ยารักษาโรคมาลาเรีย (Antimalarials)
มาลาเรียเป็นโรคที่จำกัดอยู่แต่ในเขตร้อน เพราะต้องอาศัยยุงเป็นพาหะ ร่างกายของผู้ที่อยู่ในดงมาลาเรียมักจะปรับตัวให้อยู่ร่วมกับเชื้อได้อย่างสันติ (คือมีเชื้ออยู่ตลอดเวลา แต่ไม่แสดงอาการ) แต่การติดเชื้อครั้งแรกของคนต่างถิ่นที่เข้าไปในพื้นที่ได้สร้างความน่ากลัวจนองค์การอนามัยโลกยินยอมให้มีการใช้ยาป้องกันโรคมาลาเรียสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในดงของมัน และคาดว่าด้วยสาเหตุนี้เองที่ทำให้เชื้อมาลาเรียมีของเล่นให้พัฒนาตัวเองขึ้นอย่างช้า ๆ ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มพื้นที่สีแดงที่เชื้อไม่ตอบสนองต่อยาที่เคยใช้ในแง่ป้องกัน และขยายไปถึงการดื้อยาตัวอื่น ๆ ในกลุ่มเดียวกันในพื้นที่สีเหลืองในรูป
กลไกการออกฤทธิ์ของยารักษามาลาเรีย
เชื้อมาลาเรียหรือเชื้อพลาสโมเดียมไม่สามารถสร้างกรดอะมิโนได้เอง ต้องขโมยกรดอะมิโนจากฮีโมโกลบินของโฮสต์ ขณะที่เชื้ออยู่ในเม็ดเลือดแดงของคน มันจะมีเอ็นไซม์ในกระเพาะคอยย่อยฮีโมโกลบินไปเป็นกรดอะมิโนและฮีม (heme) ซึ่งมีพิษต่อมัน แต่มันสามารถสลายพิษของฮีมได้ด้วยขบวนการ pH-dependent polymerization กลายเป็น Hemazoin หรือ malarial pigment ที่เราตรวจพบในสไลด์เลือด ยา Chloroquine และเพื่อน ๆ ในกลุ่ม Quinolines ออกฤทธิ์ยับยั้งขบวนการสลายพิษนี้ ทำให้มีฮีมสะสมในกระเพาะของมันมากขึ้นจนทำลายตัวเชื้อไปเอง กลไกหลักในการออกฤทธิ์ของยารักษาโรคมาลาเรียแต่ละกลุ่มสรุปได้ดังนี้
ยา/กลุ่มยา | ออกฤทธิ์ |
Chloroquine, Quinine, Mefloquine | ยับยั้งขบวนการสลายฮีม |
Primaquine, Atovaquone | ยับยั้ง electron transport ภายในไมโตคอนเดรียของเชื้อ |
Sulfadoxine, Pyrimethamine, Proguanil | ยับยั้งการสร้างโฟเลต |
Doxycycline, Clindamycin | ยับยั้งการสร้างโปรตีนของเชื้อ |
Artemisinins | สร้างอนุมูลอิสระมาทำลายเชื้อ |
ส่วนยา Halofantrine และ Lumefantrine ยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัด
กลไกการดื้อยาของเชื้อพลาสโมเดียม ฟาลซิปารั่ม
ประเทศไทยนับเป็นพื้นที่พิเศษ เรามีเชื้อมาลาเรียชนิดฟาลซิปารั่มที่ดื้อต่อยา Chloroquine, Mefloquine รวมทั้งยาอื่น ๆ อีกหลายขนาน มีผู้ศึกษากลไกการดื้อยาต่าง ๆ ของเชื้อพลาสโมเดียม ฟาลซิปารั่ม พบว่าเชื้อตัวนี้ได้ทำการเปลี่ยนแปลงยีนของมันให้ไม่ตอบสนองต่อยาอยู่ 5 ตำแหน่ง คือ
- เปลี่ยนยีน chloroquine resistance transporter (PfCRT) ให้รับยา Chloroquine เข้ามาในกระเพาะของมันน้อยลง
- เพิ่มจำนวนยีน multidrug resistance protein-1 (PfMDR1) ทำให้มันดื้อต่อยา Mefloquine และยากลุ่ม Artemisinins
- เปลี่ยนแปลงยีนที่สร้าง dihydrofolate reductase (PfDHFR) เพื่อให้มีโมเลกุลผิดไปจากเดิม ทำให้ยา Pyrimethamine และ Proguanil ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์นี้ไม่สามารถทำงานได้
