ยาอีเซทิไมบ์ (Ezetimibe)

ยาอีเซทิไมบ์เป็นยาลดโคเลสเตอรอลที่เพิ่งเกิดในต้นศตวรรษที่ 21 โดยออกฤทธิ์ลดการดูดซึมของโคเลสเตอรอลในทางเดินอาหาร แต่ไม่ลดการดูดซึมของวิตามินหรือยาอื่นเหมือนกลุ่มเรซิน ยายังมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มสแตติน แต่เนื่องจากยังมีราคาแพง จึงแนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกที่สองหากยากลุ่มสแตตินยังไม่ได้ผล ยาอีเซทิไมบ์ไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย

ที่มาและการออกฤทธิ์:

ยาอีเซทิไมบ์ออกฤทธิ์ยับยั้งโปรตีนที่เป็นสารสื่อกลางสำคัญของการการดูดซึมโคเลสเตอรอลที่มีชื่อว่า Niemann-Pick C1-like 1 (NPC1L1) บนเซลล์เยื่อบุลำไส้เล็ก ทำให้โคเลสเตอรอลจากอาหารดูดซึมไม่ได้ อีเซทิไมบ์ยังมีผลยับยั้งการดูดซึมสเตอรอลที่ได้จากพืช (plant sterols) ด้วย ส่งผลให้ตับต้องดึงเอาโคเลสเตอรอลที่อยู่ในกระแสเลือดมาใช้ในกระบวนการการสร้างน้ำดีแทน ทำให้ระดับโคเลสเตอรอลและ LDL ในเลือดลดลง

ยาอีเซทิไมบ์ขณะดูดซึมจะรวมกับกลูโคโรไนด์ (glucoronide) ที่ผนังลำไส้เล็กอย่างรวดเร็ว เมื่อผ่านตับจะเกิดปฏิกิริยากลูคูโรนิเดชัน (glucuronidation) ได้สารเมตาบอไลต์คืออีเซทิไมบ์-กลูคูโรไนด์ ซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่าอีเซทิไมบ์ โดยระดับยาทั้งหมดในเลือดประกอบด้วยอีเซทิไมบ์ 10-20% และอีเซทิไมบ์-กลูคูโรไนด์ 80- 90% ทั้งคู่สามารถจับกับพลาสมาโปรตีนในเลือดได้มากกว่า 90% ทั้งอีเซทิไมบ์และอีเซทิไมบ์-กลูคูโรไนด์จะถูกหลั่งกลับเข้าสู่ลำไส้เล็กทางน้ำดีอีกครั้ง เกิดวงจรยับยั้งการดูดซึมโคเลสเตอรอลจากอาหารและโคเลสเตอรอลในน้ำดีจนยาถูกกำจัดออกอย่างช้า ๆ ทางอุจจาระ โดยมีค่าครึ่งชีวิตของการกำจัดยาประมาณ 22 ชั่วโมง จึงสามารถรับประทานยาได้เพียงวันละครั้ง

ยาอีเซทิไมบ์ไม่มีคุณสมบัติเหนี่ยวนำหรือยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP450 รวมทั้งไม่เป็น substrate ของเอนไซม์ CYP450 จึงลดความเสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาอีเซทิไมบ์กับยาอื่นที่ถูกเปลี่ยนแปลงโดยเอนไซม์ CYP450

การใช้ยาที่เหมาะสม

  1. ใช้เสริมฤทธิ์ยากลุ่มสแตตินหรือกลุ่มไฟเบรตเพื่อให้ได้ไขมันในเลือดตามเป้าในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
  2. ระดับความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดของไทยคำนวณได้ ที่นี่

    เป้าหมายของไขมันในเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลางและสูงเป็นดังภาพ เนื่องจากยากลุ่มสแตตินและกลุ่มไฟเสริมฤทธิ์กันทำให้ปวดกล้ามเนื้อง่ายขึ้น การใช้ยาสองกลุ่มนี้ร่วมกันจึงค่อนข้างอันตราย แพทย์มักเสริมยาอีเซทิไมบ์เข้าไปแทนหากระดับไขมันยังไม่ได้ตามเป้า

    ขนาดยาอีเซทิไมบ์คือ 10 mg/วัน รับประทานวันละครั้ง พร้อมอาหาร

    ในเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไปสามารถใช้ขนาด 10 mg/วัน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี

  3. ใช้รักษาภาวะโคเลสเตอรอลในเลือดสูงในผู้ที่ไม่สามารถใช้ยากลุ่มสแตตินหรือไฟเบรตได้
  4. นอกจากลดโคเลสเตอรอลและ LDL แล้ว อีเซทิไมบ์ยังสามารถลด Triglyceride และเพิ่ม HDL ได้เล็กน้อยด้วย แต่ประสิทธิภาพยังต่ำกว่ากลุ่มสแตตินและไฟเบรตมาก จึงไม่แนะนำให้เริ่มใช้เป็นยาเดี่ยว

ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง

ผลข้างเคียงของยาอีเซทิไมบ์พบน้อย ไม่รุนแรง และทักเกิดขึ้นชั่วคราว เช่น ไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องเสีย เจ็บหน้าอก วิงเวียน ปวดศีรษะ ปวดข้อ เหนื่อย ที่สำคัญไม่พบอาการข้างเคียงทางกล้ามเนื้อจากการใช้ยาอีเซทิไมบ์เดี่ยว ๆ และไม่พบว่าการใช้ยาอีเซทิไมบ์ 10 mg ร่วมกับยาซิมวาสแตติน 40 mg จะมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น ยกเว้นทำให้เอนไซม์ตับสูงขึ้นได้มากกว่าการใช้ยาซิมวาสแตติน 40 mg ตัวเดียว จึงแนะนำให้ลดขนาดของยากลุ่มสแตตินลงเมื่อระดับไขมันได้ตามเป้าแล้ว

ยาอีเซทิไมบ์ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีการทำงานของตับหรือไตบกพร่อง และไม่ควรใช้ร่วมกับยากลุ่มเรซิน เพราะออกฤทธิ์คล้ายกัน และยาเรซินจะทำให้ระดับยาอีเซทิไมบ์ในเลือดลดลงด้วย

ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยในหญิงมีครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร

ปฏิกิริยาระหว่างยา

การใช้ยาอีเซทิไมบ์ร่วมกับยากลุ่มไฟเบรตจะทำให้ระดับยาอีเซทิไมบ์ในเลือดเพิ่มขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องลดขนาดเพราะไม่ถึงขั้นเกิดพิษ

บรรณานุกรม

  1. Daniel Hammersley and Mark Signy. 2017. "Ezetimibe: an update on its clinical usefulness in specific patient groups." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Ther Adv Chronic Dis. 2017 Jan; 8(1): 4–11. (23 กันยายน 2561).
  2. Binh An P Phan, et. al. 2012. "Ezetimibe therapy: Mechanism of action and clinical update." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Vascular Health and Risk Management 2012:8 415–427. (23 กันยายน 2561).
  3. Robert A. Harrington, et. al. 2014. "IMPROVE-IT: Assessing Results and Its Implication on Clinical Practice." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape Education Cardiology Sept 9, 2014. (23 กันยายน 2561).
  4. "Ezetimibe." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Wikipedia. (23 กันยายน 2561).
  5. "Ezetimibe (Rx) ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Medscape. (23 กันยายน 2561).
  6. "Ezetimibe ." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา Drugs.com. (23 กันยายน 2561).