ทิศทางของยาในอนาคต

คาดกันว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า การไปรักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาล ก่อนที่แพทย์จะสั่งยาให้คุณ ท่านจะขอตรวจดีเอ็นเอของคุณก่อน

ใช่แล้ว.. DNA หรือยีนของคุณ!

โครงการศึกษายีนของมนุษย์ (Human genome project) ดำเนินมาจนถึงขั้นที่เราทราบลำดับของเบสและตำแหน่งของยีนที่ควบคุมการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ของร่างกายคนเรา นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในอนาคต แพทย์จะไม่ได้สั่งยาในขนาด "เฉลี่ย" ที่เหมาะกับอายุและน้ำหนักตัวของคนไข้อย่างในปัจจุบันอีกต่อไป แต่จะพิจารณาตามลักษณะทางดีเอ็นเอของแต่ละคน ที่สำคัญกว่านั้น รูปร่างและการออกฤทธิ์ของยาก็จะไม่ใช่อย่างที่ผลิตกันในปัจจุบันด้วย

การค้นพบเซลล์หรือโมเลกุลเป้าหมายของสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งของสารเคมีตัวที่ออกฤทธิ์ในยา ทำให้เราเข้าใจกลไกการตอบสนองของร่างกายมนุษย์ต่อยามากขึ้น ปัจจุบันเราค้นพบถึงประมาณ 600 โมเลกุลเป้าหมาย และยาตัวใหม่ก็จะออกแบบให้มีฤทธิ์เฉพาะต่อเซลล์หรือโมเลกุลเป้าหมายเหล่านี้เพื่อลดผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด การวิจัยยาในศตวรรษที่ 21 คาดว่าจะใช้พันธุเคมีศาสตร์จะเป็นหลักพื้นฐานในการผลิตยา

ยาในอุดมคติ

ยาในอุดมคติ คือ ยาที่เข้าไปในร่างกายแล้วตรงไปยังจุดที่เกิดโรคทันที โดยผ่านเซลล์ปกติทั้งหมด ออกฤทธิ์ แล้วก็สลายไปเอง ซึ่งการออกแบบรูปยาในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นรูปกินหรือฉีดไม่สามารถทำงานในลักษณะนี้ได้ การรับประทานยา ยาจะถูกกรดและน้ำย่อยทำลายหรือแปรสภาพไปส่วนหนึ่ง เมื่อดูดซึมเข้ากระแสเลือดแล้วก็ยังต้องผ่านตับ แปรสภาพไปอีกรอบ กว่าจะได้ระดับที่เพียงพอแก่การรักษาก็ต้องใช้เวลา 1-2 วัน ยาฉีดก็มีปัญหาที่เจ็บตัวและผู้ป่วยไม่สามารถรับยาได้เอง ยาในอุดมคติควรจะออกแบบให้เข้าร่างกายในรูปของยาทาทางผิวหนัง ยาพ่นจมูก หรือยาพ่นเข้าหลอดลม เพื่อลัดขั้นตอนการดูดซึมยาในทางเดินอาหาร และลดความเสี่ยงในการฉีดยา

ยาส่วนใหญ่เป็นสารประกอบที่ละลายน้ำ แต่เยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane) ของคนเป็นไขมัน ยาที่จะเข้าเซลล์ได้ต้องมีโมเลกุลที่เล็กมาก หรือต้องรู้จักเข้าทางตรอก (private cellular alleyways) โดยมีผู้ช่วยพาเข้าไป (molecular transporters) นักวิจัยกำลังหาวิธีขโมย molecular transporters ในร่างกายมาใช้ประโยชน์ เพื่อพายาเข้าไปออกฤทธิ์ในเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ

ผู้ผลิตยาในอนาคต

ภาพล้อเลียนนี้อาจจะดูเกินจริงไปหน่อย ความจริงพวกเราได้รับประโยชน์จากงานวิจัยและยาใหม่ที่บริษัทยาค้นพบมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่โลกเปลี่ยนไปตามการค้นพบใหม่ ๆ ที่ใช้งานได้ดีกว่า การลงทุนวิจัยกว่า 3,000 ล้านบาทเป็นเวลา 10-20 ปี เพื่อให้ได้ยาใหม่ 1 ตัว แล้วทำการตลาดเพื่อให้สามารถคืนทุนได้ทั้งหมดก่อนสิ้นสุดสิทธิบัตรยา หรือก่อนที่จะมีผู้รายงานผลข้างเคียงที่รุนแรงจนต้องเพิกถอนยาออกจากตลาดดูจะไม่คุ้มค่านักในยุคนี้

เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมุ่งไปในทิศทางที่จะรักษาโรคให้หายขาด ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องพึ่งยาตลอดชีวิตอีกต่อไป หรือใช้เซลล์มารักษาโรคแทนยา หรือใช้นวัตกรรมการพิมพ์สามมิติซ่อมแซมอวัยวะที่ได้รับความเสียหายแทนการใช้ยาเพื่อชดเชยหรือบรรเทาความสูญเสียนั้น เทคโนโลยี molecular marker คาดว่าจะช่วยในการวินิจฉัยโรคและผ่าตัดได้แม่นยำขึ้นมากจนอาจไม่เหลือพื้นที่ให้ต้องใช้ยาช่วยในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนมากนัก นอกจากนั้น การมีอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณผิดปกติของร่างกายแล้วคอยบันทึกไว้ตลอดเวลา การมีอุปกรณ์ตรวจร่างกายต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยใช้เองได้ที่บ้าน แล้วส่งข้อมูลไปให้แพทย์ทางอินเทอร์เน็ต การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเคมีพันธุศาสตร์ของผู้ป่วยและแนะนำทางเลือกที่ดีที่สุดในผู้ป่วยแต่ละราย เหล่านี้ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคได้รวดเร็วและมีโอกาสหายขาดมากขึ้น และตัวเลือกในการรักษาอาจไม่ใช่ยาขนาด "เฉลี่ย" อีกต่อไป

แน่นอนว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค ซึ่งประชากรในประเทศด้อยพัฒนายังอาจต้องพึ่งการรักษาแบบเดิม ๆ แต่หากผู้ผลิตยาไม่ปรับตัวรับทิศทางนี้ โอกาสรอดในยุคของการแข่งขันคงเป็นไปได้ยาก ผลิตภัณฑ์ช่วยวินิจฉัยและช่วยนำทางการรักษาเหล่านี้จะมาแทนที่ยาในอนาคต เช่นเดียวกับสื่อดิจิตอลต่าง ๆ ที่มาแทนที่สื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน