กลุ่มยาต้านอัลฟากลูโคสิเดส (α-glucosidase inhibitors)

ยากลุ่มนี้เป็นยาควบคุมน้ำตาลในเลือดหลังอาหารไม่ให้ขึ้นเร็วเกินไป ยาจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้เป็นยารักษาเบาหวานชนิดที่สองในระยะแรกที่มีแต่น้ำตาลหลังอาหารสูง (140-199 mg%) หรือผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองที่ใช้ยากลุ่มอื่นควบคุมแล้วน้ำตาลหลังอาหารก็ยังสูงอยู่ (≥ 200 mg%) โดยรับประทานพร้อมอาหารคำแรก

ที่มาและการออกฤทธิ์

คาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลธรรมชาติที่ร่างกายมนุษย์สามารถย่อยสลายด้วยเอนไซม์และนำไปใช้เป็นพลังงานได้ต้องมีพันธะระหว่างโมเลกุลของน้ำตาลชนิดอัลฟา (α-) เท่านั้น และเรียกพันธะที่เกิดขึ้นระหว่างน้ำตาลชนิดอัลฟานี้ว่า พันธะ α-glucosidic เอนไซม์ที่ย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตเหล่านี้จึงมีชื่อว่า α-glucosidase เอนไซม์นี้หลั่งออกมาจากผนังลำไส้เล็กส่วนต้น เมื่อน้ำตาลโมเลกุลคู่ ได้แก่ sucrose, lactose, maltose ถูกย่อยจนเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวแล้วจึงถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด

จากภาพจะเห็นว่าถ้าไม่มีตัวยับยั้งเอนไซม์ AG (รูป a) น้ำตาลในเลือดหลังอาหารจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ถ้ามียาต้านอัลฟากลูโคสิเดส (AGI) คาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยช้าลง และค่อย ๆ ดูดซึมจนถึงลำไส้เล็กส่วนปลาย (รูป b)

กลุ่มยาต้านอัลฟากลูโคสิเดสปัจจุบันมี 3 ตัวคือ Acarbose, Miglitol, และ Voglibose ในการออกฤทธิ์ยาจะแข่งกับน้ำตาลโมเลกุลคู่ในการจับกับเอนไซม์ ซึ่งกลไกการแข่งจะเป็นแบบ reversible competitive คือพอเอนไซม์ตัดสายพันธะได้ก็หลุดออก หากยังมียาอยู่ในกระแสเลือดก็จะมาแย่งจับกับเอนไซม์อีก เมื่อยาถูกตัดจนหมด เอนไซม์จึงมาย่อยน้ำตาลที่เรารับประทานเข้าไป ยา Acarbose ซึ่งมีโครงสร้างเป็น oligosaccharides สามารถยับยั้งเอนไซม์ pancreatic amylase ได้ด้วย จึงช่วยชะลอการย่อยคาร์โบไฮเดรตที่มีขนาดใหญ่กว่า disaccharides ต่างจากยา Miglitol และ Voglibose ที่ยับยั้งแต่เอนไซม์อัลฟากลูโคสิเดสเท่านั้น ยา Acarbose จึงมีผลข้างเคียงเรื่องท้องอืด อาหารไม่ย่อยมากกว่า

ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์ในทางเดินอาหาร (ยาถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดน้อยมาก ยกเว้น Miglitol ที่ถูกดูดซึมได้ 50%) ประสิทธิผลในการลดน้ำตาลในเลือดหลังอาหารของกลุ่มยาต้านอัลฟากลูโคสิเดสจะมากที่สุดเมื่อรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตแต่น้อย เพราะยายังแข่งกับคาร์โบโอเดรตที่กินเข้าไปได้ ถ้ารับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเข้าไปเป็นจำนวนมาก ยาก็ไม่สามารถแข่งกับคาร์โบไฮเดรตจำนวนมากได้ จะดูเหมือนว่ายาไม่ได้ช่วยลดน้ำตาลในเลือดเลย

ยากลุ่มนี้ต้องรับประทานวันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหาร ไม่ควรรับประทานร่วมกับยาลดไขมันกลุ่ม Cholestyramine เพราะ Cholestyramine จับยาต้านอัลฟากลูโคสิเดสได้ ประสิทธิภาพจะลดลง และไม่ควรรับประทานร่วมกับยาที่เป็นเอนไซม์ช่วยย่อยอาหาร เช่น Combizym®, Creon10000®, Magesto®, Polyenzyme® เพราะเอนไซม์เหล่านี้จะช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรตแทนเอนไซม์กลูโคสิเดสที่ถูกยาจับไว้

