กลุ่มยาอไมลิน (Amylin)
กลุ่มยาอไมลินบ้างก็เรียกว่า Amylin agonists บ้างก็เรียกว่า Amylin analogs เป็นยาสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนอไมลินที่หลั่งจากเบตาเซลล์ของตับอ่อน ใช้เป็นยาเสริมฤทธิ์ยาอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่งและสอง ปัจจุบันยังมีตัวเดียว คือ ยาแพรมลินไทด์ (Pramlintide) ยาอยู่ในรูปฉีดเข้าใต้ผิวหนังแยกต่างหากจากยาอินซูลิน ห้ามผสมกัน
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ฮอร์โมนอไมลินเป็นสายเพปไทด์ขนาดเล็ก หลั่งมาจากเบตาเซลล์ของตับอ่อนเมื่อมีอาหารตกถึงท้องเช่นเดียวกับอินซูลิน มีหน้าที่ยับยั้งอัลฟาเซลล์ของตับอ่อนไม่ให้หลั่งฮอร์โมนกลูคากอน ยับยั้งสัญญาณประสาทเวกัสที่มาเลี้ยงกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะบีบตัวช้าลง และยับยั้งศูนย์หิวที่สมองส่วนไฮโปธาลามัส ทั้งหมดนี้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง
ผู้ที่ขาดฮอร์โมนอินซูลินมักขาดฮอร์โมนอไมลินด้วยโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่หนึ่ง แต่ฮอร์โมนอไมลินที่สกัดจากธรรมชาติเมื่อฉีดเข้าไปมักจะรวมตัวกันเป็น amyloid fiber ทำลายเบตาเซลล์ของตับอ่อน จึงมีการทดลองสังเคราะห์สายเพปไทด์เลียนแบบอไมลินตามธรรมชาติ แต่เปลี่ยนแปลงกรดอะมิโน 3 ตำแหน่งดังรูป จนได้ยาแพรมลินไทด์ที่มีความคงตัวและออกฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนอไมลิน ยาเริ่มออกวางจำหน่ายปีค.ศ. 2005 แต่จนปัจจุบันยังมีราคาแพงมาก เพราะยังไม่มียาสังเคราะห์เลียนแบบอไมลินตัวอื่น
ยาแพรมลินไทด์ดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้ร้อยละ 30-40 ระดับในเลือดถึงพีคที่ 20 นาทีหลังฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ครึ่งหนึ่งของยาจับกับอัลบูมินในเลือด มีระยะครึ่งชีวิต 48 นาที ออกฤทธิ์นานประมาณ 3 ชั่วโมง ยาถูกกำจัดออกทางไต ผู้ป่วยโรคไตวายไม่ควรใช้ เพราะยังไม่มีการศึกษาขนาดยาที่เหมาะสมและผลจากการคั่งของยา
ยาแพรมลินไทด์ถูกผลิตมาในรูปปากกาฉีดแยกจากอินซูลิน ตัวยาจะเปลี่ยนสภาพเมื่อโดนแสง ปากกาที่ยังไม่เปิดใช้ให้เก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8°C ห้ามแช่แข็ง ส่วนปากกาที่เปิดใช้แล้วสามารถอยู่ในอุณภูมิห้องที่ < 30°C ได้นาน 1 เดือน หากใช้งานนานกว่านั้นควรเก็บไว้ในตู้เย็น
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้เสริมฤทธิ์ยาอินซูลินในโรคเบาหวานชนิดที่หนึ่ง
ในสมัยก่อนผู้ป่วยกลุ่มนี้มีเพียงยาอินซูลินใช้เท่านั้น การคุมน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าด้วยการเพิ่มขนาดยาอินซูลินมักทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลต่ำบ่อย แต่ปัจจุบันการให้ยากลุ่มอไมลินควบคู่ไปด้วยทำให้สามารถลดขนาดของยาอินซูลินลงได้ และระดับน้ำตาลในเลือดแกว่งน้อยลง
เมื่อจะใช้ยาแพรมลินไทด์ต้องลดขนาดยาอินซูลินที่ฉีดอยู่เดิมลงครึ่งหนึ่งก่อนเสมอ การฉีดขนาดเดิมจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป เริ่มขนาดของแพรมลินไทด์ที่ 15 ไมโครกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังก่อนอาหารคำแรกทุกมื้อ ปรับขนาดยาทีละ 15 ไมโครกรัมทุก 3 วันเพื่อดูว่าทนอาการคลื่นไส้ได้ไหม อาการคลื่นไส้เป็นผลข้างเคียงที่พบได้เสมอเมื่อขนาดยาสูงเกินไป หากมีอาการคลื่นไส้ให้ลดขนาดยาลงมาทีละ 15 ไมโครกรัมทุก 3 วันจนได้ขนาดยาที่เหมาะสม จากนั้นจึงค่อยปรับเพิ่มหรือลดยาอินซูลินทีละ 1 ยูนิตทุก 5-7 วัน จนได้ระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสม
