ยาโคลชิซิน (Colchicine)

โคลชิซินเป็นยารักษาอาการปวดข้อจากโรคเกาต์และไข้เมดิเตอเรเนียน (Familial Mediterranean fever) โดยเฉพาะ ไม่ใช่เป็นยาแก้ปวดทั่วไป ตัวของมันมีฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย จึงอาจใช้เป็นยาเสริมในบางโรค เช่น Behçet's disease, โรคแผลร้อนในที่ปาก (Aphthous stomatitis), โรคกระดูกอ่อนอักเสบจากภาวะภูมิแพ้ตัวเอง (Relapsing polychondritis), โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis), และใช้ป้องกันการเกิด Atrial fibrillation ซ้ำในรายที่ได้รับการผ่าตัด ablation ไปแล้ว นอกจากนั้นผลข้างเคียงของมันที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียยังอาจนำมาใช้แก้ท้องผูกในกลุ่มอาการ Irritable bowel syndrome ที่มีอาการท้องผูกเด่น

ที่มาและการออกฤทธิ์:

โรคเกาต์เกิดจากการมีกรดยูริคในเลือดสูงจนตกผลึกในข้อ ปกติเมื่อความเข้มข้นของกรดยูริคสูงเกิน 7 mg/dL มันจะตกผลึกเป็นรูปเข็มปลายแหลมสองข้าง ผลึกเหล่านี้ชอบที่จะไปสะสมอยู่ในข้อ โดยเฉพาะข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ทุกครั้งที่ผลึกเข้าไปในข้อจะกระตุ้นให้เกิดขบวนการอักเสบ ทำให้ปวดข้อ ข้อบวม แดง ร้อน นานเข้าผลึกเหล่านี้จะสะสมจนเป็นก้อนและทำลายโครงสร้างของข้อเดิม

การรักษาโรคเกาต์ในระยะยาวต้องลดกรดยูริคในเลือด ส่วนในระยะสั้นช่วงที่ปวดบวมมากจะใช้ยาต้านการอักเสบ

โคลชิซินเป็นสารที่สกัดมาจากต้นโคชิกุม (Colchicum autumnale หรือ ดอกดองดึง) พบได้ในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และเอเชียกลาง มีบันทึกการใช้เป็นยารักษาข้ออักเสบมากว่า 1500 ปี ก่อนคริสตกาล ต่อมาพบว่ามันออกฤทธิ์โดยไปจับอยู่ระหว่างโปรตีนทิวบูลิน (tubulin) แอลฟาและเบตา ซึ่งเป็นแกนหลักในการสร้างเส้นใยไมโครทิวบูล (microtubule) ของเซลล์เม็ดเลือดขาว ไมโครทิวบูลทำหน้าที่จัดระเบียบออร์แกเนลล์ต่าง ๆ ภายในเซลล์, สร้างเส้นใยสปินเดิลในกระบวนการแบ่งเซลล์, และทำงานร่วมกับโปรตีนอื่นเพื่อทำหน้าที่ลำเลียงสารภายในเซลล์ เมื่อโคลชิซินเข้าไปแทรกอยู่ในสายของไมโครทิวบูลมันจะทำงานไม่ได้ ระบบเส้นใยและการลำเลียงของเซลล์ก็จะเสียไป ขบวนการอักเสบที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวก็ลดลงไป อาการปวดบวมที่ข้อก็จะลดลง

นอกจากนั้นยังพบว่าโคลชิซินยับยั้งการหลั่งสารนำขบวนการอักเสบ IL-1β และ IL-18, สลายฤทธิ์การเรียกแมโครฟาจของสาร TNF-α, เสริมฤทธิ์ต้านการอักเสบของสาร TGF-β1, อีกทั้งยังกดการระดมนิวโตรฟิลให้มารวมตัวกันของผลึกกรดยูริคที่กระทำผ่านขบวนการ tyrosine phosphorylation และการสร้าง superoxide anion ภายในตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิล

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้เพื่อบรรเทาปวดและลดการอักเสบเฉียบพลันของโรคเกาต์
  2. โรคเกาต์มักมีอาการปวดบวมที่ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า เข่า หรือข้อเท้าเป็นพัก ๆ มักพบในเพศชายที่น้ำหนักตัวมาก ดื่มแอลกอฮอล์ หรือชอบรับประทานอาหารที่มีเพียวรีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล แต่หากท่านยังไม่เคยได้รับการวินิจฉัยโรคเกาต์ควรไปตรวจเลือดและน้ำไขข้อดูก่อน เพราะมีโรคข้ออักเสบอื่นที่มีอาการคล้ายกัน

    ยาโคลชิซินแบบเม็ดมีขนาด 0.5, 0.6 และ 1 mg แบบน้ำมีขนาด 0.5 mg/ml ขนาดที่ใช้เมื่อมีอาการกำเริบคือ 1.0-1.2 mg ทันทีที่เริ่มปวด จากนั้นให้รับประทานอีก 0.5-0.6 mg ทุก 2-3 ชั่วโมงจนกว่าอาการปวดจะทุเลา หรือจนกว่าจะเริ่มมวนท้องและถ่ายเหลว (อาการข้างเคียงของยาโคลชิซิน) ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นใน 4-6 ชั่วโมง และจะหายปวดใน 12-24 ชั่วโมง

