กลุ่มยาเรซิน (Bile acid-binding resins, Bile acid sequestrants)

กลุ่มยาเรซินเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของยาลดโคเลสเตอรอลและ LDL ในรายที่ไม่สามารถใช้ยากลุ่มสแตตินได้ ยากลุ่มนี้เดิมใช้ในผู้ป่วยโรคตับที่มีน้ำดีคั่ง เพื่อลดอาการคันตามผิวหนังจากตัวเหลือง ต่อมาพบว่าสามารถลดโคเลสเตอรอลในเลือดได้ด้วย แต่การใช้ไปนาน ๆ จะลดการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน รวมทั้งยาบางตัวที่ต้องอาศัยไขมันช่วยในการดูดซึม

ที่มาและการออกฤทธิ์:

กลุ่มยาเรซินสารโพลิเมอร์ ประกอบด้วยชุดโมเลกุลที่เหมือนกันจำนวนมากเชื่อมต่อกันเป็นสายใหญ่ภายในมีประจุบวกมากมาย เมื่อรับประทานเข้าไปประจุบวกเหล่านี้จะไปจับประจุลบของกรดน้ำดีซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลที่ตับสร้างมาย่อยและดูดซึมอาหารไขมัน แต่พอจับกันแล้วจะได้เป็นสารประกอบเชิงซ้อนขนาดใหญ่ที่ไม่ละลายน้ำและไม่สามารถดูดซึมได้ ทั้งคู่จะถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระ ผลคือร่างกายเสียโคเลสเตอรอลที่อยู่ในกรดน้ำดี ลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลในอาหาร ทำให้ตับต้องดึงโคเลสเตอรอลในเลือดกลับมาสร้างน้ำดีใหม่ ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดจึงลดลง

ยากลุ่มนี้สามารถใช้ได้ทั้งในทารก หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต เพราะยาไม่ดูดซึม จึงไม่มีผลข้างเคียงต่อระบบอื่นนอกจากระบบทางเดินอาหาร โดยยาทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก บางรายเสียการรับรสด้วย ที่สำคัญยาจะลดการดูดซึมของวิตามิน เอ ดี อี เค กรดโฟลิก ยา Warfarin, Digoxin, Thiazide, Tetracycline, และ Thyroxine

กลุ่มยาเรซินปัจจุบันมี 3 ตัว คือ Cholestyramine อยู่ในรูปผงแกรนูล เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ, Colestipol มีทั้งแบบผงแกรนูลและแบบเม็ด, และ Colesevelam เป็นยาเม็ดที่ไม่จับกับยา Warfarin และ Digoxin จึงใช้ร่วมกันได้

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้ลดอาการคันจากภาวะน้ำดีคั่งที่เกิดจากตับอักเสบ
  2. ภาวะน้ำดีคั่งที่เกิดจากท่อน้ำดีอุดตันจากนิ่วหรือเนื้องอกการรักษาหลักคือต้องระบายน้ำดีออก แต่ถ้าเกิดจากภาวะตับอักเสบสามารถหายไปได้เองเมื่อตับดีขึ้น กรณีที่ตัวเหลืองมากและเป็นอยู่นานอาจมีอาการคันที่ผิวหนังด้วย ภาวะนี้พบได้ทุกวัย อาจใช้ยา Cholestyramine ช่วย ขนาดยาคือ 4-24 กรัม/วัน โดยแบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง (เรซินตัวอื่นไม่มีข้อบ่งใช้นี้)

  3. ใช้รักษาภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงในผู้ที่ไม่สามารถใช้ยากลุ่มสแตตินได้
  4. นอกจากลดโคเลสเตอรอลแล้ว ยากลุ่มนี้ยังสามารถลด LDL และเพิ่ม HDL ได้เล็กน้อยด้วย แต่ข้อเสียคืออาจทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงขึ้นแทน ยายังเพิ่มการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี และห้ามให้ในผู้ป่วยทางเดินน้ำดีอุดตัน ขนาดยาที่ใช้ในกรณีนี้คือ
    - Cholestyramine 4-24 กรัม/วัน แบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง
    - Colestipol แบบแกรนูล 5-30 กรัม/วัน, แบบเม็ด 2-16 กรัม/วัน แบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง
    - Colesevelam 3.75-4.375 กรัม แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง

  5. ใช้รักษาอาการท้องเสียเนื่องจากกรดน้ำดี
  6. ภาวะนี้พบในผู้ป่วยโรค Crohn, ผู้ป่วยที่ตัดลำไส้เล็กส่วนไอเลียม, ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีรักษาของอวัยวะในช่องท้องส่วนล่าง, ผู้ป่วยกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome), และผู้ป่วยเบาหวาน ลักษณะสำคัญคือมีอาการท้องเสียเรื้อรังและอุจจาระเป็นมูก ๆ มัน ๆ ในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว

    ขนาดยาที่ใช้เช่นเดียวกับข้อ 2 แต่ใช้เพียง 5-8 สัปดาห์ พอการขับถ่ายดีขึ้นก็ค่อย ๆ ลดยาลงจนหยุดไป

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ความจริงกลุ่มยาเรซินค่อนข้างปลอดภัยเพราะไม่ดูดซึม แต่จะมีผลข้างเคียงเรื่องท้องอืด อาหารไม่ย่อย และท้องผูกบ่อยถึงร้อยละ 30 ซึ่งอาจแก้ได้ด้วยการผสมยากับน้ำผลไม้และใช้ยาระบายช่วย

ไม่แนะนำให้ใช้ยาในระยะยาว เพราะอาจทำให้ขาดวิตามินที่ละลายในไขมัน รวมทั้งกรดโฟลิก การขาดวิตามินเอทำให้ตาแห้ง มองในที่มืดไม่ได้ การขาดวิตามินดีทำให้อ่อนเพลีย ซึมเศร้า ผมร่วง กระดูกบาง การขาดวิตามินเคทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ในรายที่ใช้นานเกิน 1 ปี ควรได้รับวิตามินเสริมในมื้อที่ไม่ได้รับประทานยา

ผู้ที่ใช้ยาไปนาน ๆ ควรทราบข้อมูลว่าอาจมีนิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้น และภาวะนิ่วในถุงน้ำดีก็อาจทำให้ถุงน้ำดีอักเสบ หรือถ้าหลุดไปอุดท่อน้ำดีก็อาจทำให้ตาเหลือง มีไข้ ปวดท้องได้

ปฏิกิริยาระหว่างยา

กลุ่มยาเรซินยังลดการดูดซึมของยาที่สำคัญหลายตัว เช่น Warfarin, Digoxin, Propranolol, Amiodarone, Furosemide, Spironolactone, Thiazide, Tetracycline, Vancomycin, Fluvastatin, Pravastatin, Gemfibrosil, Niacin, Ezetimibe, Chenodiol, Cholic Acid, Ursodiol, Estrogen, Progestin, Prednisolone, Thyroxine, Deferasirox, Mycophenolate, Leflunomide, Lomitapide, Methotrexate, กลุ่มยา NSAIDs, Phenobarbital, Raloxifene, Rosiglitazone, Teriflunomide, Valproic Acid, และอื่น ๆ หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันควรรับประทานยาดังกล่าวข้างต้นก่อนรับประทานเรซิน 1 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานเรซิน 4 ชั่วโมง

บรรณานุกรม

  1. "Bile acid sequestrant." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (17 กันยายน 2561).
  2. Franco Scaldaferri, et. al. 2011. "Use and indications of cholestyramine and bile acid sequestrants." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Intern Emerg Med (2013) 8:205–210. (17 กันยายน 2561).
  3. "Bile acid sequestrant dosing ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Straight Healthcare. (18 กันยายน 2561).