กลุ่มยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelets)

เกล็ดเลือดเป็นเพียงไซโตพลาสซึมของ megakaryocytes ไม่มีนิวเคลียส มีแต่ mRNA ของ megakaryocytes จึงยังสามารถสังเคราะห์โปรตีนที่จำเป็นต่อการทำงานได้ ในภาวะปกติเกล็ดเลือดจะลอยอยู่ในกระแสเลือด ไม่จับกลุ่มกัน ที่ผิวเกล็ดเลือดมีตัวรับหลายชนิด เมื่อผนังหลอดเลือดถลอกหรือฉีกขาด สารพวก collagen และ von Willebrand factor (vWF) ที่อยู่ในชั้นข้างใต้จะจับกับ Glycoprotein (GP) receptors ของเกล็ดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดที่ลอยผ่านมาถูกตรึงอยู่ตรงนั้น เรียกว่าเกิด Platelet adhesion อุดรูรั่วของหลอดเลือดได้ระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกัน เมื่อ GP receptors รับสัญญาณการรั่วของหลอดเลือด จะกระตุ้นเกล็ดเลือด (Platelet activation) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้

  1. เกล็ดเลือดจะปล่อยอัลฟาและเดลตาแกรนูลที่มีสาร ADP, P-selectin, serotonin (5-HT), platelet-derived growth factor (PDGF), vascular endothelial growth factor (VEGF) ฯลฯ ออกมาเรียกเกล็ดเลือดจากที่ต่าง ๆ มารวมตัวกันมากขึ้น
  2. ADP ที่ออกมาจะจับกับ ADP receptors ที่ผิวเกล็ดเลือด ทำให้ระดับ calcium ภายในเซลล์สูงขึ้น มีการหดตัวของ actin/myosin เกร็ดเลือดจึงเปลี่ยนรูปร่างจาก disc เป็น spiny sphere ที่มี pseudopod ยื่นออกไป
  3. เกิดการสร้าง Thromboxane A2 (TXA2) จาก Arachidonic acid (AA) แล้วหลั่งออกมากระตุ้นให้หลอดเลือดหดตัวอย่างแรง
  4. GP IIb/IIIa receptors บนผิวเกล็ดเลือดถูกเปลี่ยนจาก inactive ที่จับ vWF ได้หลวม ๆ เป็น active receptor ที่สามารถจับกับ vWF และ Fibrinogen ที่สร้างจากกลไกการแข็งตัวของเลือดได้อย่างเหนียวแน่น (high affinity)
  5. เมื่อ Fibrinogen และ vWF ในพลาสมาจับกับ GPIIb/IIIa บนผิวเกล็ดเลือด จะทำหน้าที่เชื่อมเกล็ดเลือดเข้าด้วยกัน ทําให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเกล็ดเลือด เรียกว่าเกิด Platelet aggregation ในที่สุด

ยาต้านเกล็ดเลือดจะยับยั้งขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งข้างต้น เพื่อไม่ให้เลือดเป็นลิ่มง่าย แต่ก็จะทำให้เลือดออกง่ายขึ้นถ้ามีการบาดเจ็บจริง ๆ

