ยาอีด็อกซาแบน (Edoxaban, Lixiana®, Savaysa®)

ยาอีด็อกซาแบนพัฒนาขึ้นในปีค.ศ. 2011 โดยบริษัทไดอิชิ ซันเคียว ของประเทศญี่ปุ่น ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐในปีค.ศ. 2015 จัดเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานที่ออกฤทธิ์ต้านแฟกเตอร์ Xa โดยตรง (Direct factor Xa inhibitors) อีกตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย

เริ่มแรกยาถูกพัฒนามาเพื่อใช้ป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขาหลังการผ่าตัดข้อสะโพกหรือข้อเข่า อีกทั้งยังใช้รักษาภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน (deep vein thrombosis) และลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในปอด (pulmonary embolism) หลังฉีดยาต้านการแข็งตัวของเลือดจนครบ 5-10 วันแล้ว แต่ต่อมาก็ได้รับอนุมัติให้ใช้ป้องกัน stroke และ systemic embolism ในผู้ป่วย non-valvular atrial fibrillation ด้วย

ปัจจุบันยากลุ่ม Oral direct factor Xa inhibitors ทุกตัวยังมีราคาแพง และยังไม่สามารถป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในผู้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียม (prosthetic heart valves) รวมถึงผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน (transcatheter aortic valve replacement หรือ TAVR) จึงไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย

ที่มาและการออกฤทธิ์:

แฟกเตอร์ Xa เป็นแฟกเตอร์สำคัญของขบวนการแข็งตัวของเลือด เพราะเป็นแฟกเตอร์แรกที่ทั้ง intrinsic และ extrinsic pathways ต้องมากระตุ้นก่อนเข้าสู่การสร้างลิ่มเลือดไฟบริน เราพบว่าในต่อมน้ำลายของปลิงดูดเลือดมีสาร antistasin ที่ต้านแฟกเตอร์ Xa ของมนุษย์ และในตัวเห็บ Ornithodoros moubata ก็มีสาร tick anticoagulant peptide (TAP) ที่ต้านแฟกเตอร์ Xa เช่นกัน

ยาอีด็อกซาแบนดูดซึมได้เร็ว ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังรับประทานยาก็ได้ระดับสูงสุดในเลือด อาหารไม่มีผลต่อการดูดซึมของยา จึงรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ มีค่าครึ่งชีวิต 10-14 ชั่วโมง จึงใช้เพียงวันละครั้ง ยาถูกขับออกทั้งทางน้ำดีและทางปัสสาวะ

อีด็อกซาแบนส่วนใหญ่ไม่ถูกเมตาบอไลต์ จึงไม่มีสารตัวใหม่ไปทำปฏิกิริยากับยาตัวอื่น ยกเว้นกลุ่มยาที่กระตุ้นหรือยับยั้ง P-glycoprotein (P-gp) efflux transporter ซึ่งเป็นตัวพาอีด็อกซาแบนผ่านผนังลำไส้เข้ากระแสเลือด กลุ่มยาที่ยังยั้บ P-gp เช่น Ketoconazole, Erythromycin, Cyclosporine, Verapamil, Quinidine, Dronedarone จะเพิ่มระดับอีด็อกซาแบนในเลือด ส่วนกลุ่มยาที่กระตุ้น P-gp เช่น Rifampin, Phenytoin, Carbamazepine, Phenobarbital จะลดระดับอีด็อกซาแบนในเลือด จึงต้องปรับขนาดยาใหม่ ทางที่ดีไม่ควรใช้ร่วมกันเลย เพราะปรับยายาก

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้ป้องกันภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันในผู้ป่วยที่มี non-valvular atrial fibrillation (AF)
  2. ขนาดยาทั่วไปคือ 60 mg วันละครั้ง ยกเว้นผู้ป่วยต่อไปนี้ใช้ขนาด 30 mg วันละครั้ง

    • ไตเสื่อม (CrCl 15–50 mL/min)
    • น้ำหนัก ≤ 60 kg
    • ใช้กลุ่มยาที่ยับยั้ง P-gp เช่น Ciclosporin, dronedarone, erythromycin, ketoconazole

