กลุ่มยาต้านเรนิน (Direct renin inhibitors, DRIs)
กลุ่มยาต้านเรนินเป็นยาลดความดันโลหิตกลุ่มใหม่ที่พัฒนาต่อมาจากกลุ่มยาต้านเอซและกลุ่มยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน เนื่องจากผู้ผลิตมีความเชื่อว่าระบบเรนิน-แองจิโอเทนซินเป็นตัวหลักที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง แต่ยาสองกลุ่มแรกยังไม่สามารถยับยั้งระบบนี้ได้สมบูรณ์ ยาต้านเอซทำให้ระดับเอ็นไซม์เรนินและตัว Angiotensin I ในเลือดสูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าอาจมีช่องทางอื่นที่เปลี่ยน Angiotensin I ไปเป็น Angiotensin II ได้อีก ส่วนยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซินก็ทำให้ระดับของเรนินและ Angiotensin II ในเลือดสูงขึ้น การตรวจพบสาร Angiotensin ในเลือดอีก 7 ชนิดก็ยิ่งทำให้เชื่อว่าตัวรับการกระตุ้นของ Angiotensin เหล่านี้ (AT1-7R) น่าจะมีตัวใดตัวหนึ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นด้วย ดังนั้นจึงควรที่จะมียาที่ยับยั้งระบบนี้ตั้งแต่ต้นทาง
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ยาต้านเรนินตัวแรกคือ Pepstatin เป็นสารเป็ปไทด์ที่สร้างคล้าย Angiotensinogen จึงต้องอยู่ในรูปยาฉีด อีกสิบปีต่อมาถึงผลิตยากินที่มีโครงสร้างคล้ายเป็ปไทด์ได้ คือ Enalkiren, Remikiren และ Zankiren แต่ไม่มีตัวไหนผ่านการวิจัยทางคลินิก เพราะมีปัญหายาดูดซึมจากทางเดินอาหารได้น้อย ทั้งยังออกฤทธิ์สั้น ลดความดันได้ไม่ดี
Aliskiren (อลิสไคเรน) เป็นยาต้านเรนินตัวแรกที่ไม่ใช่สารเป็ปไทด์ ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ตั้งแต่ปีค.ศ. 2007 ยาจับกับเอ็นไซม์เรนินตรงตำแหน่งที่ Angiotensinogen จับ ทำให้ Angiotensinogen เปลี่ยนต่อไปเป็น Angiotensin ชนิดต่าง ๆ ไม่ได้ แต่ตัวยาอลิสไคเรนก็ยังมีปัญหาเรื่องการดูดซึม โดยดูดซึมได้เพียง 2% ของยาที่รับประทานเข้าไป เมื่อใช้ในขนาดสูงผู้ป่วยมักมีท้องเสียจากยาส่วนที่เหลือในทางเดินอาหาร แพทย์จึงไม่ค่อยนิยมใช้กัน
ยาต้านเรนินรุ่นถัดมายังอยู่ระหว่างการวิจัยทางคลินิก ยาถูกพัฒนาให้ดูดซึมและกระจายตัวในเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น คาดว่าน่าจะได้ใช้กันในอีกไม่นานนี้
การใช้ยาที่เหมาะสม
ยาต้านเรนินปัจจุบันจัดเป็นยาแถวที่สองที่ใช้ลดความดันโลหิต (แถวแรกมี 4 กลุ่ม คือ ยาขับปัสสาวะ ยาต้านเอซ ยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน และยาปิดแคลเซียมแชนแนล) แม้ตามทฤษฎีกลุ่มยาต้านเรนินควรจะลดความดันโลหิตได้มากกว่ากลุ่มยาต้านเอซและกลุ่มยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน แต่ในความเป็นจริงยากลุ่มนี้มิได้ลดความดันได้มากกว่า และยังต้องใช้ยาผสมกับกลุ่มอื่นเพื่อให้ความดันลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกลับไปที่ข้อสรุปเดิมว่า โรคความดันโลหิตสูงเกิดจากหลายปัจจัยในร่างกาย
ในปีค.ศ. 2012 FDA ของสหรัฐออกคำเตือนไม่ให้ใช้อลิสไคเรนร่วมกับยาต้านเอซหรือยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซินในผู้ป่วยที่ไตเสื่อม (GFR < 60 mL/min) โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากยาทั้งสามกลุ่มทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้นและก่อให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ แต่ในความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ยาทั้งสามกลุ่มไม่ควรใช้ร่วมกันเลยไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มใด เพราะมีกลไกการลดความดันโลหิตที่เหมือนกัน นอกจากนั้นยาต้านเรนินยังเพิ่มทั้งระดับของเรนินและโปรเรนิน (prorenin) ในเลือด ซึ่งเรายังไม่ทราบผลระยะยาวของการเพิ่มโปรเรนินในมนุษย์ แต่ในสัตว์ทดลอง การกระตุ้นตัวรับโปรเรนินทำให้เกิดขบวนการสร้างพังผืด (fibrotic pathway) ขึ้นในร่างกาย
ด้วยเหตุผลทั้งหลายทั้งมวลดังกล่าว ยาต้านเรนินจึงยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลายเหมือนยาลดความดันกลุ่มอื่น ๆ