กลุ่มยาต้านดีพีพีโฟร์ (DPP4 inhibitors)
ยากลุ่มนี้บางทีก็เรียกว่ากลุ่ม "gliptins" เพราะชื่อยาในกลุ่มนี้ลงท้ายด้วย "-กลิปติน" หมด เป็นยาที่ยับยั้งเอนไซม์ดีพีพีโฟร์ไม่ให้สลายฮอร์โมนอินครีตินที่หลั่งมาจากทางเดินอาหารเร็วเกินไป ฮอร์โมนอินครีตินได้แก่ Glucagon-like peptide-1 (GLP-1) และ Gastric inhibitory polypeptide (GIP, เดิมชื่อ glucose-dependent insulinotropic polypeptide) มีหน้าที่กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินและลดการหลั่งกลูคากอน ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง ยากลุ่มนี้ยังมีราคาแพง ไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองเท่านั้น
ที่มาและการออกฤทธิ์
โลกค้นพบเอนไซม์ดีพีพีโฟร์ (Dipeptidyl-peptidase IV, DPP4) ในเวลาใกล้เคียงกับฮอร์โมนอินครีติน คือในราวปีค.ศ. 1966 แต่ยังไม่ทราบความสัมพันธ์ของทั้งคู่ 20 ปีต่อมากลไกการทำงานของกลุ่มฮอร์โมนอินครีตินโดยเฉพาะ GLP-1 ก็ถูกเปิดเผย แต่ GLP-1 อยู่ในกระแสเลือดได้เพียง 2-3 นาทีก็ถูกเอนไซม์ DPP4 ย่อยสลาย ช่วงทศวรรษที่ 1980s จึงเป็นช่วงที่มีการพัฒนายาต้านดีพีพีโฟร์ด้วยความหวังที่จะได้ยารักษาเบาหวานตัวใหม่ที่ไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะอินครีตินที่อยู่ได้นานขึ้นกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลินตามปริมาณน้ำตาลในเลือด ถ้าน้ำตาลไม่สูงก็ไม่กระตุ้น! จัดเป็นฮอร์โมนลดน้ำตาลที่แสนวิเศษ และในที่สุดเราก็ได้ยาต้านดีพีพีโฟร์ออกมาใช้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21
ยาต้านดีพีพีโฟร์ 3 ตัวแรกคือ Sitagliptin (Januvia®), Vildagliptin (Galvus®), และ Saxagliptin (Onglyza®) มีโครงสร้างของเพปไทด์เทียมในรูปสามมิติเข้ามาด้วย แต่ยารุ่นใหม่ถัดจากนั้น เช่น Linagliptin (Trajenta®), Alogliptin (Nesina®) ไม่มี ยา Linagliptin เป็นตัวเดียวในกลุ่มนี้ที่ขับออกทางไตน้อยที่สุด จึงสามารถใช้ได้ในคนไข้โรคไตวายเรื้อรัง
กลุ่มยาต้านดีพีพีโฟร์ออกฤทธิ์ลดน้ำตาลคล้ายกับกลุ่มยา GLP-1 analogs แต่มีข้อดีคือเป็นยารับประทาน ราคาจึงถูกกว่า GLP-1 analogs ซึ่งเป็นยาฉีด, ยายับยั้งเอนไซม์ดีพีพีโฟร์ซึ่งย่อยสลายฮอร์โมนอินครีตินทุกตัว จึงทำให้อินครีตินตามธรรมชาติทุกตัวออกฤทธิ์ได้นานขึ้น ผิดกับการฉีด GLP-1 analogs ซึ่งจะได้แต่ฮอร์โมน GLP-1, กลุ่มยาต้านดีพีพีโฟร์ทำให้ท้องอืดน้อยกว่าและไม่ลดความอยากอาหาร จึงไม่ทำให้น้ำหนักตัวลด ข้อเสียคือกลุ่มยาต้านดีพีพีโฟร์จะใช้ไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อย หากฮอร์โมนอินครีตินของผู้ป่วยเองลดน้อยลง
นอกจากนั้นกลุ่มยาต้านดีพีพีโฟร์ยังช่วยลดไขมันในเลือด, ช่วยลดความดันโลหิต, ลดการอักเสบ, ลดการเสื่อมของปลายประสาท ไต และจอตาในผู้ป่วยเบาหวาน, ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และช่วยกระตุ้นไขกระดูก [2]
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่สอง
การใช้กลุ่มยาต้านดีพีพีโฟร์ต้องมั่นใจว่าร่างกายสามารถผลิตฮอร์โมนอินครีตินและอินซูลินได้ เพราะยาไม่ได้ลดน้ำตาลในเลือดโดยตรง แต่ไปยับยั้งไม่ให้อินครีตินธรรมชาติสลายเร็วเกินไป อินครีตินที่คงอยู่จึงสามารถไปกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลินต่อได้
แนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้เป็นทางเลือกที่ 2 หรือ 3 ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาตัวอื่นได้ ยากลุ่มนี้นิยมใช้ร่วมกับยา Metformin หรือกลุ่ม Thiazolidinediones เพราะไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ปัจจุบันมียาผสมระหว่างยาต้านดีพีพีโฟร์กับเมทฟอร์มิน และยาต้านดีพีพีโฟร์กับไพโอกลิทาโซนแล้ว
