กลุ่มยาขยายหลอดเลือด (Direct vasodilators)
ยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโดยตรง ไม่ผ่านกลไกอื่น สามารถลดความดันได้ดี แต่มีฤทธิ์สั้น และมักทำให้เกิดอาการใจสั่นจากรีเฟล็กซ์ tachycardia จึงไม่เหมาะกับคนไข้ที่มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่ก่อน อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนเรื่องการปกป้องหัวใจ, ไต, และโรคหลอดเลือดในระยะยาว จึงไม่แนะนำให้ใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้เสริมยากลุ่มอื่น หรือใช้ในภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติ
ยากลุ่มนี้ความจริงยังจำแนกตามข้อบ่งใช้ได้เป็น 4 กลุ่มย่อย คือ
- กลุ่มที่ใช้ลดความดันโลหิตทั่วไป ได้แก่ยา Hydralazine และ Sodium nitroprusside
- กลุ่มที่ขยายหลอดเลือดแดงโคโรนารีของหัวใจ (Anti-angina) ได้แก่ยากลุ่ม Nitrates อาทิ Nitroglycerin, Isosorbide dinitrate, Isosorbide mononitrate เป็นต้น
- กลุ่มที่ใช้ลดความดันเลือดในปอด (Pulmonary arterial hypertension, PAH) ได้แก่ยา Sildenafil, Beraprost, Iloprost, Bosentan, ambrisentan เป็นต้น (ยา Sildenafil ช่วยให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวด้วย)
- กลุ่มที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดแดงฝอยตีบตัน (Peripheral arterial disease, Intermittent claudication) ได้แก่ยา Cilostazol, Naftidrofuryl oxalate, Pentoxifylline, Inositol nicotinate เป็นต้น ยากลุ่มนี้ยับยั้งการจับตัวของเกร็ดเลือดที่หลอดเลือดฝอยเป็นหลัก ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดฝอยเป็นรอง
ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่ยาที่ใช้ลดความดันโลหิตทั่วไปเท่านั้น
ผลของยาขยายหลอดเลือดต่อหัวใจ
กลุ่มยาที่มีผลให้หลอดเลือดขยาย (ทั้ง ACEIs, ARBs, DRIs, CCBs, ABs, และกลุ่มยาลดสารสื่อประสาท) ส่วนใหญ่จะขยายทั้งหลอดเลือดดำและแดงพอ ๆ กัน แต่บางกลุ่มบางตัวก็จะขยายหลอดเลือดแดงและดำได้ไม่เท่ากัน ดังตัวอย่างในตารางข้างล่างนี้
ยา | ขยายหลอดเลือดแดง | ขยายหลอดเลือดดำ |
Minoxidil | +++++ | |
Hydralazine | ++++ | + |
Diazoxide | +++ | ++ |
Nitroprusside | ++ | +++ |
Nitrates | + (++ for coronary artery) | ++++ |
ยาที่ขยายหลอดเลือดแดงจะลดแรงต้านภายในหลอดเลือดขณะหัวใจบีบตัว ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดออกไปได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันแรงดันภายในหลอดเลือดที่ลดลงจะไปกระตุ้น baroreceptor reflex ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและบีบตัวแรงขึ้น (⬆ Cardiac output, CO) เส้นโค้งของ cardiac function จึงขยับขึ้นข้างบน เลือดที่ออกจากหัวใจไปถึงหลอดเลือดแดงฝอยจะไปกองอยู่ในหลอดเลือดดำมากขึ้น ปริมาณเลือดดำที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้แรงดันในหลอดเลือดดำและหัวใจห้องขวาบนซึ่งรับเลือดดำกลับมาฟอกใหม่เพิ่มขึ้น (⬆ Right atrial pressure, PRA) เส้น Venous return (VR) จึงขยับขึ้นจากเส้นสีดำเป็นเส้นสีแดง (โดย x-intercept หรือ mean circulatory filling pressure ไม่เปลี่ยนแปลง) จุดตัดสมดุลของเส้นการทำงานของหัวใจกับแรงดันเลือดดำจึงย้ายจาก A ไป B
ตรงกันข้าม ยาที่ขยายหลอดเลือดดำจะทำให้แรงดันในหลอดเลือดดำลดลง เลือดไปกองอยู่ในหลอดเลือดดำเป็นส่วนใหญ่ ไหลกลับเข้าหัวใจน้อยลง แรงดันในหัวใจห้องบนขวาที่รับเลือดกลับมาจึงลดลง (⬇ Right atrial pressure, PRA) และลดภาระที่หัวใจต้องฉีดเลือดออกไป ซึ่งเท่ากับเลือดที่เข้ามา (⬇ Cardiac workload, CO) หัวใจจึงเบาแรงลงและต้องการออกซิเจนในการทำงานน้อยลง ยากลุ่มนี้จึงช่วยผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ดี
