กลุ่มยารักษาโรคเกาต์ (Anti-Gout)
โรคเกาต์เกิดจากการมีกรดยูริกในเลือดสูงมากเป็นเวลานาน จนเกิดการตกผลึกสะสมอยู่ในข้อ ข้อที่โรคเกาต์ชอบมากที่สุดคือข้อนิ้วโป้งของเท้าทั้งสองข้าง รองลงมาคือข้อเท้า ผลึกที่สะสมอัดกันจนเป็นก้อนปูดออกมาที่ข้างข้อจะเรียกว่า "โทฟัส" (tophus) ถ้ามีหลายก้อนจะเรียกว่า "โทไฟ" (tophi)
กรดยูริกเป็นผลผลิตสุดท้ายของขบวนการเผาผลาญพิวรีน (purine metabolism) พิวรีนเป็นสารอินทรีย์ที่มีวงแหวนไนโตรเจนสองวงต่อกัน (pyrimidine and imidazole rings) และเป็นโครงสร้างสำคัญในสาย DNA และ RNA สองในสามของพิวรีนในร่างกายมาจากการสร้าง DNA และ RNA ภายในเซลล์เอง อีกหนึ่งในสามมาจากอาหารโปรตีนที่เรารับประทานเข้าไป พิวรีนที่ออกมาจากเซลล์ที่ตายแล้วและจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปจะอยู่ในกระแสเลือด ร่างกายมีขบวนการเปลี่ยนแปลงพิวรีนให้เป็นกรดยูริกโดยอาศัยเอนไซม์ Xanthine oxidase แล้วขับทิ้งทางไตเป็นส่วนใหญ่
สาเหตุของกรดยูริกในเลือดสูงจึงเกิดได้จาก
- การที่เซลล์ถูกทำลายอย่างรวดเร็ว เช่น หลังการรับยาเคมีบำบัดในแต่ละรอบ ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจากยาหรือแพ้ภูมิตัวเอง โรคสะเก็ดเงิน สารพิวรีนในเซลล์ที่ตายทะลักออกมาในกระแสเลือด จนร่างกายต้องรีบเปลี่ยนเป็นกรดยูริกเพื่อกำจัดทิ้ง
- การรับประทานอาหารที่มีพิวรีนมากเกินไป เช่น เนื้อสัตว์ (โดยเฉพาะสัตว์ปีก) ตับ อาหารทะเล ถั่วแทบทุกชนิด หน่อไม้ไทยและเทศ กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ยอดผัก ฯลฯ
- ภาวะไตวาย จึงไม่สามารถขับของเสียในร่างกายออกได้หมด
- ยาหรือสารบางชนิดที่ลดการขับกรดยูริกทิ้งทางไต เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ยาขับปัสสาวะ แอสไพริน กรดนิโคตินิก cyclosporine, ethambutol, pyrazinamide, levodopa เป็นต้น
- ภาวะขาดน้ำและเลือดเป็นกรด ทำให้กำจัดกรดยูริกทิ้งทางไตได้น้อยลง เช่น lactic acidosis, ketosis, dehydration
- โรคทางพันธุกรรมแต่กำเนิดบางอย่าง รวมทั้งโรคต่อมไร้ท่อ ที่รบกวนการเผาผลาญพิวรีน เช่น HGPRT deficiency, APRT deficiency, PRPP synthetase overactivity, Glycogen storage diseases (types I, III, V, and VII), Hypothyroidism, Hyperparathyroidism เป็นต้น
เกณฑ์วินิจฉัยโรคเกาต์
ข้ออักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการใช้งานมากจนเกิดการบาดเจ็บของข้อ หรือเกิดความเสื่อมของข้อ มิได้เกิดจากโรคเกาต์เสมอไป การวินิจฉัยโรคเกาต์ก็มิใช่เพียงแค่ตรวจพบกรดยูริกในเลือดสูงเท่านั้น แต่จะต้องมีเกณฑ์อย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
- มีระดับกรดยูริกในเลือด > 7 mg/dL ในเพศชาย หรือ > 6 mg/dL ในเพศหญิง
