ยาคาร์วีดิลอล (Carvedilol)

ยาคาร์วีดิลอลเพิ่งได้รับการพัฒนามาในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 โดยดร. รัฟโฟโล (Dr. Ruffolo) และทีมงานของบริษัทเบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (Boehringer Ingelheim) บริษัทได้หักกฏการแพทย์ในยุคนั้นที่ห้ามใช้กลุ่มยาปิดตัวรับเบตาในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลว แล้วมุ่งมั่นพัฒนายาที่มีรายละเอียดทางเภสัชวิทยาที่ซับซ้อน ออกฤทธิ์หลายตำแหน่ง เพื่อใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวโดยเฉพาะ เรื่องเล่าเกี่ยวกับการพัฒนายาคาร์วีดิลอลคล้ายนิยายชีวิตของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ต่อสู้ด้วยความกลัวและความอับอายกับสังคมที่ยังผูกติดอยู่กับความเชื่อเดิม แต่ด้วยจรรยาบรรณของนักวิทยาศาสตร์ที่เลือกจะเดินตามหลักฐานเชิงประจักษ์ จึงเกิดนวัตกรรมยาที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ ยาคาร์วีดิลอลเป็นยาปิดตัวรับเบตาตัวแรกที่ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวทุกรูปแบบ และด้วยหลักฐานทางคลินิกที่แข็งแกร่ง ยาคาร์วีดิลอลกลับเป็นยามาตรฐานหลักในการรักษาและประคับประคองภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยาคาร์วีดิลอลเป็นยาปิดตัวรับเบตารุ่นที่สาม ออกฤทธิ์ทั้งที่ β1, β2 และปิดตัวรับ α1 ด้วย ยายังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการแบ่งตัวของเซลล์ ในขนาดสูงยาสามารถปิดกั้นช่องแคลเซียมได้ด้วย ผลที่ได้คือหลอดเลือดส่วนปลายขยายตัว ความดันเลือดลดลง หัวใจออกแรงน้อยลง เต้นช้าลง และมีเลือดกลับไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น ยาไม่มีผลกระทบต่อไต ไม่ได้ลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงไต และไม่มีผลต่อการขับโซเดียมของไต

แต่เนื่องจากยาปิดตัวรับ β2 ที่ปอดด้วย จึงเสี่ยงต่อการเกิดหลอดลมตีบในผู้ป่วยโรคหอบหืดและถุงลมโป่ง

ยาคาร์วีดิลอลดูดซึมได้ดี ได้ระดับสูงสุดในเลือดภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังกินเข้าไป ยาจับกับโปรตีนในเลือดเป็นส่วนใหญ่ มีระยะครึ่งชีวิตประมาณ 4-7 ชั่วโมง จึงแนะนำให้รับประทานวันละ 2 ครั้ง ยาละลายได้ดีในไขมัน (lipophilic) แต่ไม่มีผลข้างเคียงทางสมองมากนัก ยาถูกเมตาบอไลต์ที่ตับแล้วถูกขับออกทางน้ำดีและทางอุจจาระเป็นหลัก ดังนั้นจึงต้องลดขนาดในผู้ป่วยโรคตับ ส่วนผู้ป่วยโรคไตและผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องลดขนาดยา

การใช้ยาที่เหมาะสม

ยาคาร์วีดิลอลถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประเภทบัญชี ค. คือต้องมีแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้สั่ง ยามีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานบกพร่องเป็นหลัก ในเมืองไทยไม่แนะนำให้ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีราคาแพงและไม่มีประโยชน์เพิ่มเติม แต่ในต่างประเทศสามารถใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงเพียงอย่างเดียวได้

ขนาดยาที่ใช้คือ 6.25-50 mg/วัน แบ่งให้ 2 เวลา ในผู้ป่วยที่ความดันค่อนข้างต่ำควรเริ่มที่ 3.125 mg เช้า-เย็นก่อน ปรับขนาดยาทุก 7 วัน เป้าคือลดอาการเหนื่อย และควบคุมชีพจรให้อยู่ในช่วง 60-90 ครั้ง/นาที ส่วนความดันโลหิตถ้ายังสูงอยู่ให้ใช้ยากลุ่มอื่นช่วยลดโดยเฉพาะยาขับปัสสาวะ

ข้อห้ามในการใช้ยาได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคหอบหืด ถุงลมโป่ง หรือมีภาวะที่หลอดลมตีบบ่อย
  • มีการนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติตั้งแต่ Second degree AV block ขึ้นไป
  • มีหัวใจเต้นช้ากว่า 50 ครั้ง/นาที
  • มีความดันโลหิตต่ำมากจนต้องให้ยาพยุงความดัน
  • มีภาวะตับแข็ง, ตับวาย
  • เคยแพ้ยากลุ่มนี้อย่างรุนแรง

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

** การใช้ยาคาร์วีดิลอลเป็นประจำแล้วหยุดยากระทันหันอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือหัวใจเต้นรัวผิดจังหวะจนเสียชีวิตได้ ยากลุ่มปิดตัวรับเบตานี้หากจะเปลี่ยนหรือเลิกต้องค่อย ๆ ลดจำนวนครั้ง/วันลง พร้อมกับเริ่มยาตัวใหม่ที่จะใช้ทดแทนในช่วงที่กำลังลดยา

ในผู้ป่วยเบาหวาน ยากลุ่มปิดตัวรับเบตาจะบดบังอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ใจสั่น เหงื่อออก จึงควรเลี่ยงใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเบาหวานในขนาดสูงที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำ หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลโรคเบาหวานด้วยว่ามีการใช้ยากลุ่มนี้อยู่

นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ยาคาร์วีดิลอลจัดเป็นยาที่ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง บางรายอาจมีเอนไซม์ตับขึ้นเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องหยุดยา

ปฏิกิริยาระหว่างยา

เนื่องจากยาถูกสลายที่ตับด้วยเอ็นไซม์ cytochrome จึงมีปฏิกิริยากับยามากมายที่ใช้ร่วมกัน แต่ส่วนใหญ่จะเพิ่มหรือลดระดับยาตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งคู่เพียงเล็กน้อย กลุ่มที่สำคัญที่ต้องระวังเมื่อใช้ร่วมกับยาคาร์วีดิลอลคือ ยา Amiodarone, ยา Digitalis, และยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นช่องแคลเซียม เพราะจะเสริมฤทธิ์กับยาคาร์วีดิลอลกดหัวใจมากขึ้น

บรรณานุกรม

  1. Ruffolo RR Jr, et al. 1990. "The pharmacology of carvedilol." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Eur J Clin Pharmacol. 1990;38 Suppl 2:S82-8. (11 กุมภาพันธ์ 2561).
  2. Glenmark Generics Inc., USA. 2011. "Carvedilol." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา rxresource.org (11 กุมภาพันธ์ 2561).