลัง ทำให้ตำแหน่งที่ปวดไม่อยู่ตรงจุดแมคเบอร์เนย์พอดี ในกรณีที่ไม่แน่ใจแพทย์อาจใช้วิธีให้งดน้ำงดอาหารและเฝ้าดูอาการในโรงพยาบาลต่อไปก่อน

การตรวจพิเศษทางรังสีวิทยาช่วยในการวินิจฉัยโรคไส้ติ่งอักเสบได้น้อย และบางอย่างมีราคาแพงมาก เนื่องจากไส้ติ่งเป็นอวัยวะที่เล็กและไม่ทึบแสง เอกซเรย์ธรรมดาและอัลตราซาวด์มักมองไม่เห็น ภาพรังสีของช่องท้องอาจพบเงาของเม็ดอุจจาระที่อุดตันไส้ติ่งอยู่ที่ช่องท้องด้านขวาล่าง แต่ก็พบเห็นได้น้อยมาก การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ก็มีราคาแพง การทำแบเรี่ยมอีนิมาก็ดูจะยุ่งยากเกินไป

การรักษา

โรคไส้ติ่งอักเสบไม่ว่าแบบไหนต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกจึงจะหายขาด การให้ยาเป็นเพียงการรักษาเสริม ในกรณีที่เป็นแบบเฉียบพลัน (ไม่ว่าจะแตกแล้วหรือไม่) ต้องผ่าตัดฉุกเฉินเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงตามมา การผ่าตัดไส้ติ่งที่ยังไม่แตกสามารถทำได้ทั้งทางหน้าท้องและด้วยวิธีการส่องกล้องผ่าตัด (ถ้ามีแพทย์ที่ชำนาญ) แต่ถ้าแตกแล้ว เป็นฝี หรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่ปกติ ควรจะผ่าตัดทางหน้าท้องเท่านั้น

ในรายที่มีอาการมาหลายวันและการตรวจร่างกายพบว่ามีก้อนที่ท้องน้อยด้านขวาที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นฝีของไส้ติ่ง (ไม่ใช่ฝีของรังไข่ในเพศหญิง) ควรจะรักษาให้ยาปฎิชีวนะที่ออกฤทธิ์ครอบคลุมไปก่อน (เพราะก้อนอาจยังเละ ยุ่ย ไม่รวมตัวกันดี การผ่าตัดเข้าไปรื้อค้นอาจทำให้ก้อนฉีกขาดกระจัดกระจาย) ถ้าอาการปวดดีขึ้น ก้อนเล็กลง ค่อยนัดมาผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉินในอีก 6-12 สัปดาห์ต่อมา แต่ถ้ารักษาแล้วไม่ดีขึ้นก็อาจจําเป็นต้องผ่าตัดเลย

การป้องกัน

มีการศึกษาพบว่าภาวะท้องผูกมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดไส้ติ่งอักเสบ โดยพบว่าผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบมีจำนวนครั้งการถ่ายอุจจาระต่อสัปดาห์น้อยกว่ากลุ่มควบคุมปกติอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งไส้ตรงมักเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบนำมาก่อนด้วย

มีหลายการศึกษาพบว่าการกินอาหารที่มีกากใยต่ำมีส่วนในการทำให้เกิดโรคไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งตรงกันกับข้อมูลที่ว่าการกินอาหารที่มีกากใยต่ำทำให้มีช่วงเวลาในการบีบไล่อุจจาระนานขึ้น ดังนั้นวิธีที่อาจป้องกันโรคไส้ติ่งอักเสบได้คือ การรับประทานอาหารที่มีกากใยเพื่อช่วยในการขับถ่าย และฝึกนิสัยให้มีเวลานั่งขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน