ยาแอมโลดิพีน (Amlodipine)

ยาแอมโลดิพีนเป็นยาลดความดันในกลุ่ม DHP ของยาปิดกั้นช่องแคลเซียมที่มีระยะครึ่งชีวิตยาว 30-50 ชั่วโมง สามารถควบคุมความดันเลือดได้นาน 24 ชั่วโมงโดยให้เพียงวันละครั้ง เป็นหนึ่งในยาที่จำเป็นขององค์การอนามัยโลก และอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย จัดเป็นยาที่ได้รับความนิยมใช้สูงเนื่องจากยาพ้นอายุสิทธิบัตรแล้ว ราคาจึงถูกลงมาก หลายบริษัทได้นำยาแอมโลดิพีนมาผสมกับยากลุ่มอื่นที่ใช้คู่กันบ่อย เช่น ยาลดไขมันในเลือด ยาลดความดันโลหิตกลุ่มอื่น จึงเกิดชื่อการค้าภายใต้สัดส่วนของยาแอมโลดิพีนกับยาอื่นมากมาย อาทิ

  • Caduet® = Amlodipine/atorvastatin ขนาด 2.5/10 mg, 2.5/20 mg, 2.5/40 mg, 5/10 mg, 5/20 mg, 5/40 mg, 5/80 mg, 10/10 mg, 10/20 mg, 10,40 mg, 10/80 mg
  • Tekamlo® = Amlodipine/aliskiren ขนาด 5/150 mg, 10/150 mg, 5/300 mg, 10/300 mg
  • Amturnide® = Amlodipine/aliskiren/hydrochlorothiazide ขนาด 5/150/12.5 mg, 5/300/12.5 mg, 5/300/25 mg, 10/300/12.5 mg, 10/300/25 mg
  • Lotrel® = Amlodipine/benazepril ขนาด 2.5/10 mg, 5/10 mg, 5/20 mg, 5/40 mg, 10/20 mg, 10/40 mg
  • Azor® = Amlodipine/olmesartan ขนาด 5/40 mg, 10/20 mg, 10/40 mg, 10/20 mg, 10/40 mg, 10/20 mg
  • Tribenzor® = Amlodipine/olmesartan/hydrochlorothiazide ขนาด 20/5/12.5 mg, 40/5/12.5 mg, 40/5/25 mg, 40/10/12.5 mg, 40/10/25 mg, 20/5/12.5 mg, 40/10/12.5 mg, 40/10/25 mg, 20/5/12.5 mg
  • Prestalia® = Amlodipine/perindopril ขนาด 2.5/3.5 mg, 5/7 mg, 10/14 mg
  • Exforge® = Amlodipine/valsartan ขนาด 5/160 mg, 10/160 mg, 5/320 mg, and 10/320 mg
  • Exforge HCT® = Amlodipine/valsartan/ hydrochlorothiazide ขนาด 5/160/12.5 mg, 10/160/12.5 mg, 5/160/25 mg, 10/160/25 mg, 10/320/25 mg
  • Twynsta® = Amlodipine/telmisartan ขนาด 5/40 mg, 10/40 mg, 5/80 mg, 10/80 mg

การใช้ยาผสมเหล่านี้ควรสังเกตสัดส่วนของยาแต่ละตัวให้ดี เพื่อให้ไม่เกิดความผิดพลาดในการซื้อยาครั้งต่อไป

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยาแอมโลดิพีนพัฒนาต่อมาจากยาไนเฟดิพีน โดยเปลี่ยนโครงสร้างรอบนอกเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ยาออกฤทธิ์ยาวนานขึ้นมาก ยามีฤทธิ์ยับยั้งแคลเซียมเข้าเซลล์ที่กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย รวมทั้งหลอดเลือดแดงโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดเหล่านี้คลายตัว จึงสามารถลดความดันโลหิตและบรรเทาอาการแน่นอกขณะออกแรงในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงโคโรนารีตีบได้

ยาดูุดซึมได้ดีในทางเดินอาหาร โดยอาหารไม่มีผลต่อการดูดซึม ระดับยาในเลือดขึ้นสูงสุดหลังรับประทานประมาณ 8 ชั่วโมง ร้อยละ 93 จับกับโปรตีนในเลือด ทำให้มีระยะครึ่งชีวิตยาว จากนั้นยาจะถูกตับเปลี่ยนให้เป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ แล้วถูกขับออกทางไต ระดับยาจะคงที่ในเลือดหลังรับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 7-8 วัน ดังนั้นการปรับขนาดยาจึงควรรอให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่ก่อนประมาณ 2 สัปดาห์

ผู้ป่วยโรคไตวายไม่จำเป็นต้องลดขนาดยา แต่ผู้ป่วยโรคตับควรเริ่มที่ขนาดต่ำหรือรับประทานเป็นวันเว้นวัน หากเลี่ยงไปใช้ยาตัวอื่นได้ก็ควรเลี่ยง ยาแอมโลดิพีนไม่เหมาะที่จะใช้ในหญิงมีครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี เพราะพบว่าเกิดพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ทดลอง ยาผ่านสู่น้ำนมได้ และยังไม่มีการศึกษาถึงความปลอดภัยและประสิทธิผลของยาในเด็กเล็ก

