ยาอลิสไคเรน (Aliskiren)
อลิสไคเรนเป็นยากินตัวแรกของกลุ่มยาต้านเรนิน ออกวางตลาดตั้งแต่ปีค.ศ. 2008 แต่ปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมใช้ ยาสามารถลดความดันได้พอ ๆ กับกลุ่มยาต้านเอซและกลุ่มยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน มิได้ลดได้ดีกว่าตามทฤษฎี และสามารถลดการเสื่อมของไต (albuminuria, albumin/creatinine ratio) ในผู้ป่วยเบาหวานได้เหมือนกับยาสองกลุ่มแรก
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ยาอลิสไคเรนเป็นสารสังเคราะห์ที่มีสูตรโครงสร้างคล้าย Angiotensinogen แต่มีโมเลกุลเล็กกว่ามาก ยาละลายน้ำได้ดี แต่ดูดซึมจากทางเดินอาหารได้เพียง 2% ได้ระดับยาสูงสุดในเลือดหลังรับประทานเข้าไปประมาณ 1-2 ชั่วโมง ยาอลิสไคเรนจับเอ็นไซม์เรนินได้แน่น กันไม่ให้เอ็นไซม์เปลี่ยน Angiotensinogen ไปเป็น Angiotensin I ยามีระยะครึ่งชีวิตประมาณ 37 ชั่วโมง และถูกขับออกทางน้ำดีเกือบทั้งหมด ยากลุ่มนี้ทำให้ระดับของเรนินและโปรเรนินในเลือดสูงขึ้น ซึ่งในระยะยาวยังไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้ลดความดันโลหิตในโรคความดันโลหิตสูง
ยาอลิสไคเรนได้รับอนุมัติให้ใช้ควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยที่อายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น ขนาดยาที่ใช้คือ 150-300 mg วันละครั้ง ยาสามารถรับประทานก่อนหรือหลังหรือพร้อมอาหารก็ได้ แต่อาหารที่มีไขมันมากจะลดการดูดซึมของยาลงอีก อาหารประเภทส้ม ส้มโอ น้ำส้มก็ลดการดูดซึมของยาลง ยาออกฤทธิ์ลดความดันเต็มที่ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ การปรับเพิ่มขนาดจึงควรทำหลังจากนั้น
JNC (Joint National Committee) ไม่แนะนำให้ใช้อลิสไคเรนเป็นยาตัวแรกในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
ยาอลิสไคเรนห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และสตรีที่ยังให้นมบุตรอยู่, ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้กลุ่มยาต้านเอซหรือกลุ่มยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซินอยู่แล้ว, ผู้ที่มีท่อน้ำดีอุดตัน, ผู้ป่วยโรคตับ, ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง, ผู้ที่มีโพแทสเซียมในเลือดสูงเป็นนิตย์ และไม่ควรให้ในผู้ที่มีเส้นเลือดแดงที่ไตตีบทั้งสองข้าง (หรือข้างเดียวกรณีที่มีไตเพียงข้างเดียว)
ผลข้างเคียงของยาอลิสไคเรนได้แก่ เป็นผื่น ไอ ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ชักเกร็งหรือกระตุก โลหิตจาง ตับอักเสบ การทำงานของไตแย่ลง โพแทสเซียมในเลือดสูง โซเดียมในเลือดต่ำ และกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น
การรับประทานยาในขนาดสูงเกินไปอาจทำให้ความดันต่ำอยู่นาน และไม่สามารถกำจัดยาออกได้ด้วยวิธีฟอกเลือด
ปฏิกิริยาระหว่างยา
เนื่องจากยาอลิสไคเรนถูกเมตาบอไลต์โดยเอ็นไซม์ cytochrome P450 จากการศึกษานอกร่างกาย จึงคาดว่ายาอาจมีปฏิกิริยากับยาอื่นที่ถูกเมตาบอไลต์โดยเอ็นไซม์ตัวนี้ด้วย แต่การศึกษาทางคลินิกยังมีไม่มากพอ จึงได้แต่ออกคำเตือนไว้ดังต่อไปนี้
- ยาที่อาจลดฤทธิ์ของอลิสไคเรนได้แก่ แอมเฟตามีน, Irbesartan, Methylphenidate, Yohimbine, ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด
- ยาที่อาจเพิ่มฤทธิ์ของอลิสไคเรนได้แก่ Atorvastatin, Barbiturates, Benperidol, Risperidone, Canagliflozin, Cyclosporine, Diazoxide, Itraconazole, Ketoconazole, Levodopa, Lormetazepam, Molsidomine, Naftopidil, Nicergoline, Obinutuzumab, Pentoxifylline, Quinagolide, Verapamil, ยากลุ่ม Phosphodiesterase 5 Inhibitors, และยากลุ่ม Prostacyclin Analogues
- ยาที่อาจเพิ่มฤทธิ์เมื่อให้คู่กับอลิสไคเรนได้แก่ ยารักษาโรคทางจิต, ยาลดไขมันในเลือด
- ยาที่อาจลดฤทธิ์เมื่อให้คู่กับอลิสไคเรนได้แก่ ยาขับปัสสาวะฟูโรซีไมด์
ยาที่อาจเสริมฤทธิ์ทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงได้ง่ายขึ้นเมื่อให้ร่วมกับยาอลิสไคเรนคือ Heparin, Drospirenone, Nicorandil, ยาขับปัสสาวะกลุ่ม K-sparings, ยาต้านเอซ, ยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน รวมทั้งเครื่องดื่มและอาหารเสริมที่มีธาตุโพแทสเซียมผสมอยู่ด้วย