ยาเบนซ์โบรมาโรน (Benzbromarone, Benarone®)
เบนซ์โบรมาโรน หรือยาเบนนาโรน เป็นยาลดกรดยูริกในเลือดที่ออกฤทธิ์เด่นโดยการขับกรดยูริกทิ้งทางปัสสาวะ และยังสามารถลดการสร้างกรดยูริกโดยยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase (แบบ non-competitive และ reversible) ได้ด้วย แต่หลังจากมีรายงานการเกิดภาวะตับอักเสบรุนแรงที่สัมพันธ์กับยา บางประเทศจึงถอนทะเบียนยาออกไป ส่วนประเทศไทยยังมีใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาอัลโลพูรินอล หรือแม้กระทั่งใช้ร่วมกับยาที่ลดการสร้างกรดยูริก (เช่น อัลโลพูรินอล เฟบูโซสแตท) ในรายที่กรดยูริกในเลือดสูงมาก
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ยาเบนซ์โบรมาโรนคิดค้นโดยบริษัท Sanofi-Synthélabo ในทศวรรษที่ 1970s ช่วงแรกที่ทำการศึกษาพบว่ามีฤทธิ์ลดกรดยูริกในเลือดเหนือกว่ายาอัลโลพูรินอลและยาโปรเบนีสิด อีกทั้งยังมีผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อยมากเมื่อเทียบกับอุบัติการณ์แพ้ยาอัลโลพูรินอลถึงขั้นผิวหนังลอกทั้งตัว และปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ มากมายของยาโปรเบนีสิด จนกระทั่งในปีค.ศ. 2003 มีรายงานการเกิดตับอักเสบรุนแรง 4 ราย ในผู้ป่วยที่ใช้ยาเบนซ์โบรมาโรนอยู่ หนึ่งในสี่รายนั้นพิสูจน์ได้ว่าเกิดตับอักเสบซ้ำหลังหยุดยาจนดีขึ้นแล้วกลับมาใช้ยาใหม่ [2] บริษัท Sanofi-Synthélabo จึงยุติการผลิต แต่เนื่องจากยาได้จำหน่ายมากว่า 20 ปี จนหลายประเทศสามารถผลิตได้เองและยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรงภายในประเทศ จึงยังมีใช้กันต่อไปในบางประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
ยาเบนซ์โบรมาโรนมีกลไกการออกฤทธิ์ถึง 3 ส่วน คือ [3]
- เพิ่มการขับกรดยูริกทิ้งทางปัสสาวะ โดยยับยั้งการดูดซึมยูเรตกลับที่ท่อไตส่วนต้น (URAT1)
- เพิ่มการขับกรดยูริกทิ้งทางอุจจาระ
- ลดการสร้างกรดยูริก โดยยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidase แบบ non-competitive และ reversible
เบนซ์โบรมาโรนไม่ยับยั้ง ion transporter OAT1 และ OAT3 จึงไม่ทำให้ยาปฏิชีวนะคั่งเหมือนยาโปรเบนีสิด ยาดูดซึมได้เพียงบางส่วน แต่จับกับพลาสมาโปรตีนเกือบทั้งหมด ถูกเมตาบอไลต์ที่ตับด้วยเอนไซม์ CYP2C9 ส่วนใหญ่ขับออกทางน้ำดีลงมาในอุจจาระ สารที่ได้จากเมตาบอไลต์ยังมีฤทธิ์ขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะอีก 48 ชั่วโมง ยาจึงรับประทานได้วันละครั้ง
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้รักษาโรคเกาต์เรื้อรังที่ไตยังไม่เสื่อมมาก
ปัจจุบันยากลุ่มนี้ (ทุกตัว) จะพิจารณาให้ในผู้ป่วยเหล่านี้
- ผู้ป่วยที่มีการขับกรดยูริกทางปัสสาวะน้อยกว่า 800 mg/วัน โดยต้องเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง แล้วนำมาวัดระดับกรดยูริกก่อน
- ผู้ที่มีข้อห้ามในการใช้ยาอัลโลพูรินอล หรือแพ้ยาอัลโลพูรินอล
- ผู้ที่ใช้ยาในกลุ่มลดการสร้างกรดยูริกในขนาดเต็มที่แล้วยังไม่ได้ผล (กรณีนี้มักใช้เบนซ์โบรมาโรนเป็นยาเสริม)
และไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ (ทุกตัว) ในผู้ป่วยที่มีปริมาณกรดยูริกในปัสสาวะมากกว่า 1000 mg/วัน เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งไม่ควรใช้ในผู้ที่มีนิ่วหรือเคยมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะด้วย
ให้ใช้เบนซ์โบรมาโรนขนาด 100 mg รับประทานวันละครั้ง ถ้าจำเป็นต้องลดเร็วแพทย์อาจใช้ขนาด 200 mg วันละครั้งในช่วงแรก เมื่อกรดยูริกลดลงมาปกติแล้วก็ใช้ขนาด 50-100 mg วันละครั้งต่อไป
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ยาเบนซ์โบรมาโรนในผู้ป่วยต่อไปนี้
- ผู้ที่มีไตวาย (ClCr < 25 ml/min)
- ผู้ที่มีการทำงานของตับผิดปกติ
- หญิงมีครรภ์
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยาเบนซ์โบรมาโรนคืออุจจาระร่วง แต่จะหายไปเมื่อหยุดยา นอกจากนั้นอาจมีอาการปวดเกาต์กำเริบ เนื่องจากมีการเคลื่อนที่ของผลึกยูเรตออกมาจากในข้อในช่วงแรก ๆ ของการใช้ยา จึงควรให้ยาโคลชิซินหรือยากลุ่มเอนเสดขนาดต่ำ ๆ ร่วมไปด้วยในช่วงแรก เมื่อระดับกรดยูริกทั้งในข้อและในเลือดได้สมดุลกันดีแล้ว อาการเกาต์กำเริบจะลดลง
เบนซ์โบรมาโรนทำให้ตับอักเสบและน้ำดีคั่งได้ประมาณ 1 ใน 17,000 รายที่ใช้ยา มักเกิดหลังใช้ยาไปแล้ว 1-6 เดือน หลังเริ่มยาจึงควรตรวจการทำงานของตับเต็มเป็นระยะ ๆ หากเริ่มมีเอนไซม์ตับผิดปกติหรือมีน้ำดีคั่ง ควรหยุดยาทันที หรือหากมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาเหลือง ที่หาสาเหตุไม่ได้ ควรหยุดยาก่อน และขอพบแพทย์ก่อนวันนัด ถ้าหยุดยาทันความผิดปกติของตับจะหายไปใน 1-3 เดือน
บรรณานุกรม
- Valderilio Feijó Azevedo, et al. 2019. "Benzbromarone in the treatment of gout." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Adv Rheumatology. (1 ตุลาคม 2565).
- "BENZBROMARONE." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Inxight Drugs. (1 ตุลาคม 2565).
- R Heel, et al. 1977. "Benzbromarone: A Review of its Pharmacological Properties and Therapeutic Use in Gout and Hyperuricaemia." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Semantic Scholar. (2 ตุลาคม 2565).
- "แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์
พ.ศ. 2555." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. (13 มกราคม 2565).