ยาดิลไทอะเซม (Diltiazem)
ยาดิลไทอะเซมเป็นยาปิดกั้นช่องแคลเซียมกลุ่ม Benzothiazepine มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมกับภาวะหัวใจขาดเลือด หรือมีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ยามีทั้งรูปฉีดและกิน เป็นอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ยาดิลไทอะเซมออกฤทธิ์ปิดกั้นช่องแคลเซียมทั้งที่กล้ามเนื้อหัวใจและที่ผนังหลอดเลือดแดง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานลดลง หลอดเลือดโคโรนารีขยาย เลือดจึงไปเลี้ยงหัวใจได้มากขึ้น หลอดเลือดแดงส่วนปลายก็คลายตัว ความดันโลหิตจึงลดลงด้วย นอกจากนั้นยายังยับยั้งการนำไฟฟ้าที่ SA และ AV nodes ทำให้หัวใจเต้นช้าลง
ยาดิลไทอะเซมดูุดซึมได้ดีจากทางเดินอาหาร โดยเฉพาะเมื่อมีอาหารประเภทไขมันอยู่ แต่หลังดูดซึมจะถูกตับเมตาบอไลต์ทันที (first-pass effect) เหลือยาเข้ากระแสเลือดเพียง 40% ร้อยละ 70-80 จับกับโปรตีนในเลือด ยาปกติมีระยะครึ่งชีวิตสั้น จึงต้องให้ยาบ่อย วันละ 2-3 ครั้ง แต่ปัจจุบันมียาในรูป extended-release capsules สามารถรับประทานเพียงวันละครั้ง ตับเป็นแหล่งกำจัดยาดิลไทอะเซมที่สำคัญ โดยยาจะถูกตับเปลี่ยนเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับจะมียาเหลือค้างในร่างกาย จึงต้องลดขนาดยาหรือลดความถี่ในการใช้ต่อวันลง
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้ลดความดันโลหิตในโรคความดันโลหิตสูง
ขนาดยาดิลไทอะเซมในผู้ใหญ่ให้เริ่มรับประทานที่ 60 mg วันละ 2 ครั้ง หรือใช้แบบ extended release ขนาด 180 mg วันละครั้ง อาจปรับขนาดได้ถึงวันละ 360 mg/วัน ยาสามารถรับประทานก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
** ผู้สูงอายุมักจะตอบสนองต่อยามาก ดังนั้นจึงควรเริ่มที่ขนาดต่ำก่อน
ในเด็กใช้ขนาด 1.5-2 mg/kg/day แบ่งให้วันละ 3 มื้อ สูงสุดไม่เกิน 360 mg/วัน
** ผู้ที่เป็นโรคตับต้องลดขนาดยาลง หรือเปลี่ยนไปใช้ยาลดความดันตัวอื่นแทน
- ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีอาการแน่นอกเรื้อรัง (ร่วมกับยาอื่น)
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่เหมาะที่จะใช้ยานี้คือ ผู้ที่มีภาวะแน่นอกเรื้อรังที่เอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจแล้วยังไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือขยายหลอดเลือด (chronic stable angina), และผู้ที่มีอาการเจ็บอกจากหลอดเลือดหัวใจหดตัวเป็นพัก ๆ (vasospastic angina)
ขนาดยาดิลไทอะเซมที่ใช้ในภาวะเหล่านี้คือ 60 mg วันละ 3 ครั้ง อาจเพิ่มได้ถึง 360 mg/วัน
ข้อห้ามใช้และข้อควรระวัง
ยาดิลไทอะเซมมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะดังต่อไปนี้
- Sick sinus syndrome, second or third degree AV block เว้นแต่จะได้รับการใส่ ventricular pacemaker แล้ว
- กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่มีน้ำท่วมปอดจากเอกเรย์
- โรค Porphyria (โรคทางพันธุกรรมที่พบได้ยากที่มีความผิดปกติของเอนไซม์สร้างสารฮีมของเม็ดเลือดแดง)
- สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
ไม่ควรใช้ยาดิลไทอะเซมร่วมกับยากลุ่มปิดตัวรับเบตา, ยาดิจิทัลลิส, หรือยาคลอนิดีน (Clonidine) เพราะจะเสริมฤทธิ์กันยับยั้งการเต้นของหัวใจ
ยาสามารถให้ได้ในภาวะหัวใจล้มเหลวที่การทำงานของหัวใจห้องล่างซ้ายยังปกติ ในภาวะดังกล่าวยาจะช่วยให้การบีบตัวของหัวใจดีขึ้นด้วยซ้ำ แต่ไม่ควรใช้ดิลไทอะเซมในภาวะที่หัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวได้ < 50%
ผลข้างเคียง พิษของยา
ผลข้างเคียงของยาดิลไทอะเซมพบได้น้อยกว่า 10% ได้แก่ อาการปวดศีรษะ บวมบริเวณข้อเท้า ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน อ่อนแรง หน้าแดง คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในทางเดินอาหาร อาจพบผื่นคัน ผิวหนังมีสะเก็ดลอก แพ้แสงแดด และอาจทำให้ตับอักเสบ
พิษของยาที่สำคัญคือ ยาการกดการบีบตัวของหัวใจและยับยั้งการนำไฟฟ้าที่หัวใจ จนบางคนอาจพบอาการหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจหยุดเต้นได้ หากพบอาการดังกล่าวให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาโดยใช้วิธีล้างท้องและให้ยาถ่านกำมันต์ (Activated charcoal) กับผู้ป่วยเพื่อลดปริมาณยาที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
ปฏิกิริยาระหว่างยา
เนื่องจากยาถูกสลายที่ตับด้วยเอ็นไซม์ cytochrome P450 จึงมีปฏิกิริยากับยาหลายตัวที่ใช้ร่วมกัน โดย...
- ฤทธิ์ยาดิลไทอะเซมจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยา Cimetidine ที่รักษาโรคกระเพาะ และอาจทำให้ความดันลดมากเกินไป
- ยาดิลไทอะเซมจะทำให้ระดับยา Cisapride, Carbamazepine, Digitalis, Morphine, Propranolol, Simvastatin สูงขึ้น เมื่อใช้ร่วมกับดิลไทอะเซม ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษจากยาดังกล่าว เช่น หัวใจเต้นช้า/ผิดจังหวะ วิงเวียน เป็นลม อึดอัด หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตับอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ/สลาย (myopathy/rhabdomyolysis) เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาดิลไทอะเซม
- การใช้ยาดิลไทอะเซมร่วมกับยารักษาโรคเก๊าต์เช่น Colchicine อาจส่งผลให้เกิดการทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อ เม็ดเลือด ตับ ไต ระบบประสาท และอวัยวะอื่น ๆ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับลดขนาดของ Colchicine ลง หรือเว้นช่วงการใช้ยาให้ห่างกัน 14 วันเป็นอย่างต่ำ