ยาซิลอสทาซอล (Cilostazol, Pletaal®, Pletal®)

ซิลอสทาซอลเป็นยาต้านเกล็ดเลือดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Phosphodiesterase 3 (PDE-3 inhibitors) มีข้อบ่งใช้เฉพาะในผู้ที่มีอาการปวดขาเป็นระยะจากการขาดเลือด (intermittent claudication) และเป็น secondary prevention ในรายที่มีหลอดเลือดสมองอุดตันชนิด TIA หรือ non-cardioembolic ischemic stroke แล้วเท่านั้น เนื่องจากยามีราคาค่อนข้างแพง มีประสิทธิภาพไม่เหนือกว่ายาต้านเกล็ดเลือดตัวอื่น และมีผลข้างเคียงที่ต้องระวังมาก จึงไม่ถูกจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยกเว้นมีข้อบ่งใช้ดังกล่าวและไม่สามารถใช้ยาตัวอื่นได้

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยาซิลอสทาซอลเป็นยาสัญชาติญี่ปุ่น ผลิตโดยบริษัทโอซูก้า (Otsuka) เริ่มจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปีค.ศ. 1988 ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปีค.ศ. 1999 ยาออกฤทธิ์หลายตำแหน่ง แต่ที่สำคัญคือยับยั้งเอนไซม์ PDE-3, ยับยั้งการสร้าง Thromboxane A2, และยับยั้ง Prostaglandin F การยับยั้งเอนไซม์ PDE-3 ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของ cAMP ซึ่ง cAMP ในเกล็ดเลือดมีฤทธิ์ยับยั้งแคลเซียม ทำให้เกล็ดเลือดไม่เปลี่ยนรูปร่าง และไม่สามารถกระตุ้นขั้นตอนการรวมกลุ่มต่อ ๆ ไปได้ แต่การยับยั้ง PDE-3 เกิดขึ้นในเซลล์ชนิดอื่นด้วย ยาจึงออกฤทธิ์ค่อนข้างสะเปะสะปะ มีทั้งต้านการอักเสบ ขยายหลอดเลือด ขยายหลอดลม กระตุ้นหัวใจให้บีบตัวแรงขึ้น และลดความดันตา

ยาซอลอสทาซอลเป็นผงผลึกสีขาวออกเหลือง ไม่ละลายน้ำ อัดเป็นเม็ดหรือบรรจุอยู่ในแคปซูลขนาด 50 และ 100 mg ยาดูดซึมได้ดีถ้ารับประทานร่วมกับอาหารที่มีไขมัน ยาถูกเมตาบอไลต์ที่ตับ โดยกลุ่มเอนไซม์ cytochrome P-450 กว่า 95% ของยาจับกับอัลบูมินในเลือด ยาถูกขับออกทางปัสสาวะโดยมีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 12 ชั่วโมง การใช้ยาในผู้ป่วยโรคตับและโรคไตจึงต้องระวังยาสะสมจนเป็นพิษได้

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้รักษาอาการขาดเลือดของปลายมือปลายเท้า
  2. อาการของหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตันเรื้อรัง เช่น ปวดเวลาใช้งานนาน ๆ ปลายมือปลายเท้าเย็น มีแผลเรื้อรัง อาการเหล่านี้ต้องวินิจฉัยร่วมกับการตรวจ ankle-brachial index (ABI), ultrasound vessels, หรือ angiography

    สำหรับในรายที่มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดหลอดเลือด พบว่ายาซิลอสทาซอลช่วยลดอาการดังกล่าวได้ ทำให้ผู้ป่วยเดินได้ในระยะไกลขึ้น โดยผู้ป่วยประเมินประสิทธิภาพดีหรือดีมาก 66% ประสิทธิภาพดีเล็กน้อยหรือดีกว่าเดิม 85% ส่วนในรายที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัด แพทย์ยังแนะนำให้ผ่าตัดเป็นหลัก เพราะยาไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างของหลอดเลือดส่วนปลายเลย

    ขนาดยาที่ใช้ในผู้ใหญ่คือ 100 mg วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหาร หรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร (เพราะอาหารอาจเพิ่มการดูดซึมจนมีผลข้างเคียงมากเกินไป) ในผู้สูงอายุและผู้ที่ใช้ยายับยั้งเอนไซม์ CYP2C19 หรือ CYP3A4 ให้ลดขนาดเหลือ 50 mg วันละ 2 ครั้ง ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไต

    หากใช้ยาเป็นเวลา 3 เดือน อาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดยา

  3. ใช้ป้องกันการกลับเป็นซ้ำของภาวะหลอดเลือดสมองอุดตัน (ที่ไม่ใช่ลิ่มเลือดจากหัวใจ)
  4. ภาวะหลอดเลือดสมองอุดตันจากลิ่มเลือดของหัวใจต้องใช้กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) แต่ถ้าตรวจหัวใจแล้วไม่มีความผิดปกติที่จะสร้างลิ่มเลือด ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับยาต้านเกล็ดเลือดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ด้วยราคาที่แพงกว่ายาตัวอื่น ซิลอสทาซอลจึงถูกเลือกในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้หรือมีข้อห้ามใช้ยาต้านเกล็ดเลือดตัวอื่น

    ขนาดการใช้ยาก็เหมือนข้อ 1 แต่ก่อนจะเริ่มยาควรรอให้ความดันโลหิตและสภาวะต่าง ๆ คงที่ก่อน โดยเฉพาะควรรอผลการตรวจหัวใจว่าไม่มีลิ่มเลือดที่มาจากหัวใจก่อนเริ่มยา

ข้อห้ามใช้

ห้ามใช้ยาซิลอสทาซอลในผู้ป่วยต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยที่กำลังมีเลือดออก เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในกะโหลกศีรษะ เลือดออกจากทางเดินปัสสาวะ ไอเป็นเลือด เลือดออกในลูกตา และภาวะเลือดออกง่ายอื่น ๆ
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (เพราะยากระตุ้นหัวใจให้ทำงานหนักขึ้น)
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้องค์ประกอบใด ๆ ในยานี้ (ซิลอสทาซอลเป็นยาสังเคราะห์ ประกอบด้วย 6-[4-(1-cyclohexyltetrazol-5-yl)butoxy]-3,4-dihydro-1H-quinolin-2-one มีสูตรโมเลกุล C20H27N5O2)
  • หญิงมีครรภ์หรือคาดว่าจะมีครรภ์ (เพราะพบความผิดปกติของตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง)
  • หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร (เพราะยาผ่านทางน้ำนม)

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงแต่พบบ่อย ได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ผื่น ผลข้างเคียงที่รุนแรงแต่พบน้อย ได้แก่ ภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวลดลง หัวใจเต้นรัวผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจล้มเหลว การทำงานของตับบกพร่อง ไตวายเฉียบพลัน ปอดบวมแบบ interstitial pneumonitis และภาวะเลือดออกง่ายทั่วร่างกาย

ผลข้างเคียงจะพบบ่อยขึ้นในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับบกพร่อง โรคไตบกพร่อง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ดังนั้นการใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้จึงต้องระมัดระวังมาก ควรเริ่มด้วยขนาด 50 mg วันละ 2 ครั้งก่อน และหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรหยุดยาทันที

ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยานี้ในเด็ก

ปฏิกิริยาระหว่างยา

เนื่องจากยาซิลอสทาซอลถูกเมตาบอไลต์โดยกลุ่มเอนไซม์ cytochrome P450 ยาที่ยับยั้งเอนไซม์เหล่านี้จะเพิ่มระดับยาซิลอสทาซอลในเลือด หากใช้ร่วมกันจำเป็นต้องลดขนาดยาซิลอสทาซอลลง ยาเหล่านี้ได้แก่

นอกจากนั้นยังไม่ควรใช้ซิลอสทาซอลร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือดตัวอื่น ๆ หรือยาสลายลิ่มเลือด เพราะจะยิ่งทำให้เลือดออกง่ายขึ้น

บรรณานุกรม

  1. "Pletal®." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา FDA (26 กรกฎาคม 2564).
  2. Brown T, et al. 2021. "Cilostazol for peripheral arterial disease." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cochrane (26 กรกฎาคม 2564).
  3. "cilostazol (Rx)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape (27 กรกฎาคม 2564).
  4. Caroline McHutchinson, et. al. 2020. "Cilostazol for Secondary Prevention of Stroke and Cognitive Decline Systematic Review and Meta-Analysis." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Stroke. 2020;51:2374–2385. (27 กรกฎาคม 2564).