- เปลี่ยนแปลงยีนที่สร้าง dhiydropteroate synthase (PfDHPS) เพื่อให้มีโมเลกุลผิดไปจากเดิม ทำให้ยา Sulfadoxine ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอ็นไซม์นี้ไม่สามารถทำงานได้
- เปลี่ยนแปลง cytochrome BC1 (PfCYTB) เพื่อเลี่ยงการออกฤทธิ์ของยา Atovaquone
แนวทางการใช้ยารักษามาลาเรียในประเทศไทย
ยารักษามาลาเรียในอุดมคติควรเป็นยาที่สามารถกำจัดเชื้อทุกสายพันธุ์และทุกระยะตามที่ต่าง ๆ ให้หมดไป คือต้องฆ่า schizont ในเลือด, hypnozoite ในตับหากเป็นมาลาเรียชนิดไวแวกซ์หรือโอวาเล่, และฆ่า gametocyte ในเลือดเพื่อไม่ให้ยุงมารับเชื้อกลับไปใหม่ได้ แต่ยังไม่มียาใดออกฤทธิ์ได้ครบทั้งสามตำแหน่ง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแนวทางการรักษาผู้ป่วยมาลาเรียในประเทศไทย ปี 2557 ขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนเลือกใช้ยาที่เหมาะสมที่สุด ณ สถานการณ์นั้น ๆ ดังนี้
กรณีที่ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง
- รู้ชนิดของมาลาเรียว่าเป็น P. falciparum หรือกรณีที่ไม่สามารถตรวจหาชนิดของเชื้อได้แต่สงสัยว่าเป็นไข้มาลาเรีย (มีไข้จับสั่น+ประวัติเข้าป่า)
- ทางเลือกแรก Artesunate 4 mg/kg/day วันละครั้ง นาน 3 วัน + Mefloquine 25 mg/kg/course แบ่งให้วันละครั้งใน 2 วัน + Primaquine 15 mg base (2 เม็ด) ในวันที่สาม เพื่อฆ่า gametocytes
** ยา Artesunate ปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 -3 แต่ห้ามให้ Primaquine ในหญิงตั้งครรภ์
- ทางเลือกที่สอง Quinine 30 mg base/kg/day แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง + Doxycycline 3 mg/kg/day วันละครั้งหรือแบ่งให้เช้า-เย็น นาน 7 วัน + Primaquine 30 mg base ในวันสุดท้าย เพื่อฆ่า gametocytes
** ห้ามให้ Doxycycline ในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
- ทางเลือกที่สาม Quinine 30 mg base/kg/day แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง + Clindamycin 10 mg/kg/day แบ่งให้เช้า-เย็น นาน 7 วัน + Primaquine 30 mg base ในวันสุดท้าย เพื่อฆ่า gametocytes
- ทางเลือกที่สี่ Artesunate 2 mg/kg/day วันละครั้ง + Doxycycline 3 mg/kg/day วันละครั้งหรือแบ่งให้เช้า-เย็น นาน 7 วัน + Primaquine 30 mg base ในวันสุดท้าย เพื่อฆ่า gametocytes
- ทางเลือกที่ห้า Artesunate 2 mg/kg/day วันละครั้ง + Clindamycin 10 mg/kg/day แบ่งให้เช้า-เย็น นาน 7 วัน + Primaquine 30 mg base ในวันสุดท้าย เพื่อฆ่า gametocytes
- รู้ชนิดของมาลาเรียว่าไม่ใช่ P. falciparum
- ทางเลือกเดียว Chloroquine base 25 mg/kg/course (Chloroquine phosphate 250 mg = Chloroquine base 150 mg) โดยแบ่งให้ดังนี้
- ในผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานมื้อแรก 2 เม็ด มื้อที่สอง 2 เม็ด มื้อที่สาม 2 เม็ด จากนั้นรับประทาน 1 เม็ด/วัน ไปอีก 2 วัน
- ในเด็ก: เริ่มรับประทานในมื้อแรก 10 mg base/kg ตามด้วย 5 mg base/kg รับประทานที่ 6, 24 และ 48 ชั่วโมง หลังจากกิน dose แรก (รวมจะได้ 25 mg base/kg)
ในกรณี P. vivax หรือ P. ovale ให้ตรวจหาว่ามี G-6-PD พร่องหรือไม่ก่อน ถ้าไม่พร่องถึงค่อยให้ Primaquine 15 mg base/วัน นาน 14 วัน เพื่อป้องกันไข้กลับซ้ำ ถ้ามี G-6-PD พร่องอย่างอ่อน อาจจะให้ Primaquine (0.75 mg/kg) (45 mg base) สัปดาห์ละครั้ง นาน 8 สัปดาห์
หญิงตั้งครรภ์ที่เป็น P. vivax หรือ P. ovale ให้กดการกลับของเชื้อด้วย chloroquine (5 mg base/kg/สัปดาห์) (หรือ 300 mg/สัปดาห์) จนคลอด หลังจากนั้นจึงให้ Primaquine ได้ หญิงให้นมบุตรสามารถรับประทาน Primaquine ได้ถ้าบุตรมี G-6-PD ปกติ
กรณีที่ผู้ป่วยอาการรุนแรง
ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรียชนิดใด
- ทางเลือกแรก Artesunate 2.4 mg/kg ให้เข้าหลอดเลือดดำ แล้วตามด้วย 2.4 mg/kg ที่ 12 และ 24 ชั่วโมง จากนั้นฉีดต่ออีกวันละครั้งจนกว่ารับประทานได้ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นยา artemisinin-combination therapy ข้างต้น รับประทานนาน 3 วัน
- ทางเลือกที่สอง Quinine dihydrochloride 20 mg base/kg ฉีดใน 4 ชั่วโมง แล้วตามด้วย 10 mg base/kg ฉีดใน 2-4 ชั่วโมง ทุก 8 ชั่วโมง เมื่อรับประทานยาได้แล้วจึงเปลี่ยนเป็นยา artemisinin-combination therapy รับประทานนาน 3 วัน หรือ quinine-doxycycline หรือ quinine-clindamycin หรือ artesunate-doxycycline หรือ artesunate-clindamycin รับประทานนาน 7 วัน
** ในกรณีที่ตับหรือไตผิดปกติไม่ต้องปรับขนาดยา artesunate แต่ให้ลดขนาดของ Quinine ลงตั้งแต่วันที่ 3 เป็นต้นไป ให้เหลือ 1/2 หรือ 1/3 ของขนาดยาเดิมในวันนั้น ๆ
แนวทางการใช้ยาป้องกันมาลาเรียในประเทศไทย
นักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปในพื้นที่ที่มีมาลาเรียชุกชุมจะได้รับประโยชน์จากยาป้องกันมาลาเรียมากกว่าความเสี่ยงจากฤทธิ์ข้างเคียงของยาเมื่อ Annual Parasite Index (API, อัตราการเกิดโรคในรอบปีต่อประชากร 1,000 คน) > 10 ต่อปี แต่ในประเทศไทยพบว่า API < 1 ต่อปีในหลาย ๆ พื้นที่ป่า ดังนั้นโดยทั่วไปจึงไม่แนะนำให้รับประทานยาป้องกันมาลาเรียในประเทศไทย แต่จะแนะนำว่าถ้ามีไข้ภายใน 1 สัปดาห์ - 2 เดือนหลังออกจากป่าต้องคิดถึงมาลาเรียด้วย ให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาลและแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่จะเป็นมาลาเรีย เพื่อจะได้ตรวจเลือดหาเชื้อมาลาเรียให้ละเอียด