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้ลดความดันโลหิตในโรคความดันโลหิตสูง
  2. ขนาดยาแอมโลดิพีนที่ใช้ในผู้ใหญ่คือ 2.5-10 mg วันละครั้ง ปรับขนาดยาครั้งละ 2.5 mg ในช่วงเวลา 7-10 วัน ผู้สูงอายุควรเริ่มที่ 2.5 mg ส่วนผู้ใหญ่วัย 20-60 ปีที่ความดันค่อนข้างสูงอาจเริ่มที่ 5 mg

    ในเด็กอายุ 6-17 ปี ใช้ขนาด 0.05-0.30 mg/kg/วัน สูงสุดไม่เกิน 10 mg/วัน วันละครั้ง

    ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบยังไม่ได้รับการยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัย แต่กุมารแพทย์บางท่านก็ใช้ยานี้ในขนาด 0.05-0.20 mg/วัน โดยแบ่งให้วันละ 1-2 ครั้ง (เพราะการตอบสนองต่อยานี้ในเด็กต่างจากผู้ใหญ่) สูงสุดไม่เกิน 10 mg/วัน

    เด็กทารกไม่แนะนำให้ใช้

  3. ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอาการแน่นอกเรื้อรัง (ร่วมกับยาอื่น)
  4. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เหมาะที่จะใช้ยานี้คือ ผู้ที่มีภาวะแน่นอกเรื้อรังที่เอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจแล้วยังไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือขยายหลอดเลือด (chronic stable angina), และผู้ที่มีอาการเจ็บอกจากหลอดเลือดหัวใจหดตัวเป็นพัก ๆ (vasospastic angina)

    ขนาดยาแอมโลดิพีนที่ใช้ในภาวะเหล่านี้คือ 5-10 mg วันละครั้ง

ยาแอมโลดิพีนสามารถรับประทานได้ทั้งก่อน พร้อม หรือหลังอาหาร เพราะอาหารไม่เปลี่ยนการดูดซึมของยา

** ผู้ป่วยโรคตับควรใช้ไม่เกินวันละ 5 mg

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

- ผลข้างเคียงที่พบได้ > 10% ได้แก่อาการบวม และผลข้างเคียงที่เพิ่มขึ้นตามขนาดยาได้แก่ หน้าแดง ใจสั่น เวียนศีรษะ

- ผลข้างเคียงที่พบได้ 1-10% ได้แก่ อาการอ่อนล้า ง่วงซึม ผื่นผิวหนัง คัน น้ำท่วมปอด (โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว)

- ผลข้างเคียงที่พบได้ < 1% ได้แก่ หัวใจเต้นช้า ความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนท่า เอ็นไซม์ตับเพิ่มสูงขึ้น เม็ดเลือดขาวน้อย เกร็ดเลือดต่ำ เหงือกบวม

อาการบวมเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยาในกลุ่มปิดกั้นช่องแคลเซียมทุกตัว มักบวมตึงบริเวณข้อเท้า รอบตาตุ่ม ไม่เจ็บ และกดไม่บุ๋ม ระดับความบวมสัมพันธ์กับขนาดยาที่ใช้ แต่ส่วนใหญ่บวมเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง มีผู้ป่วยน้อยกว่า 1% ที่ต้องหยุดยา การบวมเป็นผลจากการขยายตัวของหลอดเลือดแดงจิ๋ว (arteriole) ที่อวัยวะส่วนปลายของร่างกาย ไม่ได้เป็นผลจากการคั่งของโซเดียมและน้ำ จึงใช้ยาขับปัสสาวะรักษาไม่ได้ผล และไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม

นอกจากนี้ควรระวังการใช้กลุ่มยาปิดกั้นช่องแคลเซียมในผู้ป่วยที่มี

ปฏิกิริยาระหว่างยา

เนื่องจากยาถูกสลายที่ตับด้วยเอ็นไซม์ cytochrome จึงมีปฏิกิริยากับยาหลายตัวที่ใช้ร่วมกัน โดย...

- ระดับยาแอมโลดิพีนในเลือดจะลดลงเมื่อใช้ร่วมกับยา Rifampicin, Carbamazepine, Barbiturate, Phenytoin, ใบแปะก๊วยและโสม

- ระดับยาแอมโลดิพีนในเลือดจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อรากลุ่ม Azoles, ยา Cyclosporin, ยาต้านไวรัสกลุ่ม Protease inhibitors, และยา Simvastatin, INH, Clarithromycin

ยาแอมโลดิพีนจะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อใช้ร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs, ยาแอสไพรินขนาดสูง (≥ 300 mg), Melatonin, ยาคุมกำเนิดที่มี Estrogen เป็นส่วนประกอบ

ยาแอมโลดิพีนจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs (เพิ่มฤทธิ์ลดความดันเลือด), ยาสลบ (เสริมฤทธิ์กดการทำงานของหัวใจ) และกลุ่มยาปิดตัวรับเบตา (เสริมฤทธิ์ทั้งลดความดันและกดการทำงานของหัวใจ)

** ห้ามใช้ยาแอมโลดิพีนร่วมกับยา Simvastatin ขนาดเกิน 20 mg เพราะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis)