ยาไดอะซ็อกไซด์ (Diazoxide)

ยาไดอะซ็อกไซด์เป็นยาที่ออกฤทธิ์เปิดช่องโพแทสเซียมที่ตับอ่อนและผนังหลอดเลือด ทำให้ตับอ่อนลดการหลั่งอินสุลินและผนังหลอดเลือดคลายตัว ผลคือน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นและความดันโลหิตต่ำลง ยาชนิดรับประทานมีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลต่ำจากเนื้องอกที่หลั่งฮอร์โมนอินสุลิน (Insulinoma) และชนิดฉีดมีข้อบ่งใช้ในการลดความดันโลหิตสูงขั้นร้ายแรง (Malignant hypertension) การใช้ไม่ว่าในกรณีใดจำเป็นต้องระวังฤทธิ์อีกด้านหนึ่งซึ่งผลข้างเคียงที่อันตราย

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยาขับปัสสาวะเริ่มมีบทบาทในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น แต่พบว่ายาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น Dr. Rubin แห่งบริษัทเชอริ่ง จึงลองสร้างสูตรยาไดอะซ็อกไซด์โดยตัด sulfamoyl group ของยาขับปัสสาวะไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (HCTZ) ออกไป (เพราะเข้าใจว่าโครงสร้างซัลฟาเกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากช่วงนั้นมีการค้นพบกลุ่มยาซัลโฟนิลยูเรียที่กระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินสุลินมาลดน้ำตาลในเลือด) ผลที่ได้คือยาที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตอย่างแรงและเร็วกว่ายาเดิมมาก แต่ก็เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดมากด้วยเช่นกัน

ในช่วงนั้นยังไม่สามารถอธิบายว่ายาไดอะซ็อกไซด์ลดความดันโลหิตได้อย่างไร เนื่องจากมันทำให้มีการคั่งของน้ำและเกลือโซเดียมในร่างกาย ผิดกับยาขับปัสสาวะตัวต้นแบบของมัน ถึงกระนั้นยาก็ยังถูกใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงอยู่ โดยต้องคอยแก้ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงที่เป็นผลข้างเคียงของมัน ต่อมาในทศวรรษที่ 1960's มีผู้พบว่ายาไดอะซ็อกไซด์ทำให้อินสุลินหลั่งน้อยลง จึงมีการทดลองใช้ยานี้รักษาผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะน้ำตาลต่ำเรื้อรัง เช่น โรค Leucine sensitive hypoglycemia, Idiopathic hypoglycemia of infancy, Hyperplasia of islets, Islet cell adenoma, Glycogen storage diseases ฯลฯ ซึ่งก็ได้ผลดี

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดอะซ็อกไซด์เพิ่งจะมากระจ่างในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 นี้ โดยยาไปกระตุ้นช่องโพแทสเซียมชนิด Kir ATP sensitive ที่เบต้าเซลล์ของตับอ่อนและที่เซลล์กล้ามเนื้อเรียบของผนังหลอดเลือด ก่อให้เกิดการปิดช่องแคลเซียมและยับยั้งการทำงานของเซลล์

ยาไดอะซ็อกไซด์ดูุดซึมได้ดีจากทางเดินอาหาร ได้ระดับสูงสุดในเลือดหลังรับประทานประมาณ 4 ชั่วโมง ตัวยาจับกับพลาสมาโปรตีนถึงร้อยละ 90 ในทารกอาจแย่งบิลิรูบินจับกับโปรตีน ทำให้เด็กตัวเหลือง (neonatal hyperbilirubinemia) ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 21-45 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือด โดยขับทิ้งไปกับปัสสาวะ ยาสามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดประมาณ 1 ชั่วโมงหลังกิน และคงฤทธิ์นานเกือบ 8 ชั่วโมง