ชนิดของยาต้านเกล็ดเลือด

กลุ่มยาต้านเกล็ดเลือดแบ่งเป็น 6 กลุ่มย่อยตามกลไกการออกฤทธิ์ ดังนี้

  1. กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์ Cyclooxygenase (COX inhibitors) เอนไซม์ COX-1 อยู่ในเกล็ดเลือด ทำหน้าที่เปลี่ยน AA เป็น TXA2 ยาที่ยับยั้ง COX-1 ได้แก่ ยาแอสไพริน ในขนาดต่ำกว่า 100 mg/วัน ทั่วไปจะใช้เพียง 75-81 mg วันละครั้งตอนเช้า
  2. กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์ Phosphodiesterase (PDE inhibitors) เอนไซม์ PDE ทำหน้าที่สลาย cAMP ยาที่ยับยั้งเอนไซม์นี้จึงเพิ่ม cAMP ตัว cAMP ทำให้หลอดเลือดขยายตัว และยับยั้งการหลั่งแกรนูลของเกล็ดเลือด ยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาซิลอสตาซอล
  3. กลุ่มยาปิดตัวรับ ADP (ADP receptor blockers) ตัวรับ ADP มีตำแหน่งที่สำคัญเรียกว่า P2Y12 เมื่อ ADP จับกับ P2Y12 receptor จะกระตุ้น G protein αi subunit เกิดการยับยั้ง adenylyl cyclase ลดระดับของ cAMP และ phosphorylated vasodilator-stimulated phosphoprotein (VASP-P) และเพิ่มระดับแคลเซียมภายในเกล็ดเลือด ยาที่ปิดตัวรับ ADP ตรงตำแหน่งนี้จะทำให้ ADP ที่หลั่งออกมาทำงานไม่ได้ (เกล็ดเลือดไม่เปลี่ยนรูปร่าง) ยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาโคลพิโดเกรล, ยาพราซูเกรล, ยาทิคากรีเลอร์, และ Cangrelor (สองตัวแรกปิดตัวรับแบบถาวร ตัวสุดท้ายเป็นยาฉีด)
  4. กลุ่มยายับยั้งตัวรับ GP IIb IIIa (GP IIb IIIa receptor inhibitors) ยากลุ่มนี้จะแย่ง vWF, fibrinogen จับกับ active GP IIb IIIa receptor แทน ทำให้เกล็ดเลือดที่มารวมกลุ่มกันขาดความแข็งแรง เนื่องจากเป็นฉีด จึงใช้เฉพาะในโรงพยาบาลกรณีผู้ป่วยมีอาการ unstable angina และกล้ามเนื้อหัวใจตามชนิด non-Q-wave อีกทั้งใช้เป็นยาเสริมในผู้ป่วยที่ทำ PTCA และหัตถการซ่อมแซมหลอดเลือด โดยใช้ร่วมกับยาเฮพารินและยาแอสไพริน ยากลุ่มนี้มีหลายตัว แต่ที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีตัวเดียวคือ Eptifibatide ยาทำให้เกล็ดเลือดต่ำอย่างฉับพลันได้ จึงต้องสั่งโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญภายใต้มาตรการกำกับของโรงพยาบาล
  5. กลุ่มยาต้านตัวรับ Thrombin (PAR-1 antagonists) Thrombin ที่ได้จากขบวนการแข็งตัวของเลือด ต้องจับกับ PAR-1 หรือ Thrombin receptor ที่ผิวเกล็ดเลือดก่อนจึงจะรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนกับเกล็ดเลือดได้ ยากลุ่มนี้จะแย่งจับกับ receptor แทน ทำให้เกล็ดเลือดที่มารวมกลุ่มกันขาดความแข็งแรง ยากลุ่มนี้เป็นยารับประทาน เช่น Vorapaxar, Atopaxar แต่เนื่องจากเป็นยาใหม่ จึงมีจำหน่ายในบางประเทศเท่านั้น
  6. กลุ่มยาต้านตัวรับ Thromboxane A2 (TXA2 receptor antagonists) ยากลุ่มนี้จะแย่งจับกับ receptor แทน ทำให้ TXA2 ที่เกล็ดเลือดสร้างออกมาทำงานไม่ได้ ยากลุ่มนี้เป็นยารับประทาน เช่น Terutroban, Picotamide แต่เนื่องจากเป็นยาใหม่ จึงมีจำหน่ายในบางประเทศเท่านั้น

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มยาต้านการเก็บซีโรโทนิน (Selective serotonin reuptake inhibitors, SSRIs) ที่ไม่ได้นำมาใช้เป็นยาต้านเกล็ดเลือด แต่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า ผู้ที่รับประทานยากลุ่มนี้ไปนาน ๆ อาจมีจ้ำเลือดตามตัวง่ายขึ้น

บรรณานุกรม

  1. Arshad Muhammad Iqbal, et al. 2020. "Antiplatelet Medications." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา StatPearls. (5 กรกฎาคม 2564).
  2. Ashvarya Mangla and Saurabh Gupta. "Antiplatelet Therapy." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Thoracic Key. (5 กรกฎาคม 2564).
  3. Jeffrey I. Weitz, et al. 2012. "New Antithrombotic Drugs." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Chest Journal. (11 กรกฎาคม 2564).
  4. วิชัย ประยูรวิวัฒน์. 1999. "Antiplatelet Agents." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา วารสารโลหิตวิทยาและเวชศาสตร์บริการโลหิต. 2542;9(2):119-128 (12 กรกฎาคม 2564).