กลุ่มยารักษาต่อมลูกหมากโต (Anti-BPH)

ต่อมลูกหมากเป็นต่อมที่อยู่รอบท่อปัสสาวะส่วนต้น บริเวณโคนอวัยวะเพศของผู้ชาย อยู่หน้าทวารหนัก ใต้กระเพาะปัสสาวะ มีหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงเชื้ออสุจิ ในผู้ชายที่โตเต็มที่จะมีขนาดประมาณลูกเกาลัด เมื่ออายุมากขึ้นจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เชื่อว่าเกิดจากฮอร์โมนเพศชายที่มากเกินไป ร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูงและอายุที่มากขึ้น (ส่วนมากอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป)

ต่อมลูกหมากที่โตขึ้นนอกจากจะกดเบียดท่อปัสสาวะแล้ว ยังมีการกระตุ้นจากระบบประสาททำให้บริเวณหูรูดของท่อปัสสาวะมีการหดเกร็งมากขึ้นกว่าเดิม ผลคือเกิดการอุดกั้นของการขับถ่ายปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่พุ่ง ต้องรอนานกว่าจะปัสสาวะออกมาได้ หลังจากปัสสาวะสุดแล้วยังมีปัสสาวะหยดตามมาอีก หรือรู้สึกว่าปัสสาวะยังไม่หมดทั้ง ๆ ที่ปัสสาวะหยุดไหลแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากหูรูดของท่อปัสสาวะหดเกร็ง ปัสสาวะจึงหยุดไหลทั้ง ๆ ที่ยังออกไม่หมด น้ำปัสสาวะที่เหลือค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจึงทำให้เก็บปัสสาวะเพิ่มได้อีกไม่มาก จึงมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะตอนกลางคืนหลายครั้ง และกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ บางครั้งอาจจะถึงขั้นปัสสาวะไม่ออกถึงแม้จะปวดปัสสาวะมากก็ตาม บางคนอาจมีปัสสาวะเป็นเลือดได้ นอกจากนั้นปัสสาวะที่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานก็จะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย อาจพบอาการจากการติดเชื้อ เช่น ปัสสาวะขุ่น มีตะกอน กลิ่นแรงขึ้น มีไข้ หนาวสั่น ถ้าการอุดกั้นของปัสสาวะเกิดขึ้นนาน ๆ อาจทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือไตวายเรื้อรังด้วย แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

โดยทั่วไปแล้วโรคต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากมีอาการคล้ายกันมาก และมักเกิดในผู้ชายสูงอายุเหมือนกัน จึงต้องตรวจแยกทั้งสองโรคออกจากกันก่อน เพราะการรักษาไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตามเราอาจพบโรคทั้งสองร่วมกันในคนคนเดียวได้

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตมีหลายวิธี ตั้งแต่การใช้ยา การใช้คลื่นความร้อน การใช้ไอน้ำ ไปจนถึงการผ่าตัด ในหน้านี้จะกล่าวเฉพาะกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคต่อมลูกหมากโต

ชนิดของยารักษาต่อมลูกหมากโต

กลุ่มยารักษาต่อมลูกหมากโตแบ่งเป็นยาหลัก 2 กลุ่ม และยาประกอบ 3 กลุ่ม ตามกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้

กลุ่มยาหลัก

  1. กลุ่มยาปิดตัวรับอัลฟา-1 (Selective α1-blockers) กลุ่มนี้ชื่อยาจะลงท้ายด้วย -osin ได้แก่ Terazosin (Hytrin®), Doxazosin (Cardura®), Alfuzosin (Xatral®), Tamsulosin (Harnal®), Silodosin (Urief®) ยากลุ่มนี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อหูรูดที่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะออกง่ายขึ้น (ยากลุ่มนี้ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงด้วย)
  2. กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์ 5-AR (5-alpha reductase inhibitors, 5-ARIs) เอนไซม์ 5-alpha reductase type II ในต่อมลูกหมากจะเปลี่ยนฮอร์โมน Testosterone ที่มากเกินไป ไปเป็น Androgen (หรือ Dihydrotestosterone, DHT) แอนโดรเจนจะไปจับตัวรับแอนโดรเจนที่อยู่ในนิวเคลียส กระตุ้นให้เซลล์ต่อมลูกหมากแบ่งตัวเพิ่มขึ้น ต่อมลูกหมากมีเยื่อหนาหุ้มตึง ขยายไม่ได้ มันจึงโตเข้าด้านใน เบียดท่อปัสสาวะ ยาที่ยับยั้งเอนไซม์ 5-AR จะช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมากได้ แต่จะเพิ่มความเสี่ยงในการกลายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะเลือกใช้ยากลุ่มนี้ในรายที่ต่อมลูกหมากโตระดับปานกลางถึงมาก และตรวจค่า PSA ในเลือดแล้วยังไม่เสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ยากลุ่มนี้ได้แก่ Finasteride (Proscar®) และ Dutasteride (Avodart®)