  3. ใช้เพื่อป้องกันการกำเริบของโรคเกาต์
  4. ต้องใช้ขนาดต่ำสุดที่จะไม่เกิดอาการท้องเสีย ส่วนใหญ่จะรับประทานขนาด 0.6 mg วันละเม็ดตอนเช้า หรือครั้งละ 1 เม็ด ตอนเช้าและตอนเย็น แต่การป้องกันอาจไม่ได้ผลถ้ายังไม่ปรับน้ำหนักตัวและชนิดของอาหารที่รับประทาน

    ในรายที่ควบคุมระดับของกรดยูริคในเลือดได้แล้ว และมีอาการกำเริบน้อยกว่า 1 ครั้งต่อปี อาจใช้โคลชิซินแค่ 0.5-0.6 mg ตอนเช้า เฉพาะวันจันทร์-พุธ-ศุกร์

  5. ใช้เพื่อรักษาโรคไข้เมดิเตอเรเนียน
  6. โรคนี้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ของชาวตะวันออกกลาง กรีก อิตาลี อาร์เมเนีย และตุรกี มักมีอาการไข้ ปวดข้อ ปวดท้อง ปวดตัวเป็น ๆ หาย ๆ ตั้งแต่เด็ก การวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจเลือดและตรวจยีน

    ขนาดยาที่ใช้:
    - ในเด็กอายุ 4-6 ปี ให้ 0.3-1.8 mg/วัน
    - ในเด็กอายุ 6-12 ปี ให้ 0.9-1.8 mg/วัน
    - ในผู้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ 1.2-2.4 mg/วัน
    ยาควรแบ่งให้เช้า-เย็น และควรเพิ่มขนาดทีละ 0.3 mg/วัน เพื่อให้ได้ขนาดต่ำสุดที่สามารถควบคุมอาการได้และไม่เกิดผลข้างเคียง

  7. ใช้เพื่อเสริมการรักษาภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic pericarditis)
  8. กรณีนี้จะให้ยาโคลชิซินร่วมกับยากลุ่มเอ็นเสดหรือแอสไพรินในช่วงที่มีอาการ โดยให้ขนาด 1-2 mg ในวันแรก ตามด้วย 0.5-1 mg/วัน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่าได้ผลดีกว่าการให้เอ็นเสดร่วมกับยาสเตียรอยด์[1]

  9. ใช้เพื่อป้องกันภาวะ Atrial fibrillation (AF) หลังการผ่าตัดหัวใจ
  10. AF เป็นภาวะที่เกิดบ่อยในช่วงแรกหลังการผ่าตัดหัวใจ และเป็นสาเหตุของภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ รวมทั้งการเสียชีวิตหลังผ่าตัด เมื่อให้ยาโคลชิซินขนาด 1 mg เช้า-เย็น ในวันที่ 3 หลังผ่าตัด ตามด้วยขนาด 0.5 mg เช้า-เย็น เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าสามารถลดอุบัติการณ์ของ AF หลังผ่าตัดได้ถึง 45%[2]

  11. ใช้เพื่อป้องกันการเกิด AF ซ้ำหลังทำ cardiac ablation
  12. พบว่าการให้โคลชิซิน 0.5 mg เช้า-เย็น เป็นเวลา 3 เดือนหลังการผ่าตัดจะลดอุบัติการณ์ของการเกิด AF ซ้ำในระยะแรกได้ 62%[3]

  13. ใช้เพื่อป้องกันการเกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันซ้ำหลังเกิดขึ้นครั้งแรก
  14. เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ทานยาโคลชิซินอยู่มีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันน้อยมาก จึงมีผู้ทำการศึกษาผลการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันซ้ำในกลุ่มที่ให้ยาโคลชิซิน 0.5 mg/วัน เป็นเวลา 3 ปี (ร่วมกับยาหลักหลังเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน) เทียบกับกลุ่มที่ให้แต่ยาหลัก ซึ่งผลก็ออกมาว่ายาโคลชิซินช่วยเสริมฤทธิ์การป้องกันโรคได้ดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ให้แต่ยาหลัก[4]

  15. ใช้เพื่อรักษาโรคกระดูกอ่อนอักเสบจากภาวะภูมิแพ้ตัวเอง (Relapsing polychondritis) โรคนี้มียารักษาหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่จะเป็นยาสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกันอื่น ๆ
  16. ใช้เพื่อรักษาแผลในปากและที่อวัยวะเพศของโรค Behçet's แต่ส่วนใหญ่จะใช้ยาสเตียรอยด์เป็นหลักมากกว่า
  17. ใช้เพื่อรักษาแผลร้อนในที่ปาก (Aphthous stomatitis) แต่ส่วนใหญ่แผลพวกนี้หายเองได้ กรณีที่เป็นซ้ำบ่อย ๆ นิยมใช้สเตียรอยด์ทามากกว่า

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ยาโคลชิซินจัดเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัย ผลข้างเคียงที่มักเกิดเสมอเมื่อใช้ขนาดสูงขึ้นหรือนานขึ้นคือท้องเสีย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่รุนแรง พอหยุดยาก็หาย นอกจากนั้นอาจมีปริมาณเม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำลงเล็กน้อย พอหยุดยาปริมาณเม็ดเลือดขาวจะกลับเพิ่มสูงกว่าปกติในช่วงแรก จากนั้นจึงจะกลับมาปกติ

ในรายที่ยังไม่หยุดยาเมื่อเริ่มถ่ายเหลวแล้ว ปริมาณยาในเลือดอาจไต่ระดับขึ้นจนเป็นพิษ ซึ่งจะกดไขกระดูก ทำให้เลือดจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกร็ดเลือดต่ำ เกิดเลือดออกได้ง่าย ปวดมวนท้อง ถ่ายเป็นเลือด ชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า ผมร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจชักได้