ยาเฟบูโซสแตท (Febuxostat)
เฟบูโซสแตทเป็นยาลดกรดยูริกในเลือดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Xanthine oxidase คล้ายยาอัลโลพูรินอล แต่โครงสร้างไม่ใช่ purine analogue จึงไม่รบกวนเอนไซม์ที่ใช้ในขบวนการสร้างและทำลาย purine และ pyrimidine อีกทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงเรื่องผื่นแพ้ยาขั้นรุนแรง แต่เพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจแทน[3] ปัจจุบันยาเฟบูโซสแตทยังมีราคาแพงมาก จึงยังไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
ที่มาและการออกฤทธิ์:
ในปีค.ศ. 2008 บริษัท Takeda สามารถสังเคราะห์ยาเฟบูโซสแตทที่มีโครงสร้างต่างไปจาก purine แต่สามารถยับยั้งเอนไซม์ Xanthine oxidase ได้อย่างเจาะจง จึงทำให้ Hypoxanthine และ Xanthine ไม่ถูกเปลี่ยนเป็นกรดยูริก แต่วนกลับไปใช้สร้าง DNA และ RNA ใหม่ ยาได้รับอนุมัติให้ใช้ลดกรดยูริกในโรคเกาต์และในภาวะ Tumor lysis syndrome แต่เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาในเด็ก จึงแนะนำให้ใช้ในผู้ที่อายุเกิน 18 ปี เท่านั้น
ยาเฟบูโซสแตทดูดซึมได้ดีโดยไม่เกี่ยวกับมื้ออาหาร ยาจับกับโปรตีนในเลือดสูงกว่าร้อยละ 80 ถูกเมตาบอไลต์ที่ตับและขับออกทั้งทางอุจจาระและปัสสาวะ ในผู้ที่ตับหรือไตบกพร่องเล็กน้อยถึงปานกลางไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยา เมื่อใช้ไปถึง 2 สัปดาห์ ค่าครึ่งชีวิตของยาจะนาน 15.8 ชั่วโมง จึงสามารถรับประทานได้วันละครั้ง
จากการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาอัลโลพูรินอลขนาด 300 mg วันละครั้ง กับยาเฟบูโซสแตท 80 mg วันละครั้ง พบว่ายาเฟบูโซสแตทลดระดับกรดยูริกในเลือดได้มากกว่า[4]
การใช้ยาที่เหมาะสม
** ไม่ควรใช้เฟบูโซสแตทลดกรดยูริกในเลือดที่สูงเกินเกณฑ์โดยที่ยังไม่มีอาการอะไร เพราะยาแพ้ง่ายและแพ้รุนแรง ควรต้องมีข้อบ่งใช้ข้อใดข้อหนึ่งข้างล่างนี้ด้วย
- ใช้ลดกรดยูริกในเลือดในผู้ที่เป็นโรคเกาต์
โรคเกาต์จะต้องมีเกณฑ์อย่างน้อย 2 ใน 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
- มีระดับกรดยูริกในเลือด > 7 mg/dL ในเพศชาย หรือ > 6 mg/dL ในเพศหญิง
- มีก้อนโทไฟที่ข้างข้อ
- พบผลึกของเกาต์ (monosodium urate crystals) ในน้ำไขข้อที่ปวดบวม หรือในก้อนโทไฟ
- มีประวัติปวดข้อ ข้อบวมฉับพลัน และหายใน 2 สัปดาห์
ให้เริ่มขนาด 40 mg วันละครั้ง จะรับประทานพร้อมหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ ติดตามระดับกรดยูริกในเลือดอีก 2-4 สัปดาห์ ก่อนปรับเพิ่มทีละ 40 mg จนกว่าระดับกรดยูริกจะเหลือ < 6 mg% หรือ < 5 mg% ในรายที่มีก้อนโทไฟแล้ว ขนาดสูงสุดไม่ควรเกิน 120 mg/วัน
หากมีไตเสื่อมระยะที่ 2-3 (CrCl 30-89 ml/min) ให้ใช้สูงสุดเพียง 80 mg วันละครั้ง หากไตเสื่อมระยะที่ 4-5 ให้ใช้ไม่เกิน 40 mg วันละครั้ง
หากมีตับบกพร่อง Child-Pugh class A-B ไม่ต้องปรับขนาดยา ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาใน Child-Pugh class C
เมื่อรับประทานไปนานกว่า 6 เดือน และคุมระดับกรดยูริกในเลือดได้ดี อาจลองหยุดยาแล้วติดตามระดับกรดยูริกในเลือดอีก 4-6 เดือนถัดไป หากยังคุมได้ดีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอีก
- ใช้ลดกรดยูริกในเลือดในผู้มีมะเร็งเม็ดเลือดและกำลังเตรียมรับยาเคมีบำบัด
ให้ใช้ขนาด 120 mg วันละครั้ง โดยเริ่ม 2 วันก่อนเริ่มยาเคมีบำบัด และรับประทานต่อเนื่อง 7 วันขึ้นไป ขึ้นกับระยะเวลาของการให้ยาเคมีบำบัดแต่ละรอบ
** ยังไม่มีการศึกษาการใช้ยาเฟบูโซสแตทในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในหญิงมีครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร และในผู้ที่มีตับบกพร่องรุนแรง หรือมีไตวายระยะสุดท้าย
ผลข้างเคียง พิษของยา และข้อควรระวัง
** ไม่แนะนำให้ใช้ยาเฟบูโซสแตทในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจล้มเหลว เพราะจากการศึกษาพบว่ามีอัตราตายจากโรคหัวใจสูงขึ้น
ผลข้างเคียงอื่นได้แก่ จำนวนเม็ดเลือดทุกชนิดลดลง (เพราะยากดไขกระดูก) TSH ในเลือดเพิ่มขึ้น (แต่ไม่มีผลต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์) ท้องร่วง คลื่นไส้ การทำงานของตับผิดปกติ ผื่นไม่รุนแรง ภาวะบวมน้ำ ภาวะเกาต์กำเริบเฉียบพลัน (เพราะเกิดการเคลื่อนที่ของผลึกในข้อออกมาในเลือด มักพบในช่วงเดือนแรก จากนั้นจะเกิดห่างไปเรื่อย ๆ)
ปฏิกิริยาระหว่างยา
** ไม่แนะนำให้ใช้ยาเฟบูโซสแตทร่วมกับยา Azathioprine, Mercaptopurine เพราะจะเพิ่มพิษในการกดไขกระดูก หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันให้ลดขนาดของยา Azathioprine, Mercaptopurine เหลือเพียง 25-33% ของขนาดปกติ
บรรณานุกรม
- "Febuxostat." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา NIH. (27 มกราคม 2565).
- Anthony J. Busti, et al. 2015. "The Differences in the Mechanisms of Action Between Allopurinol and Febuxostat." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา EBM Consult. (29 มกราคม 2565).
- "FDA adds Boxed Warning for increased risk of death with gout medicine Uloric (febuxostat)." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา FDA. (29 มกราคม 2565).
- Michael A. Becker, et al. 2005. "Febuxostat Compared with Allopurinol in Patients with Hyperuricemia and Gout." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา N Engl J Med 2005;353:2450-2461. (29 มกราคม 2565).
- "แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโรคเกาต์
พ.ศ. 2555." [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. (13 มกราคม 2565).