ตารางข้างล่างแสดงขนาด วิธีรับประทาน และข้อควรระวังของกลุ่มยาต้านดีพีพีโฟร์ที่มีใช้ในปัจจุบัน
ชื่อสามัญ | ขนาดและวิธีใช้ | ข้อควรระวัง |
Sitagliptin | 25-100 mg วันละครั้ง | ยาถูกกำจัดทางไตอย่างเดียว ผู้ป่วยไตเสื่อมต้องลดขนาดยา eGFR 30-50 ใช้ขนาด 50 mg, eGFR <30 ใช้ขนาด 25 mg |
Vildagliptin | 50 mg วันละ 2 ครั้ง เช้า, เย็น | ยาถูกกำจัดทางตับและไต ถ้า eGFR <50 ให้รับประทานเพียงวันละครั้ง ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับ |
Saxagliptin | 2.5-5 mg วันละครั้ง | ยาถูกกำจัดทางตับและไต ถ้า eGFR <50 ใช้ขนาด 2.5 mg |
Linagliptin | 5 mg วันละครั้ง | ยาถูกกำจัดทางตับแทบทั้งหมด ใช้ได้ในผู้ป่วยไตวาย ประสิทธิภาพของยาจะลดลงเมื่อให้ร่วมกับยา Rifampicin |
Alogliptin | 6.25-25 mg วันละครั้ง | ยาถูกกำจัดทางตับและไต eGFR 30-50 ใช้ขนาด 12.5 mg, eGFR <30 ใช้ขนาด 6.25 mg |
กลุ่มยาต้านดีพีพีโฟร์ดูดซึมได้ดีและรวดเร็ว สามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้
** ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่ง
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
ผลข้างเคียงของกลุ่มยาต้านดีพีพีโฟร์ที่พบบ่อย คือ เยื่อบุจมูกและคอหอยอักเสบ ติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบน ที่พบไม่บ่อยคือ ตับอ่อนอักเสบ และแพ้ยาแบบลมพิษ หน้าบวม ** ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาอื่นที่รุนแรงแบบ anaphylaxis, angioedema, exfoliative skin, หรือ bronchial hypersensitivity ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้
หากใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับอินซูลินหรือกลุ่มยาซัลโฟนิลยูเรียต้องลดขนาดของอินซูลินหรือซัลโฟนิลยูเรียลง เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ยา Vildagliptin มีรายงานการเกิดตับอักเสบจากการใช้ยา จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับ ส่วนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังควรลดขนาดเหลือวันละครั้ง หรือไม่ควรใช้เลย
ปฏิกิริยาระหว่างยา
เมื่อใช้ Linagliptin ร่วมกับยาที่เป็น P-glycoprotein inducers หรือ CYP3A4 inducers เช่น Rifampicin จะทำให้ประสิทธิภาพของ Linagliptin ลดลง
เมื่อใช้ Saxagliptin ร่วมกับยาที่เป็น strong CYP3A4/5 inhibitors เช่น Clarithromycin, Telithromycin, Ketoconazole, Itraconazole, Indinavir, Ritonavir, Saquinavir จะทำให้ระดับยา Saxagliptin ในเลือดสูงขึ้น จึงควรลดขนาดลงเหลือ 2.5 mg วันละครั้ง ช่วงที่รับประทานยาร่วมกัน
เมื่อใช้ Sitagliptin ร่วมกับยา Digoxin จะทำให้ระดับยา Digoxin ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ควรระวังว่าอาจจะเกิดพิษของยา Digoxin ได้
บรรณานุกรม
- "Discovery and development of dipeptidyl peptidase-4 inhibitors." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia (14 กรกฎาคม 2561).
- Angelo Avogaro, Gian Paolo Fadini. 2014. "The Effects of Dipeptidyl Peptidase-4 Inhibition on Microvascular Diabetes Complications." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Diabetes Care 2014 Oct; 37(10): 2884-2894. (14 กรกฎาคม 2561).
- Nam Hoon Kim, Sin Gon Kim. 2013. "Comparison of DPP-4 Inhibitors." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J Korean Diabetes 2013 Sep;14(3):111-119. (18 กรกฎาคม 2561).