- มีก้อนโทไฟที่ข้างข้อ
- พบผลึกของเกาต์ (monosodium urate crystals) ในน้ำไขข้อที่ปวดบวม หรือในก้อนโทไฟ
- มีประวัติปวดข้อ ข้อบวมฉับพลัน และหายใน 2 สัปดาห์
ผู้ที่เริ่มเป็นโรคเกาต์มักยังไม่มีก้อนโทไฟให้เห็น และอาจไม่เคยมีประวัติปวดข้อมาก่อน หากระดับกรดยูริกในเลือดไม่สูงมาก หรือข้อที่อักเสบนั้นไม่ใช่ตำแหน่งที่พบบ่อยของเกาต์ คงจำเป็นต้องให้แพทย์เจาะน้ำไขข้อเพื่อวินิจฉัยแยกโรคเกาต์เทียมและโรคติดเชื้อในข้อ เพราะการรักษาไม่เหมือนกัน
กลุ่มยารักษาโรคเกาต์
ยารักษาโรคเกาต์จึงแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
- กลุ่มยาที่ลดการอักเสบของข้อ เพื่อบรรเทาอาการปวด บวม เวลาที่โรคกำเริบ ได้แก่ ยาโคลชิซิน (Colchicine), ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs), และยากลุ่มสเตียรอยด์
โคลชิซินเป็นยาบรรเทาอาการปวดเกาต์เฉียบพลันตัวแรกที่ควรใช้ และเป็นยาป้องกันการกำเริบของโรคเกาต์เรื้อรังเพียงตัวเดียว ยาตัวอื่นในกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้ติดต่อกันนาน ๆ ในโรคเกาต์เรื้อรังได้
- กลุ่มยาที่ลดระดับกรดยูริกในเลือด เพื่อลดการสะสมของผลึกกรดยูริกในข้อ และลดการกำเริบของโรค ยากลุ่มนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ
- กลุ่มยาที่ลดการสร้างกรดยูริก โดยยับยั้งเอนไซม์ Xanthine oxidase เมื่อ Hypoxanthine ไม่ถูกเปลี่ยนเป็น Xanthine ก็จะถูกเอนไซม์ HGPRT เปลี่ยนกลับไปเป็น Inosine และกลับไปใช้สร้าง DNA, RNA ภายในเซลล์ตามเดิม ตัวอย่างยากลุ่มนี้ได้แก่ Allopurinol, Febuxostat
- กลุ่มยาที่เพิ่มการขับกรดยูริกออกทางไต ได้แก่ Probenecid, Benzbromarone, Sulfinpyrazone
ความจริงกลุ่มยาลดกรดยูริกในเลือดยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่สลายกรดยูริกไปเป็น Allantoin แล้วขับออกทางปัสสาวะ แต่ยากลุ่มนี้เป็นยาฉีด และใช้รักษากลุ่มอาการเซลล์มะเร็งแตกสลายฉับพลัน (Tumor lysis syndrome) หลังได้รับยาเคมีบำบัด ไม่ได้ใช้ลดกรดยูริกในโรคเกาต์ทั่วไป จึงจะไม่ขอกล่าวถึงในเมนูยารักษาโรคเกาต์ของเรา ตัวอย่างยากลุ่มนี้ได้แก่ Pegloticase, Rasburicase
บรรณานุกรม
- Naomi Schlesinger. 2005. "Diagnosis of Gout: Clinical, Laboratory, and Radiologic Findings." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา AJMC. (11 มกราคม 2565).
- "10.1.3 Drugs for treatment of Gout and hyperuricaemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา กระทรวงสาธารณสุข. (11 มกราคม 2565).
- "Gout Treatment and Prevention." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Healthline. (11 มกราคม 2565).