กลุ่มยาแก้ปวด (Analgesics)
ความปวดเป็นความทุกข์กายที่เกิดจากกระบวนการนำส่ง (Transduction) การพาต่อ (Transmission) และการปรับเปลี่ยน (Modulation) สารเคมีในร่างกายหลังเกิดการบาดเจ็บ เพื่อให้เรารับรู้ (Perception) ถึงอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้น ถือเป็นกลไกปกป้องร่างกายตามธรรมชาติ ดังนั้นการใช้ยาระงับปวดจึงควรใช้หลังตรวจพบสาเหตุของอาการปวดนั้น ๆ แล้ว และกำลังจะแก้ที่สาเหตุนั้น ควรจำไว้ว่าการใช้ยาแก้ปวดมิได้ทำให้โรคหายไป
ชนิดของยาแก้ปวด
ยาแก้ปวดแบ่งใหญ่ ๆ ได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ไม่เสพติด (Non-narcotic/opioid analgesics) ได้แก่ยาแก้ปวดที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป กลุ่มนี้ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง Prostaglandin (PG) ที่เนื้อเยื่อส่วนปลาย จึงไม่ทำให้ง่วงหรือกดการหายใจ แต่มักจะระคายกระเพาะและเป็นพิษต่อไต การเพิ่มขนาดยาไม่ได้ทำให้ระงับปวดได้มากขึ้น แต่เพิ่มผลข้างเคียงให้มากขึ้น ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดไข้และส่วนใหญ่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย
- กลุ่มที่เสพติดได้ (Narcotic/Opioid analgesics) โดยสังเคราะห์มาจากต้นฝิ่น ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง จึงทำให้ง่วงและกดการหายใจด้วย จัดอยู่ในยาควบคุมประเภท 2 และ 3 ตามกฎหมายให้ใช้เฉพาะในทางการแพทย์เท่านั้น ยากลุ่มนี้ไม่มีฤทธิ์ลดไข้หรือต้านการอักเสบ และเมื่อใช้ไประยะหนึ่งจะเกิดการทนยา (tolerance) คือต้องใช้ในขนาดที่สูงขึ้นจึงจะระงับปวดได้ และยิ่งเสี่ยงต่อฤทธิ์กดการหายใจที่มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมียาประกอบที่ช่วยเสริมฤทธิ์ของยาแก้ปวดในรายที่พยาธิสภาพอยู่ที่ระบบประสาทหรือเป็นการปวดเรื้อรัง ได้แก่ ยากันชัก ยาต้านซึมเศร้า ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาที่ช่วยปรับเปลี่ยนสารเคมีในสมองเช่น Gabapentin เป็นต้น
ยาชาไม่ใช่ยาแก้ปวด
ยาชาเฉพาะที่เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการนำความรู้สึกทุกชนิด (ร้อน เย็น แหลมคม ขรุขระ) ของเส้นประสาท ทำให้แยกแยะชนิดของวัตถุไม่ได้ การจะหยิบยึดอะไรก็ไม่แน่น ยาเหล่านี้ออกฤทธิ์ชั่วคราวเพียง 15-30 นาที ส่วนใหญ่เป็นยาฉีด ผู้ใช้คือแพทย์ และใช้เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องทรมานจากการผ่าตัด เจาะ ขูด หรือหัตถการอื่นที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรง ยาเหล่านี้มีอันตรายมากกว่ายาแก้ปวด เพราะช่วงที่ยาออกฤทธิ์ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกอะไรเลย รู้สึกเพียงความหนา หากใช้กับเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อก็จะทำให้ขยับไม่ได้ด้วย ผู้ป่วยจึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์จนกระทั่งยาหมดฤทธิ์ แม้แต่ยาชาที่อยู่ในรูปเจลทาแผลหรืออมแก้ปวดแผลในปากก็มีอันตรายมากกว่ายาแก้ปวดทั่วไป และไม่ควรที่จะใช้พร่ำเพรื่อ