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้ลดความดันโลหิตในภาวะความดันโลหิตสูงขั้นร้ายแรง
  2. ปัจจุบันการใช้ยาไดอะซ็อกไซด์รูปกินเพื่อลดความดันในระยะยาวไม่เป็นที่นิยม เพราะมีผลข้างเคียงเรื่องทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ยิ่งผู้ที่เป็นเบาหวานจะทำให้คุมน้ำตาลได้ยาก แม้แต่การใช้รูปฉีดเพื่อลดความดันโลหิตในภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติก็ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะมียาตัวอื่นที่ปลอดภัยกว่า เช่น labetalol, esmolol, fenoldopam, nicardipine, sodium nitroprusside ยาไดอะซ็อกไซด์รูปฉีดไม่มีที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว แต่ในประเทศทางยุโรปและเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยยังมีใช้กันอยู่

    ขนาดยาฉีดคือ 1 mg/kg ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำในรายที่ความดันโลหิตสูงมาก ๆ อาจต้องฉีดซ้ำทุก 5-15 นาที แพทย์บางท่านอาจใช้ขนาด 100-150 mg ผสมใน NSS แล้วหยดช้า ๆ ในเวลา ½ - 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันภาวะหัวใจและสมองขาดเลือดจากการที่ความดันลดเร็วเกินไป ในผู้ที่มีไตเสื่อมหรือไตวายจำเป็นต้องลดขนาดยาลง

    ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือภาวะน้ำและเกลือโซเดียมคั่ง ทำให้เกิดอาการบวม, ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง, ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง, และอาการวิงเวียน ใจสั่นจากการที่ความดันลดลงอย่างรวดเร็ว

    ** ไม่ควรใช้ยาไมน็อกซิดิลเพื่อลดความดันนานเกิน 10 วัน

  3. ใช้รักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเรื้อรัง
  4. ขนาดยารับประทานในเด็กโตและผู้ใหญ่เริ่มที่ 3 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ค่อย ๆ เพิ่มทีละ 1 mg/kg/day ทุก 2-3 วัน จนไม่เกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำและความดันโลหิตยังปกติ ขนาดยาโดยทั่วไปคือ 3-8 mg/kg/day ในรายที่เป็น Insulinoma อาจต้องใช้ถึง 20 mg/kg/day

    ในทารกเริ่มที่ 10 mg/kg/day โดยแบ่งรับประทาน 3 มื้อ ค่อย ๆ เพิ่มหรือลดทีละ 1-2 mg/kg/day ทุก 1-3 วัน ขนาดยาโดยทั่วไปคือ 8-15 mg/kg/day

    การปรับขนาดยาต้องดูความดันโลหิตประกอบ ไม่ควรให้ความดันโลหิตค่าบนต่ำกว่า 100 mmHg เพราะนานไปอาจเกิดภาวะไตวาย และหากใช้ไม่ได้ผลใน 2-3 สัปดาห์ก็ควรหยุดไป

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ยาไดอะซอกไซด์อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ตัวบวม คลื่นไส้ เบื่ออาหาร รู้สึกไม่สบายในท้อง มีกรดยูริคออกมาในปัสสาวะ ปวดศีรษะ วิงเวียน หูอื้อ ตาพร่าจากภาวะหัวใจขาดเลือดหรือสมองขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไตวาย สำหรับภาวะความดันโลหิตต่ำมากหรือน้ำตาลในเลือดสูงมากควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

ผู้ที่แพ้ยาซัลฟา สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรไม่ควรใช้ยานี้

ปฏิกิริยาระหว่างยา

ยาไดอะซอกไซด์มีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นดังนี้

การใช้ร่วมกับยา Alprazolam, Amitriptyline, Diphenhydramine, Hydralazine, Phenobarbital, Zolpidem สามารถทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำและหัวใจเต้นช้า หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันต้องลดขนาดของยาไดอะซ็อกไซด์ลง

การใช้ยาไดอะซอกไซด์ร่วมกับยา Chlorothiazide (ยาขับปัสสาวะ) สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นมาก อาจพบอาการหิวบ่อย ปัสสาวะมากและถี่ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันต้องลดขนาดยาตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวลง

เนื่องจากยาไดอะซอกไซด์จับกับพลาสมาโปรตีนค่อนข้างมาก การใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด Warfarin อาจทำให้ฤทธิ์ของ Warfarin เพิ่มมากขึ้นและเลือดออกได้ง่ายขึ้น