โรคบาร์โตเนลโลสิส (Bartonellosis)

เชื้อบาร์โตเนลลา (Bartonella) เป็นแบคทีเรียกรัมลบที่อาศัยอยู่ในเซลล์ เดิมจัดอยู่ในตระกูลของริกเค็ทเซีย แต่ต่อมาพบมีมากมายหลายสายพันธุ์จึงแยกออกมา มีเพียง 3 สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดโรคในคนที่สำคัญ โรคที่เกิดขึ้นมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามสายพันธุ์ของเชื้อและแต่ละท้องถิ่น เช่น

  • Bartonella henselae ทำให้เกิดโรคแมวข่วน (Cat-scratch disease), Bacillary angiomatosis และ Peliosis hepatitis
  • Bartonella quintana ทำให้เกิดไข้เทรนช์ (Trench fever) และ Bacillary angiomatosis
  • Bartonella bacilliformis ทำให้เกิดโรคคาร์เรียน (Carrión's disease)

โรคบาร์โตเนลโลสิสจึงเป็นชื่อเรียกรวมของโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากเชื้อในกลุ่มนี้

คนติดเชื้อบาร์โตเนลลาโดยผ่านการกัดของแมลงพาหะ ได้แก่พวกเห็บ ไร หมัด และแมว อาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง บ่อยครั้งที่หายเองได้

อาการของโรค

  • โรคแมวข่วน (Cat-scratch disease)
  • ตุ่มนูนแดงหรือตุ่มหนอง ขนาด 3-5 มม. จะเกิดตรงตำแหน่งที่ถูกแมวที่มีเชื้อข่วนหรือขบหลังจากนั้นประมาณ 3-10 วัน แล้วจะค่อย ๆ หายไปเองใน 1-3 สัปดาห์ต่อมา แต่จะมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้นโตและกดเจ็บเกิดขึ้นแทน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้สึกว่ามีไข้หรือมีอาการร่วมอย่างอื่น ต่อมน้ำเหลืองที่โตและกดเจ็บนี้จะอยู่นาน 2-4 เดือน แล้วจะค่อย ๆ ยุบไปเองอีกเช่นกัน น้อยรายมากที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบอื่น เช่น เยื่อบุหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ หน่วยไตอักเสบ กระดูกติดเชื้อ เม็ดเลือดแดงแตก ปอดบวม หรือตาแดงข้างหนึ่งร่วมกับต่อมน้ำเหลืองหน้าหูข้างนั้นโต (Parinaud’s oculo-glandular syndrome)

  • โรค Bacillary angiomatosis และ Peliosis hepatitis
  • ทั้งสองโรคนี้มักเกิดร่วมกันในคนไข้เอดส์ หลังถูกแมลงที่มีเชื้อกัดจะมีรอยโรคที่ผิวหนังร่วมกับอาการของตับอักเสบ รอยโรคที่ผิวหนังมีลักษณะคล้าย Kaposi sarcoma คือเป็นตุ่มนูน สีแดงเข้ม ภายในมีกลุ่มของหลอดเลือดฝอย ผู้ป่วยจะมีไข้หนาวสั่น ปวดกระดูก ปวดท้อง อาเจียน ตัวเหลืองตาเหลือง ต่อมน้ำเหลืองและตับม้ามโต ตรวจการทำงานของตับพบว่าเอ็นไซม์ transaminases สูงไม่มาก แต่ Alkaline phosphatase จะสูงมาก (5-10 เท่าของค่าปกติ) อาการไข้และปวดท้องจะเป็นอยู่ประมาณ 1-8 สัปดาห์ แต่รอยโรคที่ผิวหนังยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายเดือน

  • ไข้เทรนช์ (Trench fever)
  • โรคนี้จะคล้ายโรคมาลาเรียและไข้กลับซ้ำ แต่ไม่มีการแตกของเม็ดเลือดแดง อาการไข้จะเริ่มหลังถูกหมัดที่มีเชื้อ Bartonella quintana กัดประมาณ 2 สัปดาห์ โดยจะมีไข้สูงเกิดขึ้นทันทีทันใดในวันแรก ปวดศีรษะมาก ตาแดง ปวดเนื้อตัว ปวดตามข้อ และปวดขา จากนั้นในวันที่สองและสามอาจมีไข้ขึ้นบ้างไม่สูงมาก เว้นไปอีกสองวันก็จะกลับมามีไข้สูงฉับพลันเช่นเดียวกับวันแรก ไข้จะมาเป็นชุด ๆ แบบนี้ ชุดละ 5 วัน ชาวบ้านจึงเรียกโรคนี้ว่า "five-day fever" หรือ "quintan fever" ช่วงที่มีไข้ก็จะปวดศีรษะ ตาแดง ปวดเนื้อตัวมากดังกล่าว วนเวียนอยู่อย่างนี้ประมาณ 2-6 สัปดาห์ก็จะหายไปเอง

  • โรคคาร์เรียน (Carrión's disease)
  • อาการจะมี 2 ระยะคือ

    1. ระยะเฉียบพลัน (Oroya fever) หลังถูกแมลงประเภท sand fly ที่มีเชื้อ Bartonella bacilliformis กัดประมาณ 3-12 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงฉับพลัน ซีด ตาเหลือง ต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโต และทรุดลงอย่างรวดเร็วจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (severe hemolytic anemia) บางรายจะมีอาการทางสมองด้วย โดยจะปวดศีรษะ หายใจเร็ว ซึมลง และชัก กว่าร้อยละ 40 จะเสียชีวิต จัดเป็นภาวะที่ร้ายแรงที่สุดของโรคกลุ่มบาร์โตเนลโลสิส
    2. ระยะเรื้อรัง (Verruga Peruana) จะพบเฉพาะในผู้ที่รอดตายโดยไม่ได้รับการรักษา หลังจากฟื้นไข้หลายสัปดาห์จะมีตุ่มเกิดขึ้นที่ผิวหนัง ขนาดต่าง ๆ กัน ภายในเป็นกลุ่มของหลอดเลือดฝอยที่รวมตัวกัน เมื่อโตขึ้นจะแตกออก มีเลือดไหล แล้วแผลจะหายเอง วนเวียนกันอย่างนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงมีภาวะซีดและตับม้ามโตต่อมาจากระยะเฉียบพลัน และอาจมีไข้กลับมาใหม่ได้

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยโรคที่เกิดจากเชื้อบาร์โตเนลลาทำได้หลายวิธี

  1. โดยการย้อมเลือดด้วยสี Giemsa ใช้กับโรคคาร์เรียนในระยะเฉียบพลัน จะพบตัว B bacilliformis อยู่ภายในเม็ดเลือดแดง รูปแท่ง โค้งเล็กน้อย
  2. โดยการย้อมของเหลวจากแผลหรือต่อมน้ำเหลืองด้วยวิธี Silver stains ต่าง ๆ ใช้กับโรคหรือระยะที่มีต่อมม้ำเหลืองโต
  3. โดยการเพาะเชื้อจากเลือด น้ำไขสันหลัง ต่อมน้ำเหลือง หรือชิ้นเนื้อของอวัยวะ ตามแต่อาการของโรค แต่ต้องใช้อาหารเลี้ยงเชื้อพิเศษที่เรียกว่า Bartonella alpha Proteobacteria Growth Medium (BAPGM) และใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์
  4. โดยวิธี IFA serology วิธีนี้สามารถระบุสายพันธุ์ได้ด้วย ถ้า IgM titer ตั้งแต่ 1:16 เป็นต้นไปถือว่าเป็นการติดเชื้อเฉียบพลัน
  5. โดยวิธี PCR วิธีนี้ค่อนข้างแน่นอน แต่มีค่าใช้จ่ายมาก
  6. โดยการตรวจทางพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อ มักใช้กับโรค Bacillary angiomatosis และ Peliosis hepatitis ทั้งตุ่มที่ผิวหนังและตับจะมีลักษณะของหลอดเลือดที่เกิดใหม่อยู่ภายใน และอาจพบตัวแบคทีเรียด้วย

สำหรับโรคแมวข่วนโดยทั่วไปไม่นิยมทำการเพาะเชื้อหรือตรวจขั้นสูงหากประวัติและอาการชัดเจนอยู่แล้ว เนื่องจากโรคมีอาการเบาและหายได้เอง

การรักษา

เชื้อบาร์โตเนลลาสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะทั่วไปหลายชนิด แต่ไม่แนะนำให้ทานยาในผู้ที่โดนแมวข่วนหรือกัดทุกราย โรคแมวข่วนที่ควรรับประทานยาคือผู้ที่มีอาการเจ็บต่อมน้ำเหลืองที่โตอยู่นานกว่า 1 สัปดาห์ CDC แนะนำให้รับประทานยา azithromycin ขนาด 500 มก.ในวันที่หนึ่ง ตามด้วยขนาด 250 มก./วัน อีกเป็นเวลา 4 วัน (ในเด็กใช้ขนาด 10 มก/กก ในวันแรก ตามด้วยขนาด 5 มม/กก อีก 4 วัน) เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรค

โรค Bacillary angiomatosis มักเป็นกับคนไข้เอดส์ สามารถใช้ยา erythromycin, doxycycline, azithromycin, co-trimoxazole, rifampicin, หรือยาในกลุ่ม quinolones รับประทานเป็นเวลา 1-2 เดือน รายที่เป็นรุนแรงอาจใช้ยาร่วมกันสองขนานนานอย่างน้อย 3 เดือน

ไข้เทรนช์ จะใช้ Doxycycline ขนาด 100 mg รับประทานวันละสองครั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์

โรคคาร์เรียนแม้จะดูรุนแรงแต่การรักษาง่ายมาก เพียงใช้ Doxycycline ขนาด 100 mg รับประทานวันละสองครั้งเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์

รายที่เพาะเชื้อขึ้นในเลือดแนะนำให้ Gentamicin ฉีด ในช่วงแรกเป็นเวลา 7-14 วัน

การป้องกัน

เนื่องจากโรคบาร์โตเนลโลสิสติดต่อโดยมีแมลง เห็บ ไร หมัดและแมวเป็นพาหะ การป้องกันสามารถทำได้โดยการสวมใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิดเมื่อจะออกจากบ้าน และควรรักษาบ้านเรือนให้สะอาดด้วย ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทันทีเมื่อถูกอะไรกัด ไม่ใช้มือสัมผัสกับอุจจาระของสัตว์โดยตรง