กลุ่มยาประกอบ

ยากลุ่มนี้ไม่ได้มีข่อบ่งใช้ในโรคต่อมลูกหมากโตโดยตรง แต่สามารถลดอาการที่คล้ายต่อมลูกหมากโตได้ ส่วนใหญ่ต้องใช้คู่กับยาหลัก

  1. กลุ่มยาต้านโคลิเนอร์จิก (Anticholinergics, Muscarinic receptor antagonists, MRAs) กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะยังมีระบบประสาทพาราซิมพาเธทิกมาเลี้ยง ปลายประสาทหลั่งสารโคลิเนอร์จิกมาจับตัวรับมัสคารินิก-3 (M3) ที่ผนังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะหดตัว ขับน้ำปัสสาวะออก ยาต้านโคลิเนอร์จิกจึงกันไม่ให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวบ่อยเกินไป แต่เช่นเดียวกัน ยาไม่ได้คลายกล้ามเนื้อหูรูดที่ท่อปัสสาวะ อาการปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง จึงยังมีอยู่ จึงมักต้องใช้ยาปิดตัวรับอัลฟา-1 ร่วมด้วย ตัวอย่างยากลุ่มนี้ได้แก่ Oxybutynin โดยทั่วไปจะใช้รักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะเล็ด จากระบบประสาทเสียการควบคุม หรือรีเฟล็กซ์เสียไป ใช้ได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก
  2. กลุ่มยากระตุ้นตัวรับเบตา-3 (β3 agonists) กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีตัวรับเบตา-3 อยู่ เมื่อถูกกระตุ้นจะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว กระเพาะปัสสาวะรับน้ำปัสสาวะได้มากขึ้น อาการปัสสาวะบ่อยจึงลดลง แต่ยาไม่ได้คลายกล้ามเนื้อหูรูดที่ท่อปัสสาวะ อาการปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง จึงยังมีอยู่ จึงมักต้องใช้ยาปิดตัวรับอัลฟา-1 ร่วมด้วย ตัวอย่างยากลุ่มนี้ได้แก่ Mirabegron โดยทั่วไปจะใช้รักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้จากการที่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติ (overactive bladder) ทั้งในหญิงและชาย (แต่ไม่ใช้ในเด็กที่ปัสสาวะรดที่นอนบ่อย)
  3. กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์ PDE-5 (Phosphodiesterase 5 inhibitors, PDE5-Is) ยากลุ่มนี้เป็นยาขยายหลอดเลือดเฉพาะที่ ปกติใช้รักษาโรคความดันโลหิตในปอดสูง (pulmonary hypertension) และช่วยบรรเทาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเมื่อใช้ในขนาดสูงเป็นครั้งคราว แต่พบว่าสามารถลดอาการของต่อมลูกหมากโตได้ โดยกลไกยังไม่แน่ชัด เข้าใจว่าการลดลงของ PDE-5 ทำให้ cGMP ในต่อมลูกหมากลดลง จึงทำให้กล้ามเนื้อเรียบทั้งที่ผนังหลอดเลือดและรอบต่อมลูกหมากคลายตัว เลือดมาเลี้ยงต่อมมากขึ้น ต่อมขยายตัวออกมาด้านนอกได้บ้าง ความอึดอัดภายในลดลง อาการปัสสาวะลำบากจึงดีขึ้นบ้าง แต่ยากลุ่มนี้มีราคาแพง ไม่เหมาะที่จะใช้คุมอาการของต่อมลูกหมากโตทุกวัน ตัวอย่างยากลุ่มนี้ได้แก่ Sildenafil (Viagra®), Vardenafil (Levitra®, Staxyn®), Tadalafil (Cialis®), Avanafil (Stendra®)

นอกจากนั้นยังมีสมุนไพรหลายตัวที่ยับยั้ง Androgen receptor เช่น Saw Palmetto, Red Ginseng, Isoflovones ก็มีหลักฐานการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ใช้รักษาผู้ที่มีปัญหาต่อมลูกหมากโตด้วย แต่เราจะไม่กล่าวถึงในหมวดยาแผนปัจจุบันนี้

บรรณานุกรม

  1. Manasi Jiwrajka, et al. 2018. "Drugs for benign prostatic hypertrophy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Aust Prescr. 2018;41(5):150–153. (30 ตุลาคม 2564).
  2. "BPH Medications: Treatment without Surgery." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา DWF bph. (30 ตุลาคม 2564).
  3. Shunye Su, et al. 2020. "The efficacy and safety of mirabegron on overactive bladder induced by benign prostatic hyperplasia in men receiving tamsulosin therapy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medicine (Baltimore). 2020;99(4): e18802. (31 ตุลาคม 2564).
  4. Arshad Jamal, et al. 2020. "Comparison of the Effect of Tamsulosin Versus Combination of Tamsulosin and Oxybutynin in the Medical Management of Patients with Benign Prostatic Hyperplasia: A Randomised Double Blind Placebo Controlled Study." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Inter J Contemp Med Res. 2016;3(6):1552-1556. (31 ตุลาคม 2564).