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้เสริมยาอื่นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง
  2. กลุ่มยาต้านอัลฟากลูโคสิเดสช่วยลดน้ำตาลหลังอาหารได้ดี แต่ลด HbA1C และน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (FPG) ได้ไม่มากเมื่อเทียบกับยาเบาหวานชนิดอื่น จึงนิยมใช้เสริมยาลดน้ำตาลในเลือดกลุ่มอื่น ๆ

    ขนาดยา Acarbose คือ 25-300 mg/วัน สูงสุดไม่เกิน 600 mg/วัน

    ขนาดยา Voglibose คือ 0.6 mg/วัน สูงสุดไม่เกิน 0.9 mg/วัน

    ขนาดยา Miglitol คือ 25-300 mg/วัน สูงสุดไม่เกิน 300 mg/วัน

  3. ใช้ป้องกันในผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคเบาหวาน
  4. ผู้ที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคเบาหวานได้แก่ผู้ที่มาตรวจสุขภาพแล้วพบค่าผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งข้างล่างนี้

    ผู้ที่ตรวจพบแนวโน้มดังกล่าวอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านอัลฟากลูโคสิเดสเสมอไป ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ควบคุมอาหารหวานก่อน

  5. ใช้เสริมยาอินซูลินในโรคเบาหวานชนิดที่หนึ่งที่คุมน้ำตาลได่ยาก
  6. มีเพียงยา Voglibose เท่านั้นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในข้อบ่งใช้นี้ในประเทศไทย

  7. อื่น ๆ
  8. ยา Voglibose ยังมีที่ใช้ในบางภาวะ เช่น

    • ใช้ป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในโรค Glycogen storage disease type Ib และภาวะ Hyperinsulinemia
    • ใช้ควบคุมน้ำตาลในเลือดในภาวะที่ผู้ป่วยได้รับยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาโรคบางอย่าง

    จากการศึกษาพบว่ายา Voglibose สามารถลดการสร้างเม็ดสีของผิวหนัง (melanin) ลงได้ด้วย แต่การนำมาใช้จริงคงต้องรอการศึกษาต่อไป

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงของกลุ่มยาต้านอัลฟากลูโคสิเดสที่พบบ่อย คือ อาการท้องอืด ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร คลื่นไส่ อาเจียน เนื่องจากยายับยั้งไม่ให้คาร์โบไฮเดรตถูกย่อยในลำไส้เล็กส่วนต้น เมื่อคาร์โบไฮเดรตเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่จะกลายเป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียเพิ่มจำนวนขึ้น ย่อยคาร์โบไฮเดรตเหล่านี้ได้แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์และกรดไขมัน จึงทำให้รู้สึกมีลมในท้องและผายลมมีกลิ่นเหม็น

ผลข้างเคียงต่อระบบอื่นพบน้อยมาก เพราะยาแทบไม่ดูดซึมเข้ากระแสเลือด ที่พบบ้างได้แก่ ภาวะเอนไซม์ตับสูงขึ้น, ภาวะแก๊สแทรกในผนังทางเดินอาหาร (pneumatosis cystoides intestinalis)

ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ใน

  1. หญิงมีครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร เพราะยังไม่มีการศึกษาถึงความปลอดภัย
  2. ผู้ป่วยโรคตับแข็ง
  3. ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง
  4. ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบชนิด Inflammatory bowel disease หรือโรคลำไส้ที่มีการอุดตัน หรือผู้ที่มีภาวะแก๊สในลำไส้มากอยู่แล้ว

ปฏิกิริยาระหว่างยา

การใช้ยาต้านอัลฟากลูโคสิเดสร่วมกับยา Digoxin อาจทำให้ฤทธิ์ควบคุมหัวใจเต้นรัวของยา Digoxin ลดลง เพราะแบคทีเรียที่เพิ่มขึ้นในลำไส้อาจสลาย lactone ring ของ Digoxin จึงควรตรวจสอบการเต้นของหัวใจระหว่างที่ใช้ยาร่วมกัน

บรรณานุกรม

  1. "Alpha-glucosidase inhibitor." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia (26 กรกฎาคม 2561).
  2. Ajay S. Dabhi, et. al. 2013. "Voglibose: An Alpha Glucosidase Inhibitor." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา J Clin Diagn Res. 2013 Dec: 7(12): 3023-3027. (26 กรกฎาคม 2561).