เส้น Venous return (VR) ในกรณีนี้จะขยับลงจากเส้นสีดำเป็นเส้นสีแดง และเส้นโค้งการทำงานของหัวใจก็จะถอยต่ำลง ทำให้จุดตัดสมดุลของเส้นการทำงานของหัวใจกับแรงดันเลือดดำย้ายจาก A ไป B
การลดแรงดันในหลอดเลือดดำยังทำให้ proximal capillary hydrostatic pressure ลดลง ซึ่งจะลดการรั่วของสารน้ำออกจากหลอดเลือด อาการบวมน้ำจึงลดลง จึงมีการใช้ยาขยายหลอดเลือดดำรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว (ร่วมกับยาตัวอื่น ๆ) เพราะมันช่วยลดภาวะน้ำท่วมปอด และ/หรือ ภาวะบวมที่เกิดจากหัวใจล้มเหลว (ฉีดเลือดออกไปไม่ไหว) ได้
ส่วนยาที่ขยายทั้งหลอดเลือดแดงและดำเท่า ๆ กันจะลดแรงต้านภายในหลอดเลือดขณะหัวใจบีบตัว และเพิ่มการแช่เลือดอยู่ในหลอดเลือดดำ ปริมาณเลือดกลับเข้าหัวใจห้องบนขวาน้อยลง แรงดันใน Right atrium จึงลดลง(⬇⬇ Right atrial pressure, PRA) ส่งผลให้หัวใจมีภาระที่ต้องฉีดเลือดออกไปลดลง (⬇ Cardiac output, CO) เส้น Venous return (VR) จะขยับลงและถอยหลังจากเส้นสีดำเป็นเส้นสีแดง แต่ mean circulatory filling pressure ลดลงไม่มาก จึงทำให้จุดตัดสมดุลของเส้นการทำงานของหัวใจกับแรงดันเลือดดำจึงขยับจาก A ไป B เพียงเล็กน้อย
ยากลุ่มเหล่านี้จึงเหมาะที่จะใช้ในระยะยาว เพราะไม่ทำให้หัวใจทำงานหนักเกินไป และไม่ทำให้บวมน้ำมากไป
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้เพื่อลดความดันโลหิต
ยา Hydralazine ในรูปยาเม็ดใช้เสริมยาลดความดันโลหิตสูงกลุ่มอื่น ๆ เมื่อให้ขนาดเต็มที่แล้วยังไม่ได้ผล ยาลดความดันได้ดีและรวดเร็วเมื่อให้ร่วมกับยาต้านตัวรับเบตาหรือยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์
ยา Hydralazine และ Sodium nitroprusside ในรูปฉีดใช้ลดความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต (คือสูงจนหัวใจล้มเหลว) โดยเฉพาะยา Hydralazine แบบฉีดถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อลดความดันในหญิงมีครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ (ความดันโลหิตสูงมากจนเลือดไปเลี้ยงทารกไม่ได้)
- ใช้เพื่อลดการทำงานของหัวใจในโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารีตีบ
ยาที่ใช้ในกรณีนี้ได้แก่ยากลุ่มไนเตรท (Nitrates) ซึ่งมีทั้งตัวที่ออกฤทธิ์สั้นและเร็ว เช่น Nitroglycerine หยดเข้าหลอดเลือดดำ หรือ Isosorbide dinitrate อมใต้ลิ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลัน และตัวที่ออกฤทธิ์ยาวนาน รับประทานเพียงวันละ 2 ครั้ง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังและยังไม่สามารถผ่าตัดหรือสวนหลอดเลือดแก้ไขได้ แต่ยากลุ่มนี้มักมี tolerance คือเมื่อรับประทานไปนาน ๆ ร่างกายจะตอบสนองต่อยาลดลง
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
กลุ่มยาขยายหลอดเลือดโดยตรงมักไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทซิมพาเธทิกและระบบเรนิน-แองจิโอเทนซิน-อัลโดสเตอโรน ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและมีภาวะบวมน้ำ แต่อาการเหล่านี้สามารถระงับได้เมื่อใช้ร่วมกับยาปิดตัวรับเบตาและยาขับปัสสาวะ
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยากลุ่มไนเตรทคืออาการปวดศีรษะ หลายคนไม่สามารถทนได้จนต้องเลิกใช้ยา
บรรณานุกรม
- Richard E. Klabunde. "Vasodilator Drugs." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cardiovascular Pharmacology Concepts. (15 เมษายน 2561).