โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease)
โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือโรคพีไอดี (PID) หรือโรคปีกมดลูกอักเสบ เป็นการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีในอุ้งเชิงกราน ตั้งแต่ภายในโพรงมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และเนื้อเยื่อโดยรอบ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ จัดว่าเป็นกามโรคที่ร้ายแรงอย่างหนึ่ง เพราะสามารถทำให้ท่อนำไข่ตีบตันจนเกิดภาวะมีบุตรยาก หรือท่อนำไข่บิดเบี้ยว ไม่สามารถส่งไข่ที่ผสมแล้วไปถึงมดลูก จนเกิดภาวะท้องนอกมดลูกในภายหลัง นอกจากนั้นพังผืดที่เกิดจากการอักเสบ นานไปอาจดึงรั้งหรือหดรัดลำไส้จนเกิดภาวะลำไส้อุดตันตามมาได้
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ได้แก่
- มีคู่นอนหลายคน หรือคู่นอนมีคู่นอนหลายคน
- เคยมีการติดเชื้อที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
- มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย (น้อยกว่าอายุ 25 ปี)
- การสวนล้างช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในช่องคลอด ลุกลามเข้าสู่โพรงมดลูก นำไปสู่การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานตามมา
- การใส่ห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิด
- การทำหัตถการในโพรงมดลูก เช่นการขยายปากมดลูก การขูดมดลูก เป็นต้น
เชื้อที่เป็นสาเหตุมีได้ตั้งแต่โกโนเรีย (N.gonorrhea), คลาไมเดีย (C.trachomatis), เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในช่องคลอดเอง และเชื้อกลุ่มที่ไม่ชอบออกซิเจน (anaerobe)
อาการของโรค
โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมีอาการสำคัญ 4 อย่าง คือ มีไข้ ปวดท้องน้อย ตกขาวสีเหลืองมีกลิ่นคล้ายหนอง และเจ็บมากเวลามีเพศสัมพันธ์ ไข้มักจะสูงและหนาวสั่น ส่วนใหญ่อาการปวดท้องน้อยมักเกิดก่อนหรือหลังการมีระดูไม่นาน ถ้าเชื้อเป็นโกโนเรีย (เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในในเพศชาย) อาการปวดท้องจะรุนแรงมากจนนอนขดตัวงอนิ่ง ๆ อยู่บนเตียง ผู้ป่วยจะปวดมากขึ้นเวลาเคลื่อนไหว ไม่สามารถเดินตัวตรงตามปกติได้ ถ้าลองให้ผู้ป่วยยืนเขย่งให้ส้นเท้าลอยเหนือพื้น แล้วปล่อยส้นเท้าลงให้สัมผัสกับพื้นเร็ว ๆ และแรง ๆ ซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้งจะทำให้ปวดท้องน้อยมาก (tip-toe test positive) บางรายอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย, ปัสสาวะแสบขัด, คลื่นไส้อาเจียนหรือถ่ายเหลว, และปวดท้องใต้ชายโครงขวา (Fitz-Hugh-Curtis syndrome) ร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้นคือการลุกลามถึงขั้นโลหิตเป็นพิษและเสียชีวิต หรือการเกิดฝีที่รังไข่ในกรณีที่ได้รับยาปฏิชีวนะรักษามาบางส่วน แต่ไม่ตรงกับเชื้อ
ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวแม้จะหายจากโรคแล้ว คือ การเกิดพังผืดเชื่อมอวัยวะต่าง ๆ ในอุ้งเชิงกรานเข้าด้วยกัน ทำให้อวัยวะแต่ละส่วนขยับตัวไม่ได้อย่างอิสระ ถูกดึงรั้ง หรือหดรัด ทำให้ทำงานไม่เป็นปกติ เกิดภาวะมีบุตรยาก ตั้งครรภ์นอกมดลูก และลำไส้อุดตันได้ง่าย บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังโดยเฉพาะเวลาที่มีเพศสัมพันธ์
อนึ่ง โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบที่เกิดจากเชื้อคลาไมเดียอาจไม่แสดงอาการอะไรเลย ผู้ป่วยเหล่านี้มักมาปรึกษาแพทย์ด้วยเรื่องมีบุตรยาก และแพทย์ตรวจพบการตีบตันของท่อนำไข่หรือพังผืดดึงรั้งอวัยวะในอุ้งเชิงกรานไปแล้ว
การวินิจฉัยโรค
โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบวินิจฉัยจากตรวจภายใน การตรวจปัสสาวะ การตรวจภาวะตั้งครรภ์ที่อาจเกิดร่วมด้วย การย้อมและเพาะเชื้อของเหลวจากช่องคลอด การตรวจเลือด และการทำอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของอุ้งเชิงกรานในกรณีที่อาการปวดท้องรุนแรงมาก เพื่อแยกภาวะท้องนอกมดลูก ภาวะติดเชื้อจากการทำแท้ง ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ ลำไส้อุดตัน และฝีที่รังไข่ ที่มีอาการคล้ายกันออกไป ซึ่งการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นี้ยังช่วยให้เห็นปริมาณหนองในอุ้งเชิงกรานเพื่อประเมินความรุนแรงของโรคได้ทางหนึ่ง
ในการตรวจภายใน แพทย์สูตินรีเวชบางท่านอาจทำการดูดหนองจากอุ้งเชิงกรานโดยตรงมาย้อมและเพาะเชื้อ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางท่านอาจทำการส่องกล้องจากหน้าท้องเข้าไปในดูอุ้งเชิงกรานเพื่อดูความรุนแรงของพยาธิสภาพว่าถึงขั้นต้องเข้าไปผ่าตัดแก้ไขหรือไม่
ในสตรีที่อาการเป็นไม่มากหรือปวดมากแต่ไม่มีไข้ชัดเจน มี 3 ภาวะที่ต้องแยกจากโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเสมอคือ
- การแตกของถุงน้ำรังไข่ (Ruptured corpus luteal cyst) อาการปวดท้องน้อยจะเกิดช่วงกลางของรอบเดือน ซึ่งตรงกับช่วงที่ไข่ตก ผู้ป่วยจะมีอาการซีดและความดันต่ำเนื่องจากเสียเลือดในช่องท้อง การตรวจภายในอาจกดเจ็บที่บริเวณปีกมดลูกเพียงเล็กน้อย และมีลักษณะโป่งนูนของก้นเชิงกรานเพราะมีเลือดคั่งอยู่ ผู้ป่วยไม่มีไข้ และผลเลือดก็ไม่แสดงลักษณะของการติดเชื้อชัดเจน
- การบิดตัวของถุงน้ำรังไข่ (Twisted ovarian cyst) อาการปวดท้องน้อยจะปวดรุนแรงอย่างฉับพลันทันที ที่ข้างใดข้างหนึ่งของท้องน้อยบริเวณปีกมดลูก ในรายที่ผอมอาจคลำได้ก้อนถุงน้ำที่กดเจ็บทางหน้าท้อง ถ้ามีไข้และอาการปวดค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ในเวลาหลายวันต้องนึกถึงฝีของรังไข่แทน
- ภาวะเอ็นโดเมตริโอสิส (Endometriosis) อาการปวดท้องมักเกิดตอนใกล้จะมีระดู และเป็นแบบนี้มาหลาย ๆ เดือน พอระดูมาจนหมดอาการปวดก็จะหายไป ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องน้อยเวลามีเพศสัมพันธ์ และมักมีบุตรยาก การวินิจฉัยที่แน่ขัดต้องอาศัยการทำอัลตราซาวด์และการส่องกล้องเข้าไปดูในอุ้งเชิงกราน
ภาวะติดเชื้อจากการทำแท้งเถื่อนเป็นอีกภาวะหนึ่งที่ผู้ป่วยควรจะบอกความจริงแก่แพทย์ตั้งแต่แรกเสมอ เพราะแพทย์อาจไม่นึกถึงเมื่อผลการตรวจการตั้งครรภ์ในปัสสาวะเป็นลบและอาการปวดก็คล้ายกับโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบมาก อีกทั้งผู้ป่วยก็มีไข้สูงเหมือนกัน แต่เชื้อที่ติดมาจากการทำแท้งที่ไม่สะอาดจะต่างจากเชื้อที่ทำให้เกิดอุ้งเชิงกรานอักเสบโดยทั่วไป การปิดบังประวัติทำให้การให้ยาของแพทย์ในระยะแรก(ก่อนที่ผลการเพาะเชื้อจะออก)อาจไม่ได้ครอบคลุมเชื้อที่ต้องสงสัย และผลเสียหายอย่างร้ายแรงจะเกิดแก่ตัวผู้ป่วยเอง
การรักษา
ผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์อย่างรวดเร็วโดยที่อาการยังไม่มาก อาจใช้เพียงยาปฏิชีวนะชนิดรับประทาน ส่วนใหญ่จะใช้เวลารักษาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามผลการรักษาประมาณ 2-3 วันหลังจากได้รับการรักษา เพื่อดูว่าอาการดีขึ้นและตอบสนองต่อการรักษาหรือไม่ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อรับยาปฏิชีวนะในรูปแบบฉีด ซึ่งจะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะเลย การผ่าตัดมดลูก และ/หรือปีกมดลูก ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษา
การรักษาโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบที่สมบูรณ์ต้องรักษาคู่นอนด้วย ไม่ว่าคู่นอนจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม มิฉะนั้นโรคจะเกิดซ้ำใหม่
การป้องกัน
แนวทางการป้องกันโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบอย่างง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
- ไม่สวนล้างช่องคลอด เนื่องจากการสวนล้างช่องคลอด จะเป็นการชะล้างเอาแบคที่เรียปกติที่มีอยู่ในช่องคลอดออกไป ทำให้แบคทีเรียก่อโรคเข้ามาอยู่ในช่องคลอดแทน
- ให้คู่นอนสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- มีคู่นอนเพียงคนเดียว