กลุ่มยาลดสารสื่อประสาท (Central sympatholytics)

ยากลุ่มนี้เคยเป็นยาหลักในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงในช่วงปีค.ศ. 1950-1975 แพทย์อาวุโสหลายท่านคงคุ้นกับชื่อยา Reserpine, Clonidine, Methyldopa, และ Guanethidine ดี ต่อมาบริษัทยาได้ผลิตยาลดความดันโลหิตกลุ่มใหม่ ๆ ที่ช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงได้ด้วย ยาลดสารสื่อประสาทกลุ่มนี้จึงหมดความนิยมไป

กลไกการออกฤทธิ์ของยา

ขบวนการสร้างและหลั่งสารสื่อประสาทนอร์อีพิเนฟริน (Norepinephrine, NE) ที่ปลายประสาทอะดรีเนอร์จิก เริ่มจากสารตั้งต้นคือ Tyrosine เมื่อถูกนำเข้าสู่เซลล์ประสาทจะถูกเปลี่ยนเป็นสาร DOPA และ Dopamine (DA) ตามลำดับ สาร DA จะถูกเก็บไว้ในถุงเล็ก ๆ (vesicles) เพื่อป้องกันการถูกทำลาย ภายในถุงนี้ DA จะถูกเปลี่ยนเป็นสาร NE ซึ่งจะถูกปลดปล่อยออกมาเมื่อร่างกายต้องการ "สู้" โดย NE ที่ออกมาจะไปจับกับตัวรับอัลฟาและเบตาตามอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ก่อนหน้านี้เราทราบถึงยาลดความดันโลหิตบางกลุ่มที่ไปแย่งจับตัวรับอัลฟาและเบตาเพื่อไม่ให้สาร NE ทำงานได้ คราวนี้จะกล่าวถึงยากลุ่มที่ยับยั้งการสร้างและหลั่งสาร NE จากเซลล์ประสาท

กลุ่มยาลดสารสื่อประสาทมี 5 ตัวที่ยังใช้กันอยู่ ได้แก่

  • Reserpine ออกฤทธิ์ยับยั้งการหุ้ม DA เข้าไว้ในถุง ทำให้สาร NE ไม่ถูกสร้างขึ้น
  • Clonidine ออกฤทธิ์กระตุ้นที่ตัวรับ α2 ซึ่งทำหน้าที่เป็น negative feedback คอยยับยั้งไม่ให้ NE ถูกปล่อยออกมามากเกินไป Clonidine บางส่วนยังสามารถกระตุ้นตัวรับ Imidazoline subtype 1 (I1) ก้านสมองซึ่งยับยั้งการทำงานของระบบประสาทซิมพาเธทิก
  • Moxonidine จัดเป็นยาลดสารสื่อประสาทตัวใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 20 พัฒนาต่อมาจากยา Clonidine ให้เข้าสมองไปกระตุ้นตัวรับ I1 มากกว่าจับตัวรับ α2 ที่ปลายประสาท ทำให้ลดผลข้างเคียงเรื่องปากแห้งและง่วงนอนของ Clonidine ลง ยายังมีประโยชน์ด้านช่วยลดน้ำตาลและไขมันในเลือดด้วย น่าเสียดายที่ยาตัวนี้ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย
  • Methyldopa ออกฤทธิ์กระตุ้นที่ตัวรับ α2 เหมือน Clonidine และตัวมันเองก็มีโครงสร้างคล้าย DOPA จึงทำให้เกิดการสร้างสารสื่อประสาทเทียมที่ไม่มีฤทธิ์ด้วย
  • Guanethidine ออกฤทธิ์ยับยั้งการปลดปล่อย NE ออกจากถุง และเร่งการดึง NE ที่ออกมาแล้วกลับมาเก็บไว้ใหม่

ข้อบ่งใช้

กลุ่มยาลดสื่อประสาททุกตัวมีผลข้างเคียงต่อจิตประสาท จึงไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้เสริมยาลดความดันโลหิตกลุ่มต่าง ๆ ที่ให้จนเต็มที่แล้วความดันยังไม่ลง เว้นแต่ Reserpine และ Clonidine อาจใช้ได้ในกรณีอื่นอีก เช่น ลดอาการปวดจากมะเร็ง ลดภาวะสมาธิสั้นในเด็ก ลดอาการกระสับกระส่ายในโรคจิตเภท รักษาอาการเคลื่อนไหวผิดปกติชนิด Tardive dyskinesia เป็นต้น

รายละเอียดของยาแต่ละตัวได้กล่าวไว้ในหน้าของยาตัวนั้น ๆ

บรรณานุกรม

  1. ศุภนิมิต ทีฆชุณหเถียร. "Sympatholytic Drugs." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (25 มีนาคม 2561).
  2. Richard E. Klabunde. 2007. "Centrally Acting Sympatholytics." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cardiovascular Pharmacology Concepts. (25 มีนาคม 2561).