ยาด็อกซาโซซิน (Doxazosin)
ยาด็อกซาโซซิน หรือชื่อการค้า "คาร์ดูรา" (Cardura®) ถูกพัฒนาต่อมาจากยาพราโซซินให้สามารถออกฤทธิ์ได้นานขึ้น จัดเป็นยายอดนิยมตัวหนึ่งสำหรับภาวะต่อมลูกหมากโต ยาอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติบัญชี ค. คือต้องสั่งโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากเป็นยาอันตราย ใช้รักษาภาวะต่อมลูกหมากโตเป็นหลัก ใช้เสริมกับยาตัวอื่นเพื่อคุมความดันโลหิตสูงเป็นรอง เพราะในปีค.ศ. 2000 มีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ยาเดี่ยวด็อกซาโซซินกับยาขับปัสสาวะไทอะไซด์ตัวเดียวในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงเป็นเวลา 2 ปี พบว่าผู้ป่วยที่ใช้ยาด็อกซาโซซินคุมความดันมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลวสูงกว่าผู้ป่วยที่ใช้ยาขับปัสสาวะไทอะไซด์ [1]
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ยาด็อกซาโซซินเป็น selective α1 blocker ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ ความดันโลหิตจึงลดลง รวมทั้งช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ลดอาการเบาขัดจากภาวะต่อมลูกหมากโต
การที่ยาไม่ได้ยับยั้งตัวรับ α2 ทำให้ negative feedback ของ Norepinephrine ยังทำงานอยู่ จึงไม่เกิด reflex tachycardia ที่หัวใจ จากการศึกษาไม่พบว่ายากดการบีบตัวหรือการเต้นของหัวใจ ยาไม่เพิ่มระดับ renin ในเลือด และไม่มีผลกับเลือดที่เข้า-ออกไต
ยาด็อกซาโซซินดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ประมาณร้อยละ 65 เริ่มออกฤทธิ์ประมาณ 3-4 ชั่วโมงหลังกิน และมีฤทธิ์คลุมได้ตลอด 24 ชั่วโมง ยาจับกับโปรตีนในเลือดถึงร้อยละ 98 ถูกกำจัดที่ตับเป็นหลัก แล้วจะถูกขับออกทางน้ำดีปนมากับอุจจาระ ดังนั้นจำเป็นต้องลดขนาดยาถ้าตับทำงานบกพร่อง และควรงดใช้ในผู้ป่วยโรคตับแข็งหรือตับวาย
การใช้ยาที่เหมาะสม
- ใช้บรรเทาอาการเบาขัดจากภาวะต่อมลูกหมากโต
ขนาดยาที่ใช้คือ 1-8 mg/วัน รับประทานวันละครั้ง ก่อนนอน สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่มีความดันโลหิตสูงควรเริ่มที่ 0.5 mg ปรับขนาดเพิ่มทีละ 1-2 mg ทุก 1-2 สัปดาห์
- ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง
ยากลุ่มนี้ไม่เป็นยาตัวแรกในการเริ่มรักษาตามแนวทางมาตรฐาน JNC-7 แต่เหมาะกับชายสูงอายุที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตด้วย การใช้ยาด็อกซาโซซินเพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูงให้เริ่มที่ 1 mg วันละครั้ง ก่อนนอน ปรับขนาดยาทุก 1-2 สัปดาห์ สูงสุดไม่ควรเกิน 16 mg/วัน
ยังไม่มีการศึกษาขนาดยาในเด็ก
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือ ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า (orthostatic/postural hypotension) มักเป็นกับการใช้ยาช่วงแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการวิงเวียน หน้ามืดเป็นลมได้ จึงแนะนำให้รับประทานยาก่อนนอน
ยากลุ่ม Selective α1-blockers อาจทำให้ม่านตาและอวัยวะเพศชายผิดปกติแตกต่างกันในแต่ละคน ที่มีรายงานคือ ภาวะม่านตาอ่อนขณะผ่าตัดตา (Intraoperative Floppy Iris Syndrome, IFIS) แต่ไม่จำเป็นต้องหยุดยากลุ่มนี้ก่อนผ่าตัดตา, ภาวะอวัยวะเพศชายแข็งตัวเป็นเวลานานหลายชั่วโมงติดต่อกัน (Priapism) หรือภาวะอวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือแข็งแต่หลั่งอสุจิกลับเข้ากระเพาะปัสสาวะแทน (retrograde ejaculation)
ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบได้ คือ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน (เพราะยาทำให้กล้ามเนื้อเรียบของทางเดินอาหารบีบตัว) ปวดศีรษะ ง่วงซึม อ่อนเพลีย
อาการแพ้ยาด็อกซาโซซิน ได้แก่ ลมพิษ หายใจลำบาก ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ หรือใบหน้ามีอาการบวม
ปฏิกิริยาระหว่างยา
การใช้ยาด็อกซาโซซินร่วมกับยาในกลุ่ม Phosphodiesterase-5 inhibitor (PDE5I) เช่น ไวอะกร้า (Sildenafil, Viagra®) อาจเสริมภาวะความดันเลือดต่ำของยาทั้งสอง จึงควรเริ่มใช้ PDE5I ในขนาดต่ำสุดเมื่อใช้ยาด็อกซาโซซินเป็นประจำ
การรับประทานยาโรคกระเพาะพวก Cimetidine ซึ่งยับยั้งเอ็นไซม์จากตับที่กำจัดยาด็อกซาโซซิน ก็จะทำให้ฤทธิ์ของยาด็อกซาโซซินแรงขึ้น อาจทำให้ความดันต่ำลงกว่าปกติ
บรรณานุกรม
- ALLHAT Collaborative Research Group. 2000. "Major cardiovascular events in hypertensive patients randomized to doxazosin vs chlorthalidone: the antihypertensive and lipid-lowering treatment to prevent heart attack trial (ALLHAT)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา JAMA. 2000 Apr 19;283(15):1967-75. (6 มีนาคม 2561).