    ในฉลากยาจะระบุด้วยว่า "ถ้า CrCL >95 mL/min ไม่ควรใช้ เพราะเพิ่มโอกาสเกิดลิ่มเลือดสมองมากกว่ายาวาร์ฟาริน"

  3. ใช้ก่อนทำ cardioversion ในรายที่ไม่เคยได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือดมาก่อน
  4. ให้ขนาด 60 mg รับประทานก่อนทำ cardioversion 2 ชั่วโมง (ถ้ามีไตเสื่อม, น้ำหนักน้อยกว่า 60 kg, หรือใช้ยากลุ่มยับยั้ง P-gp ให้เพียง 30 mg)

  5. ใช้ป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดดำ ในผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดใหญ่กระดูกสะโพกและส่วนขา
  6. ใช้ขนาด 30 mg วันละครั้ง หลังผ่าตัดเสร็จประมาณ 12-24 ชั่วโมง การผ่าตัดสะโพกให้ยานาน 5 สัปดาห์ การผ่าตัดหัวเข่าให้ยานาน 2 สัปดาห์

  7. ใช้รักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขาหรือที่ปอด (DVT or PE)
  8. น้ำหนักตัว > 60 kg ใช้ขนาด 60 mg วันละครั้ง
    น้ำหนักตัว ≤ 60 kg ใช้ขนาด 30 mg วันละครั้ง หลังจากให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดครบ 5-10 วันแล้ว

ถ้าลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้

ก่อนผ่าตัดหรือทำหัตถการที่เสี่ยงต่อเลือดออกมาก เช่น การถอนฟัน ควรหยุดอีด็อกซาแบนอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ส่วนหัตถการที่เสี่ยงต่อเลือดออกน้อย เช่น การฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง การเจาะน้ำไขสันหลัง การส่องกล้องทางเดินอาหาร การขูดหินปูนฟัน ให้หยุดยาประมาณ 5-24 ชั่วโมงก่อนทำหัตถการ และเริ่มยาใหม่เมื่อแผลผ่าตัดไม่มีเลือดซึมแล้ว

ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาอีด็อกซาแบนในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์ และหญิงที่ให้นมบุตร

การเปลี่ยนชนิดของยาต้านการแข็งตัวของเลือด

  1. การเปลี่ยนจากยาอีด็อกซาแบนเป็นเฮพาริน
  2. ให้หยุดอีด็อกซาแบน แล้วเริ่มฉีดเฮพารินในเวลาที่ต้องรับประทานอีด็อกซาแบนครั้งต่อไป

  3. การเปลี่ยนจากเฮพารินมาเป็นอีด็อกซาแบน
  4. หากฉีดเฮพารินโมเลกุลเล็กเป็นโดส ๆ ให้เริ่มอีด็อกซาแบนก่อนจะถึงโดสฉีดถัดไป พร้อมหยุดฉีด

    หากหยดเฮพารินเข้าหลอดเลือดดำตลอดเวลา ให้เริ่มอีด็อกซาแบนหลังหยุดหยดยา 4 ชั่วโมง

  5. การเปลี่ยนจากยาอีด็อกซาแบนเป็นวาร์ฟาริน (หรือยาต้านวิตามินเคตัวอื่น)
  6. ให้ใช้วาร์ฟารินโดสที่เหมาะสม (ไม่ต้องโหลด) คู่กับอีด็อกซาแบนครึ่งโดส จนกระทั่งได้ INR 2.0 จึงหยุดอีด็อกซาแบน (ส่วนใหญ่ใช้เวลาให้คู่กันถึง 14 วัน ระหว่างนี้ควรตรวจ INR ทุกวัน) จากนั้นปรับวาร์ฟารินตาม INR จนได้ช่วงตามต้องการ

  7. การเปลี่ยนจากวาร์ฟารินมาเป็นอีด็อกซาแบน
  8. ให้หยุดวาร์ฟารินก่อน แล้วติดตามค่า INR จน ≤ 2.0 ถึงค่อยเริ่มยาอีด็อกซาแบน เมื่อผู้ป่วยเปลี่ยนไปใช้อีด็อกซาแบนแล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจ INR อีกต่อไป

ข้อห้ามใช้

ห้ามใช้ยาอีด็อกซาแบนในผู้ป่วยต่อไปนี้

  • ไตวายระยะสุดท้าย (CrCl < 15 ml/min)
  • ผู้ป่วยโรคตับที่มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม
  • มีความเสี่ยงที่จะเกิดเลือดออกในอวัยวะสำคัญ เช่น มีความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรงที่ยังควบคุมไม่ได้, มีพยาธิสภาพของหลอดเลือดที่จอตา, มีความผิดปกติของหลอดเลือดภายในไขสันหลังหรือภายในกะโหลกศีรษะ, มีโรคหลอดลมพองหรือมีประวัติเลือดออกในปอด, มีเลือดออกผิดปกติแต่กำเนิด
  • ผู้ป่วยที่กำลังมีเลือดออก เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในกะโหลกศีรษะ เลือดออกจากทางเดินปัสสาวะ ไอเป็นเลือด เลือดออกในลูกตา และภาวะเลือดออกง่ายอื่น ๆ
  • ผู้ป่วยที่ประวัติเลือดออกในสมองหรือภายในกะโหลกศีรษะ ไม่เกิน 6 เดือน

ยาที่ไม่ควรใช้ร่วมกับอีด็อกซาแบน

ยา/กลุ่มยาเหตุผล
กลุ่มยาสลายลิ่มเลือด, กลุ่มยาต้านเกล็ดเลือด, กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือดตัวอื่น, กลุ่มยา NSAIDs รวมทั้งยาแอสไพรินเพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออก
Ketoconazole, Itraconazole, Voriconazole, Posaconazole, Ritonavir, Tipranavir, Nelfinavir, Saquinavirเพิ่มความระดับยาอีด็อกซาแบนในเลือด
ยา Rifampicin, Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoinลดความระดับยาอีด็อกซาแบนในเลือด

ผลข้างเคียง ข้อควรระวัง และพิษของยา

ผลไม่พึงประสงค์ของยาอีด็อกซาแบนที่พบบ่อย คือ ภาวะแทรกซ้อนจากการตกเลือด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ผลข้างเคียงอื่นได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดท้อง คลื่นไส้ ค่าเอนไซม์ตับเพิ่มขึ้น ค่าบิลิรูบินเพิ่มขึ้น ผื่นคัน

หากได้รับยาอีด็อกซาแบนเกินขนาดและมีเลือดออกผิดปกติ ให้ใช้วิธีกดไว้ ให้ NSS พยุงความดัน ให้ fresh whole blood, fresh frozen plasma ถ้าซีดมาก กรณีที่เลือดออกมากอาจให้ 4-factor prothrombin complex concentrate (PCC) at 50 IU/kg, recombinant Factor VIIa, หรือ Factor II/IX/X concentration ช่วย

บรรณานุกรม

  1. Zachary A. Stacy, et al. 2016. "Edoxaban: A Comprehensive Review of the Pharmacology and Clinical Data for the Management of Atrial Fibrillation and Venous Thromboembolism." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Cardiol Ther. 2016;5(1):1–18. (23 ตุลาคม 2564).
  2. Eri Goto, et al. 2020. "Factor Xa inhibitors in clinical practice: Comparison of pharmacokinetic profiles." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Drug Metab Phar. 2020;35(1):151-159. (23 ตุลาคม 2564).
  3. ภญ.จิตชนก พัวพันสวัสดิ์ และ ภญ.ธนพร สุวรรณวัชรกูล. 2017. "การใช้ยา Non-vitamin K antagonist oral anticoagulants (NOACs) ในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองจากลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา โรงพยาบาลสิริโรจน์. (12 กันยายน 2564).
  4. วิระพล ภิมาลย์. 2017. "ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (12 สิงหาคม 2564).