** ข้อควรระวังคือ ถ้ามื้ออาหารนั้นมีแคลอรี่ไม่ถึง 250 kcal หรือมีคาร์โบไฮเดรตไม่ถึง 30 กรัม ไม่ควรฉีดแพรมลินไทด์ หรือถ้ามีอาการน้ำตาลต่ำ มื้อถัดไปก็ไม่ควรฉีดแพรมลินไทด์
- ใช้เสริมฤทธิ์ยาอินซูลินในโรคเบาหวานชนิดที่สอง
ผู้ป่วยกลุ่มนี้หากไม่ถึงขั้นต้องใช้ยาอินซูลินก็ไม่ควรใช้ยาแพรมลินไทด์ และหากใช้กลุ่มยากระตุ้นตัวรับจีแอลพี-1 อยู่ก็ไม่ควรใช้ เพราะยาสองกลุ่มนี้ออกฤทธิ์คล้ายกัน ผลข้างเคียงก็คล้ายกัน ยาแพรมลินไทด์ในโรคเบาหวานชนิดที่สองได้ผลไม่ดีเท่าชนิดที่หนึ่ง แต่สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐเริ่มอนุญาติให้ใช้ได้ตั้งแต่ปีค.ศ. 2018 จึงควรให้แพทย์เบาหวานเป็นผู้เลือกใช้เฉพาะบางรายเท่านั้น
การใช้ยาแพรมลินไทด์ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองก็ต้องลดขนาดยาอินซูลินที่ฉีดอยู่เดิมลงครึ่งหนึ่งก่อนเช่นกัน แล้วเริ่มขนาดของแพรมลินไทด์ที่ 60 ไมโครกรัม ฉีดเข้าใต้ผิวหนังก่อนอาหารคำแรกทุกมื้อ เฝ้าดูอาการคลื่นไส้ ท้องอืด เป็นเวลา 3-7 วัน ถ้าไม่มีหรือมีพอรับได้ ให้ลองเพิ่มขนาดยาเป็น 120 ไมโครกรัม ทุกมื้อ ถ้าคลื่นไส้มากก็ให้ลดลงมาที่ 60 ไมโครกรัมเหมือนเดิม ระหว่างนี้ให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดวันละ 4-7 ครั้ง คือก่อนและหลังอาหารทุกมื้อและก่อนนอน ปรับขนาดอินซูลินให้ได้ขนาดที่เหมาะสมที่สุด
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
ยาแพรมลินไทด์มักทำให้มีอาการท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร เพราะมันลดการบีบตัวของกระเพาะอาหารและยับยั้งศูนย์หิวที่สมอง หากมีภาวะน้ำตาลต่ำก็จะรู้สึกวิงเวียน หมดแรง เหงื่อออก ซึมลง บางรายที่แพ้อาจพบรอยแดง นูน คัน บริเวณที่ฉีด หรือมีผื่นตามผิวหนัง ปวดข้อ ไอ เจ็บคอ มีรายงานว่าพบภาวะตับอ่อนอักเสบจากการใช้ยานี้ด้วย
ปฏิกิริยาระหว่างยา
การใช้ยาแพรมลินไทด์ร่วมกับยาเบาหวานชนิดอื่น, กลุ่มยา MAOIs, SSRIs, ACEI, Salicylates, Disopyramide, Fibrates, Fluoxetine, Pentoxifylline, Propoxyphene, Somatostatin analogs, Sulfonamide จะเพิ่มโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำมากขึ้น
การใช้ยาแพรมลินไทด์ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด เช่น Levonorgestrel จะเกิดการรบกวนการออกฤทธิ์ของยาแพรมลินไทด์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้อยลง
ไม่ควรใช้ยาแพรมลินไทด์ร่วมกับยา Gatifloxacin เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงคาดเดาไม่ได้
หลีกเลี่ยงการใช้ยาแพรมลินไทด์กับกลุ่มยา Alphaglucosidase inhibitors (อย่างเช่นยา Acarbose), หรือกลุ่มยา Anticholinergics (เช่นยา Scopolamine, Hyoscyamine) เพราะจะทำให้ท้องอืด คลื่นไส้มากขึ้น
บรรณานุกรม
- Ole Schmitz, et al. 2004. "Amylin Agonists: A Novel Approach in the Treatment of Diabetes." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Diabetes 2004 Dec; 53(suppl 3): S233-S238. (29 พฤษภาคม 2561).
- "Amylin analogs." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Straight Healthcare. (29 พฤษภาคม 2561).
- "Pramlintide" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา DrugBank. (29 พฤษภาคม 2561).
- "Symlin" [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา RxList. (29 พฤษภาคม 2561).