ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcemia)
โรคไข้กาฬหลังแอ่นเกิดจากเชื้อ Neisseria meningitidis หรือเมนนิงโกค็อคคัส (meningococcus) ปกติเชื้อแบคทีเรียนี้จะอาศัยอยู่ในโพรงจมูกของคนโดยไม่ทำให้เกิดโรค ติดต่อผ่านไปสู่อีกคนหนึ่งทางการหายใจ ส่วนใหญ่เชื้อจะก่อให้เกิดโรคในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุ และในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ
อาการของโรค
โรคไข้กาฬหลังแอ่นแสดงออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ
- ไข้กาฬหลังแอ่นในกระแสโลหิต (Meningococcemia) เป็นการที่เชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตแล้วแสดงอาการของเลือดเป็นพิษ อาการยังแบ่งออกได้เป็นชนิดเฉียบพลัน ชนิดรุนแรง และชนิดเรื้อรัง
1.1 อาการชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นในกระแสโลหิตชนิดเฉียบพลันจะมีไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะนำมาก่อนอาการไข้สูง หนาวสั่น หลังจากมีไข้ได้ 1-2 วันจะเริ่มเห็นจุดแดงขึ้นที่ผิวหนัง มักกระจายทั้งตัว จุดเหล่านี้เป็นจุดเลือดออกที่ผิวหนัง เมื่อเอานิ้วกดแล้วปล่อยจะไม่หายไปแล้วกลับคืนมาใหม่เหมือนผื่นแดงทั่วไป บางครั้งอาจพบเป็นตุ่มน้ำที่มีจุดแดงตรงกลาง ถ้าเอาน้ำจากตุ่มนี้ไปย้อมดูจะพบเชื้อได้ จุดแดงที่ผิวหนังจะมีสีคล้ำขึ้นภายใน 2-3 วัน และกลายเป็นสะเก็ดสีดำ ระหว่างนี้ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียมาก ปวดตามข้อ โดยเฉพาะที่ขาและที่หลัง
1.2 อาการชนิดรุนแรง บางทีเรียกว่า Waterhouse Friderichsen syndrome พบได้น้อย ผู้ป่วยจะมีไข้สูงแล้วช็อคทันทีโดยไม่มีอาการนำเหมือนชนิดเฉียบพลัน เกิดภาวะหลอดเลือดฝอยตีบตันทั่วร่างกายและเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
1.3 อาการชนิดเรื้อรัง พบได้น้อยมาก ผู้ป่วยจะมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ ปวดตามข้ออยู่เป็นเดือน ๆ บางรายจะมีจุดแดงตามผิวหนังให้เห็นด้วย
- ไข้กาฬหลังแอ่นในระบบประสาท (Meningococcal meningitis) เป็นการที่เชื้อจากโพรงจมูกเคลื่อนขึ้นสู่สมอง ทำให้เกิดอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มักพบในเด็ก ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง ซึมหรือสับสน แล้วจะเลวลงอย่างรวดเร็ว
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคไข้กาฬหลังแอ่นคือข้ออักเสบ มักเป็นหลาย ๆ ข้อ รองลงมาคือภาวะสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร เพราะเชื้อไปทำลายเส้นประสาทสมองเส้นที่ 8 ที่ควบคุมการได้ยิน ภาวะต่อมหมวกไตไม่ทำงานมักพบในรายที่เป็นไข้กาฬหลังแอ่นในกระแสโลหิตชนิดเฉียบพลันและรุนแรง นอกจากนั้นเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย เช่น โรคลมชักหลังจากเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ภาวะปอดอักเสบ ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นต้น
การวินิจฉัย
การจะระบุว่าเป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นที่แน่นอนต้องเพาะเชื้อขึ้นจากในเลือดหรือในน้ำไขสันหลัง การเพาะเชื้อขึ้นจากในโพรงจมูกไม่ได้บ่งว่าเป็นโรค ในระหว่างที่รอผลเพาะเชื้อ ซึ่งใช้เวลา 3-7 วัน การตรวจทางซีโรโลยีโดยวิธี latex agglutination จากเลือด หรือวิธี countercurrent immunoelectrophoresis จากน้ำไขสันหลังอาจช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยไข้กาฬหลังแอ่นในระยะแรกได้
อาการไข้และมีจุดแดงขึ้นตามผิวหนังต้องแยกจากไข้ออกผื่นจากเชื้อไวรัส ริคเค็ทท์เซีย สแตฟิโลค็อคคัส และจ้ำเลือดจากโรคเลือดต่าง ๆ อาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่พบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิวในน้ำไขสันหลัง ต้องแยกจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อ Pneumococcus และ Haemophilus influenzae
การรักษา
การรักษาจำเพาะของโรคไข้กาฬหลังแอ่นคือการให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อ N. meningitidis ได้แก่ Penicillin, Ampicillin, Chloramphenicol และ Third generation cephalosporins ในเด็กที่มีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบและยังไม่แน่ใจว่าเป็นเชื้อเมนนิงโกค็อคคัส อาจเลือกให้ Ampicillin ไปก่อน เพราะยาสามารถคลุมเชื้อ H. influenzae ได้ด้วย เมื่อทราบเชื้อและความไวกับยาแน่นอนแล้วจึงค่อยเปลี่ยนยาในภายหลัง
การรักษาโดยทั่วไปคือต้องประคับประคองภาวะช็อคและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของไข้กาฬหลังแอ่นด้วย
การป้องกัน
วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นที่มีใช้ในประเทศไทยสามารถป้องกันโรคได้ 4 สายพันธุ์คือ A, C, Y, W-135 แต่ในประเทศไทยสายพันธุ์ที่พบบ่อยที่สุดคือสายพันธุ์ B ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน ดังนั้นจึงยังไม่มีคำแนะนำให้การฉีดวัคซีนในคนไทยโดยทั่วไปในการป้องกันโรคนี้ ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนนี้มี 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ผู้ที่จะไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาหรือบางประเทศในยุโรป กลุ่มผู้แสวงบุญในพิธีฮัจจ์และอุมเราะห์ในประเทศซาอุดิอารเบีย และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะไปประเทศในแถบแอฟริกากลาง (เขต Meningitis belt)
ผู้ที่ดูแลสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคไข้กาฬหลังแอ่นควรรับประทานยาป้องกันนาน 2 วัน เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสกับโรคทางห้องปฏิบัติการควรได้รับเพนนิซิลินทั้งฉีดและกินเพื่อป้องกันโรคด้วย