กลุ่มยาต้านจุลชีพ (Antimicrobials)
ยาต้านจุลชีพเป็นยาประเภทที่ใช้กับโรคติดเชื้อ โดยออกฤทธิ์ฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ทั้งที่ก่อโรคและไม่ก่อโรค ยาต้านจุลชีพที่ออกฤทธิ์อ่อนและไม่จำเพาะกับจุลินทรีย์ชนิดใดได้แก่พวก Disinfectants (น้ำยาล้างเชื้อ) เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ ซึ่งใช้กับวัตถุ, พวก Antiseptics (น้ำยาระงับเชื้อ) เช่น แอลกอฮอล์ ทิงเจอร์ ซึ่งใช้เฉพาะกับผิวหนัง, และพวกที่ไม่ใช่สารเคมี เช่น โอโซน ความร้อน และรังสี ส่วนยาต้านจุลชีพที่ออกฤทธิ์จำเพาะกับจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics), ยาต้านไวรัส (Antivirals), ยารักษาโรคเชื้อรา (Antimycotics), และยารักษาโรคปรสิตชนิดต่าง ๆ (Antiparasitics) เช่น โปรโตซัว หนอนพยาธิ
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแต่ยาต้านจุลชีพที่ออกฤทธิ์จำเพาะกับจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ในคนเท่านั้น
ปัญหาของยาต้านจุลชีพ
ยาต้านจุลชีพจัดเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย คือมีผลข้างเคียงน้อย เกิดพิษยาก เพราะระดับยาที่จะเกิดพิษส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นจึงมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกภาคส่วน ทั้งปศุสัตว์ การเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร และในทางการแพทย์ โดยเฉพาะในแง่ของการป้องกันการติดเชื้อ แล้วก็เห็นผลอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเมื่อเทียบกับการไม่ใช้ยา แต่เชื้อจุลินทรีย์ก็ปรับตัวได้รวดเร็วกว่าที่เราคาดคิดไว้มาก และเชื้อที่ดื้อยาก็สามารถถ่ายทอดชิ้นส่วนของยีนดื้อยาไปให้เชื้อข้างเคียงตัวอื่น รวมทั้งเชื้อข้างเคียงสายพันธุ์อื่น
เมื่อย้อนดูเหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้จะเห็นว่า ก่อนที่ยาต้านจุลชีพตัวแรก (Penicillin) จะวางตลาดในปี 1942 ก็เริ่มพบเชื้อ Staphylococcus ดื้อยาเพนิซิลลินในห้องทดลองแล้ว หากมองตามเส้นบอกเวลาต่อมาก็จะเห็นว่า ไม่ว่าจะผลิตยาต้านจุลชีพตัวใหม่ออกมากี่ชนิด เชื้อก็สามารถจะดื้อยาได้ภายในเวลาไม่กี่ปีหลังจากยาออกวางตลาด ยิ่งมองจากภาพรวมก็ยิ่งเห็นว่า เราไม่มีทางผลิตยาต้านจุลชีพใหม่ได้ทันการพัฒนาของเชื้อโรคได้เลย
ปัญหาการดื้อยาไม่จำกัดแต่เพียงเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เชื้อวัณโรค เชื้อมาลาเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อราก็พบว่าดื้อยาหลายตัวที่ใช้กำจัดมัน หากเรายังไม่ตระหนักถึงปัญหานี้และใช้ยาต้านจุลชีพกันอย่างไม่จำเป็น อีกไม่นานโรคติดเชื้อจะกลายเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ผู้ติดเชื้อจะต้องเลี้ยงชีวิตด้วยยาต้านจุลชีพหลายตัวตลอดไป ซึ่งเป็นภาวะที่น่าอนาถใจอย่างยิ่ง
การแบ่งชนิดของยาต้านจุลชีพที่สามารถจะใช้ได้ในภาคส่วนต่าง ๆ และใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็น เป็นวิธีแก้ไขวิธีหนึ่ง แต่วิธีนี้ต้องอาศัยการยินยอมพร้อมใจกันของทุกฝ่าย ก่อนจะถึงมติร่วมตรงจุดนั้น สิ่งที่ทุกคนควรทำ ณ ปัจจุบันเกี่ยวกับการใช้ยาต้านจุลชีพคือ
- ไม่ควรใช้เพื่อ "ป้องกันเผื่อไว้" มากเกินไป ไม่ว่าจะในคนหรือในภาคส่วนอื่น
- ไม่ควรเริ่มใช้ยาเพื่อการรักษาเร็วเกินไป โดยที่ยังไม่ทราบว่าติดเชื้อตัวใด ร้ายแรงหรือไม่ เพราะความจริงร่างกายของเราและสัตว์ถูกสร้างมาให้ปกป้องตัวเองได้อย่างดีอยู่แล้ว
- ควรรับประทานยาให้ครบตามจำนวนวันที่แพทย์สั่ง ไม่ควรเก็บไว้ใช้คราวหน้าแม้อาการจะไม่เหลือแล้วก่อนยาหมด
นอกจากนั้นเรายังสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีอื่นนอกจากการใช้ยา เช่น
- ใช้น้ำล้างสิ่งสกปรกออกก่อนที่ดำเนินกระบวนการขั้นต่อไปเสมอ โดยเฉพาะกับสิ่งที่จะป้อนเข้าปาก
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคในคนและสัตว์อย่างสม่ำเสมอ
- มีแหล่งน้ำที่สะอาดสำหรับดื่มกินแยกจากน้ำเพื่อการชะล้าง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท ผู้ประกอบการควรจัดสถานที่ทำงานให้สะอาดและมีอากาศถ่ายเทอยู่เสมอ
- ผู้ที่ติดเชื้อง่าย (เช่น กำลังได้รับยาเคมีบำบัด กำลังใช้ยากดภูมิต้านทาน เด็กเล็ก คนชรา ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง) ควรหลีกเลี่ยงตนเองจากแหล่งที่ติดเชื้อง่าย เช่น ในโรงหนัง ในสถานพยาบาล ในสระว่ายน้ำ การเดินตากฝน ฯลฯ และควรพบแพทย์ทันทีเมื่อมีไข้หรือไม่สบาย
- เมื่อป่วยควรป้องกันตนเองไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่สิ่งแวดล้อมหรือคนข้างเคียง หากป่วยพร้อมกันหลายคนด้วยอาการเดียวกันควรแจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